Friday, November 22Modern Manufacturing
×

เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC พลิกโฉมอุตสาหกรรมเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC คือแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เรามาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันตั้งแต่แรกเริ่มดีกว่าว่า EEC คืออะไร และปัจจุบันซึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 1 ไปยังระยะที่ 2 นั้นมีความคืบหน้าในด้านใดบ้าง

พื้นที่เป้าหมาย

เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากจังหวัดดังกล่าวมีความพร้อมในการเป็นเมืองท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ ของโลก มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ทั้งยังมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคล้ายกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตกของประเทศไทย

สำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับการพัฒนาและยกระดับจากโครงการพัฒนา EEC คือ

ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve)

  • อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-Generation Automotive)
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics)
  • การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง (Advance Agriculture and Biotechnology)
  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food processing)
  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Tourism)

สร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)

  • หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และชีวิตประจำวัน (Advance Robotics)
  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical)
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

อนาคตจุดศูนย์กลางด้านการลงทุนระดับโลก

เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ที่เรียกว่า ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC คือ การเป็นจุดศูนย์กลางในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการลงทุน เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 5 โรง อุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี 3 แห่ง โรงผลิตไฟฟ้า 20 โรง และนิคมอุตสาหกรรม 29 แห่ง ทั้งยังเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่มีความสะดวก สบาย ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 200 กม. ซึ่งเชื่อมผ่านเส้นทางสายหลัก ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

ศักยภาพสำคัญของพื้นที่ EEC คือ การเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งภูมิภาคอาเซียน เป็นประตูสู่เอเชีย สามารถเข้าถึงประชากรโลกได้กว่าครึ่งหนึ่ง โดย EEC คือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในเชิงงบประมาณ และขนาดพื้นที่ GDP ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาเซียน และอินเดีย มีมูลค่ารวมกว่า 1/3 ของ GDP โลก โดยในอนาคต EEC จะคือศูนย์กลางเชื่อมโยงกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และระเบียงตะวันออก-ตะวันตก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ศูนย์กลางการลงทุน

  • มีพื้นที่ตลาดขนาดใหญ่ และมีกำลังซื้อสูงจากอาเซียน จีน และอินเดีย
  • เศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพและมีความเจริญเติบโตสูง
  • เป็นผู้นำด้านการผลิตและศูนย์กลางการส่งออก
  • มีจุดเด่นหลากหลาย: ทั้งด้านการเกษตรกรรมสมัยใหม่ อุตสาหกรรม ไปจนถึงปิโตรเคมีขั้นสูง
  • มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน

งบประมาณการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
1.5 ล้านล้านบาท (43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2564) และในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ประเมินวงเงินลงทุนไว้อยู่ที่ 386,565 ล้านบาท

ในปัจจุบัน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC นั้นยังอยู่ในระยะดำเนินการที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท (43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกำลังอยู่ในช่วงเสนอพิจารณาอนุมัติวงเงินสำหรับระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) โดยประเมินวงเงินลงทุนไว้อยู่ที่ 386,565 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจำนวน 131 โครงการ

ประเมินงบฯ การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 1.5 ล้านล้านบาท (43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก

131 โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ระยะที่ 2 ด้วยงบประมาณ 3 แสนล้านบาท

เนื่องจากพื้นที่เป้าหมายของ EEC คือพื้นที่เดียวกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ไทย ‘EEC’ จึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างดี ขณะที่การขนส่งก็ออกแบบไว้ครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ด้วยงบฯ การลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในระยะที่ 1 นั้นได้มีความคืบหน้าของโครงการหลักของ EEC คือ

  1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งได้รับการอนุมัติโครงการไปตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการส่งมอบพื้นที่ให้กับทางเอกชนดำเนินการต่อ โดยช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท คาดว่าจะส่งมอบได้ประมาณต้นปีพ.ศ. 2565
  2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการส่งแผนแม่บทฉบับเบื้องต้นโครงการและรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาตรการป้องกันและแก้ไข ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้แก่ทางคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในปีพ.ศ. 2567 ตามเป้าหมาย
  3. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและการจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อเสนออนุมัติกับทาง สกพอ. ต่อไป

แผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของการพัฒนา ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ หรือ EEC

สัดส่วนการลงทุนเพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งอนาคต

สำหรับการลงทุนในระยะที่ 2 ของโครงการ EEC คือการเน้นการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ในระยะที่ 1 โดยจะลงทุนในระบบรางและขนส่งสาธารณะ เป็นสัดส่วนมากถึง 43% ของงบประมาณ รองลงมาเป็นโครงการทางถนน 29% มาตรการเพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง 19% โครงการสาธารณูปโภคหลัก 14% โครงการทางน้ำ 11% และโครงการทางอากาศ 8% ซึ่งใน 5 ปีถัดจากนี้ จะมีการก่อสร้างระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่หลักกับพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางเดี่ยวสายระยอง-จันทบุรี-ตราด รถไฟทางคู่จากคลองสิบเก้า-กบินทร์บุรี-คลองเล็ก สระบุรี-อรัญประเทศ ทางหลวงพิเศษสายใหม่จากชลบุรี-นครราชสีมา รวมไปถึงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ในท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นต้น

การพัฒนาเมืองสำคัญในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC

  • ฉะเชิงเทรา : พัฒนาเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีที่ทันสมัย สามารถรองรับการขยายตัวของประชากรในกรุงเทพฯ และ EEC
  • พัทยา : พัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สุขภาพและนันทนาการ ศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้านานาชาติชั้นนำของอาเซียน เมืองนวัตกรรมการท่องเที่ยว เมืองท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา และศูนย์การให้บริการด้านการแพทย์ระดับนานาชาติ (Medical Tourism)
  • อู่ตะเภา : พัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์แห่งอาเซียน
  • ระยอง : พัฒนาเป็นเมืองแห่งการศึกษาและวิทยาศาสตร์ เมืองนานาชาติที่มีธุรกิจทันสมัย

EEC กับการพัฒนาท่าเรือ ส่วนหนึ่งของ Eastern Sea Gateway

พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจ EEC จะกลายเป็นประตูตะวันออกสู่เอเชีย โดยทั้ง 3 ท่าเรือ ทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จะเป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Sea Gateway ซึ่งได้มีการประมูล PPP ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 Gateway to Asia และ PPP ท่าเรือมาบตาพุด ตลอดจนการก่อสร้าง Ferry และ Cruise ที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ

ปัจจุบัน การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในระยะที่ 2 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากการลงทุนในระยะที่ 1 มีโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ซึ่ง ณ ขณะนี้ได้ผู้ร่วมทุนแล้วทั้งสิ้น 3 โครงการ และยังมีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนกับอุตสาหกรรมภายในพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560-2563

นอกจากนี้แล้ว ทาง สกพอ. ยังได้สร้างความร่วมมือกับเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ กว่า 50 ท่าน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างการลงทุนระหว่างนานาประเทศกับเขตเศรษฐกิจ EEC อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5 G และกลุ่มสมาร์ตโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง

ตะวันออก เป็นเมืองแห่งอนาคต โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่นั้นจะมุ่งยกระดับเมือง ชุมชน คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สู่ระดับมาตรฐานสากล และการพัฒนาเมืองแห่งการศึกษานานาชาติ โดยมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ เป็นผู้นำในด้านสาธารณสุข โดยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาเมืองใหม่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ พร้อมทั้งขับเคลื่อนศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์ที่ทันสมัยในภูมิภาค และจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ทั้งในด้านสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม และการศึกษา

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ EEC โครงการต่างๆ

นอกจากนี้ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ยังแบ่งโครงการย่อยเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • โครงการ EECi ในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการ Vistec และใช้พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ปัจจุบันโครงการนี้มีความคืบหน้าตามแผนงานไปแล้วถึง 40% คาดว่าจะสามารถเปิดเมืองนวัตกรรมดังกล่าวได้ตามเป้าหมายในช่วงปลายปีพ.ศ. 2564 และสามารถดึงดูดนักลงทุนด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่
  • โครงการ EECd ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยเน้นเรื่องการวิจัยอวกาศและอุตสาหกรรมดิจิทัล พื้นที่โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเป็นดิจิทัลพาร์ค เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในภาคตะวันออก และเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการสื่อสารกลุ่ม CLMV รวมถึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเทศและต่างประเทศ (One Belt One Road) เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ และเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะรองรับ E-Commerce ให้กับกลุ่มภูมิภาค CLMV

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จะอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และยังมีอีกหลายโครงการที่ยังคงรอการอนุมัติเพื่อให้เป็นไปตามแผน หรือกำลังจะดำเนินการต่อไปในระยะที่ 2 แต่หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ภาครัฐก็จะสามารถนำเอาแนวความคิดและรูปแบบการพัฒนาดังกล่าวไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต


Source:

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924