Views: 2,687
ภายใต้ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง รวมถึงปัจจัยการเมืองที่ยังไม่ได้นิ่งสงบเสียทีเดียว ประกอบกับภาวะการลงทุนภายในประเทศ ตลอดจนนโยบายภาครัฐที่ได้วางรากฐานเพื่ออนาคตเศรษฐกิจไทย ทำให้เวทีการสัมมนา ‘Thailand’s Economic Outlook 2017: Towards Sustainability’ ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล NOW 26 มีสาระเศรษฐกิจที่เข้มข้น เจาะลึกมุมมองของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุน ที่ได้มาร่วมสะท้อนอนาคตเศรษฐกิจไทย ปี 2017
MODERN MANUFACTURING ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว พร้อมทั้งเก็บประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจมาตกผลึกเป็นรายงานพิเศษ ‘เดินหน้าเศรษฐกิจไทย 2017… สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ นำเสนอทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญความท้าทายร่วมกับประชาคมโลก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายๆ ด้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีความยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศในโลก
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่าแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งสำหรับเศรษฐกิจและสังคมไทย การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เป็นความท้าทายของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศในโลก เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน
“ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับต่ำ และผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี ประชาชนจะรู้สึกหวาดกลัวอนาคต และมองไม่ออกว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตของตนได้อย่างไร หรือจะสามารถยังชีพให้มั่นคงในอนาคตได้อย่างไร”
นอกจากนี้ โลกยังเผชิญกับปัญหาทางกายภาพที่สำคัญอีกหลายด้านที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อน การขยายตัวของประชากรโลกในกลุ่มชนชั้นกลางที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมือง การขาดแคลนน้ำสะอาด การลดพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร จนอาจทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ตลอดจนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างไม่ระมัดระวังจนนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศมากขึ้น และวนกลับมาซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนเป็นวงจรเสื่อมที่ไหลลงเรื่อย ๆ
สำหรับประเทศไทยนอกจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาของโลกร่วมกับประเทศอื่นๆ แล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเฉพาะอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการกระจายรายได้ และการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ปัญหาการลงทุนในระดับต่ำต่อเนื่อง ปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ตลอดจนปัญหาประสิทธิภาพของภาครัฐและการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ ‘เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเกินไป ต่อเนื่องนานเกินไป และมีคนจำนวนน้อยเกินไปที่ได้รับประโยชน์’ เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทยวันนี้ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าประเทศเกิดใหม่
ดร.วิรไท ยังได้กล่าวต่อไปว่า ภายใต้ปัญหาและความท้าทายของโลกที่จะรุนแรงและซับซ้อนขึ้น หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะตระหนักว่า หากไม่รีบปรับตัวโดยเร็วแล้ว การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในภายหลังจะยากขึ้นมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย
วงการวิชาการทั่วโลกกำลังค้นหาองค์ความรู้และตัวอย่างของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะนำมาใช้เป็นหลักคิดของการพัฒนาให้เกิดผลได้จริงในระดับต่างๆ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในวันนี้กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็จัดได้ว่ามีความมั่นคงมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยมีกันชน มีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรองรับแรงปะทะจากความผันผวนภายนอกได้ ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลมีฐานะการคลังที่ดี และกำลังเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจหลายเรื่องซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการยกระดับศักยภาพ และผลิตภาพของประเทศ
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจและสังคมไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ความไม่แน่นอน และความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกมาก จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ ‘เติบโตต่ำเกินไป ต่อเนื่องนานเกินไป และมีคนจำนวนน้อยเกินไปที่ได้รับประโยชน์’ นั่นเอง
หลักคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้จะเป็นแนวทางสำคัญที่ ‘ทำให้ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข’ และเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า ‘ถ้าทุกคนยึดมั่นว่า เราต้องช่วยกันและต้องพยายามที่จะปฏิบัติงานของตน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตด้วยความตั้งใจดี ด้วยความเอาใจใส่ดีในหน้าที่ของตน เชื่อได้ว่า ส่วนรวมจะอยู่ได้ อย่างมั่นคงและถาวรแน่’
คน คือ ความท้าทายของโมเดล Thailand 4.0
ความท้าทายของการเดินหน้าสู่โมเดล Thailand 4.0 คือ การที่ประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรและแรงงานที่อยู่ในกลุ่มวัยกลางคน อายุ 40-50 ปี ไปจนถึงอายุ 50-60 ปี เป็นสัดส่วน 40-50% รัฐบาลต้องมีกลุยทธ์การบริหารจัดการที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนให้คนกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ อาจด้วยการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การทำเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ฯลฯ ทำให้เขามีความสุขในการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง ส่วนกลุ่มคนที่เป็นครีม หรือกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ต้องพยายามผลักดันให้เขานำพาเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมเข้าสู่กระบวนการ 4.0 เป็นคนไทย 4.0 ได้จริงๆ ซึ่งทั้งสองกลไกนี้ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ดร.สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
|
ประเทศไทยกำลังเผชิญ 3 กับดักสำคัญ
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ 3 กับดักสำคัญ คือ กับดักที่ (1) กับดักประเทศระดับปานกลาง ซึ่งเป็นกับดักที่ World Bank ได้บอกกับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
กับดักที่ (2) กับดักของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทราบกันดีว่าในเรื่องของความเหลื่อมล้ำนั้น คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง เราไม่แก้ไม่ได้นะ เพราะว่ามันไม่ตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืนอย่างแน่นอน และความเหลื่อมล้ำนี่เองที่นำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา
กับดักที่ (3) กับดักของความไม่สมดุล โดยเฉพาะในสิ่งที่ได้เทใจมาตลอดในเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) แต่ทว่าความอยู่ดีมีสุขทางสังคม (Social Well Being) รวมถึงเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) การพัฒนาศักยภาพ ตลอดจน Human Wisdom ที่ขาดหายไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง
พื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
ตลอดช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เครื่องยนต์ที่สำคัญอย่างภาคการส่งออกนั้น ที่ผ่านมาก็ถือว่ายังไม่ดี ส่งผลในเรื่องของรายได้ โดยเฉพาะรายได้นอกภาคเกษตรซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็ขยับขึ้นช้ากว่าภาคบริการ ที่ได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้ดีมาก อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ซึ่งในแง่อัตราการเบิกจ่ายต่างๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมาสูงกว่าที่คาดไว้ จึงถือเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินไปได้ ประกอบกับมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่ออกมาช่วยประคองจุดที่เปราะบางในบางจุด เช่น เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยา ทำให้การบริโภคไม่ได้ทรุดลงไปมาก และค่อยๆ ขยับตัวดีขึ้น
ส่วนไตรมาสที่ 4 นั้น แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมของประเทศจะมีความโศกเศร้า แต่พื้นฐานของเศรษฐกิจนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนัก เนื่องจากตลาดปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว สะท้อนให้เห็นว่าตลาดมีเสถียรภาพดี ทำให้ทิศทางการฟื้นตัวมีความต่อเนื่อง
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่านนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
|
ถึงเวลา…เปลี่ยนเครื่องยนต์ตัวใหม่
มาถึงตรงนี้ ดร.สุวิทย์ ได้ตอกย้ำว่า… โมเดล Thailand 4.0 ไม่ใช่เรื่องใหม่! จริงๆ ประเทศไทยมีการพัฒนาตลอดเวลา หากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลำนนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นยุค ‘ความโชติช่วงชัชวาล’ หลังจากนั้นสงครามเย็นเริ่มคลายตัวลง ก็มาสู่ยุค ‘เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า’ ในสมัยของพลเอกชำติชำย ชุณหะวัณ ดังนั้น วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่นเดียวกันโลกก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย
สถานการณ์โลกไม่ค่อยดีนัก เพราะเป็นผลจากการเกิด Slow Growth แล้วก็ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2008 สมัยต้มยำกุ้ง จนกระทั่งถึงวันนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ที่สำคัญ คือ มีความมั่งคั่งที่กระจุก คือ บางประเทศเท่านั้นที่ได้ผลพวงจากการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประชาคมโลกโดยรวม เป็นที่มาที่ทำให้ประเทศไทยต้องคิดหาโมเดลขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ได้เริ่มใช้โมเดล 3.0 มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งเรียกได้ว่าทั้งปะผุ ซ่อมแซม แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ตัวใหม่ขึ้นมา
และนี่เองเป็นที่มาของการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าอย่างชัดเจน
3 กับดัก ปลดล็อกอย่างไร ?
ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวต่อไปว่า การจะปลดล็อกกับดักของประเทศ จำเป็นต้องใช้ 3 เครื่องยนต์ใหม่ เครื่องยนต์ตัวที่ (1) การสร้างความมั่งคั่ง ผ่านCompetitive Growth Engine เครื่องยนต์ตัวที่ (2) คือ ความมั่นคง เมื่อร่ำรวยขึ้นต้องร่ำรวยแบบกระจายขึ้น ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคง แต่เป็นความมั่นคงผ่าน Inclusive Growth Engine และ เครื่องยนต์สุดท้าย ก็คือ เรื่องความยั่งยืน ซึ่งหมายถึง Green Growth Engine นั่นเอง
จริงๆ แล้วแนวคิด Thailand 4.0 มาจากแนวคิดง่ายๆ ถ้าถามว่าประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากไปหรือไม่ ทำไมจึงต้องหันมามุ่งเน้นเรื่องของเศรษฐกิจภายใน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยที่ตัดขาดจากเวทีโลก เพราะการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ มีแก่นสำคัญ คือ ‘เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด เมื่อเกินต้องรู้จักปัน’ ซึ่งถือเป็นการถอดรหัสที่สำคัญ
‘คน’ ทรัพยากรสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนา 3 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ต้องสมดุลทั้ง 3 ด้าน ซึ่งรากฐานที่ลึกที่สุดของทั้ง 3 เสานี้ ก็คือ คน เพราะคนเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ จะพัฒนาคนอย่างไรให้มีแนวคิด มีกรอบแนวคิดให้พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน
สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้น ก็คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือ ความรู้และคุณธรรม ต้องเสริมสร้างความรู้ให้ ‘คน’ ให้มีความรู้จริง รู้รอบ และรู้ลึก เพราะความรู้เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ต้องปลูกฝังและสร้างให้กับ ‘คน’ เช่นเดียวกับการปลูกฝัง ‘คุณธรรม’ ต้องสร้างให้ ‘คน’ มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง อะไร คือ ความซื่อสัตย์ อะไร คือ ความเหมาะสม
เมื่อตระหนักถึงเช่นนี้แล้ว ก็จะสามารถช่วยกันสร้างสังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ แต่จะทำอย่างไรนั้น เริ่มลงมือทำด้วยตัวเองเลย น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้เลย ไม่ต้องรอคนอื่น
คุณสัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล
กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและสนับสนุนธุรกิจ ธนาคาร ยูโอบี (ไทย)
|
ตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้า มุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน
เมื่อกล่าวถึงความยั่งยืน องค์กรจะมองถึงความสมดุลระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง การจะขับเคลื่อนไปสู่สังคม หรือเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
ทุกท่านต้องมีวัฒนธรรมขององค์กรแน่นอน มีวัฒนธรรมของบริษัท ของพนักงาน ถ้าเป็นองค์กร ก็คือ พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อม สังคม ถ้าเป็นตัวพนักงาน ก็คือ เป็นคนดี มีความรู้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
ที่ผ่านมาในอดีต วิสัยทัศน์ขององค์กร คือ ‘Green Energy Excellent’ มุ่งทำธุรกิจสีเขียว พร้อมกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่จากวันนี้ต่อเนื่องไปอีก 5 ปีข้างหน้า บมจ. บางจากฯ จะมีวิสัยทัศน์ ‘Evolving Greenovation ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน ปรับเปลี่ยน Core Valve ต้องออกไปทำธุรกิจข้างนอกมากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘คน’ คือ ปัจจัยสำคัญจะทำอย่างไรให้คนในองค์กร นอกจากจะดีแล้ว ยังต้องมองถึงความยั่งยืน Contribute ให้คนอื่นได้ มีความสามารถที่จะ Initiate สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ด้วย
คุณยอดพจน์ วงศ์รักมิตร
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ. บางจากปิโตรเลีย
|
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจไปข้างหน้าจะต้องเป็นการพัฒนาที่สมดุล เป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพที่สามารถสร้างสมดุลได้ ทั้ง Economic Wealth, Social Wealth, Well Being and Environmental Wellness และ Human Wisdom ไปพร้อมๆ กัน
“ถ้านำ 17 เป้าหมายของ Sustainable Development Goals มาทาบ จะเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นปรัชญาในเชิงยุทธศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ และพร้อมกันนั้นก็เป็นปรัชญาที่สามารถปฏิบัติได้ ไม่ใช่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว” ดร.สุวิทย์ กล่าวในที่สุด
ความต้องการสินเชื่อเอกชนลดลงแต่คาดปี 2017 ภาครัฐจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่
ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกโครงการมากมายเพื่อที่จะเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ แต่หลายคนก็สงสัยว่าเม็ดเงินการลงทุนของภาคเอกชน ทำไมไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ถ้าพิจารณาตัวเลขจากมุมของสินเชื่อจากปีที่แล้ว จะพบว่าสินเชื่อ โดยรวมมีการเติบโตประมาณ 4% เทียบกับปลายปี 2557 ขณะที่ปี 2559 ตลอดระยะเวลา 8 เดือนแรก เทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมาไม่มีการเติบโตเลย ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชน โดยรวมมีความต้องการใช้สินเชื่อในการขยายกิจการหรือดำเนินกิจการลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลายๆ องค์กรต้องทบทวนแผนการลงทุนแผนการใช้เงิน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดีในปีนี้ เช่น ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวหรือธุรกิจที่ต้องลงทุนอย่างโทรคมนาคมก็มีความชัดเจนว่ามีความต้องการใช้สินเชื่อค่อนข้างมาก ซึ่งนอกเหนือจากสองธุรกิจดังกล่าวก็แทบจะมีการใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนเลย ก็เรียกว่าเป็นภาวะดีกระจุกตัว เป็นบางส่วน
ทั้งนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการลงทุนขนาดเล็ก เนื่องจากภาครัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างบ่อย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผน แต่เม็ดเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงจะเป็นเม็ดเงินขนาดเล็ก ที่ได้รับการอนุมัติเบิกจ่ายเพื่อซ่อม-สร้างถนน หรือบริหารจัดการจัดการน้ำ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าภาครัฐน่าจะมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในปี 2017
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ
ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์
|
คาดกลางปี 2017 การซื้อขายวัสดุก่อสร้างจะเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น
หากพิจารณาตามแผนการดำเนินงานของรัฐบาลที่ต้องการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐต้องทุ่มเม็ดเงินเพิ่มเข้ามา แม้ว่าในปีนี้จะเห็นว่ามีการประมูลโครงการก่อสร้างหลายโครงการแล้วแต่ก็ยังคงต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้อย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากงานก่อสร้างของภาครัฐแล้ว โครงการก่อสร้างอื่นๆ ของภาคเอกชนก็เช่นกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นเรื่องของ Demand และ Supply ยังคงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์นั้นก็ต้องจับตาเฝ้าระวังภาวะการเกิด Over Supply ด้วยเช่นกัน
ขณะนี้สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง หลายๆ โครงการถือเป็นช่วงของการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2017 ซึ่งจะได้เห็นการซื้อขายอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างอย่างชัดเจนมากขึ้นราวกลางปี 2017 นั่นเอง
คุณสังวรณ์ ลิปตพัลลภ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
|
มองโอกาสมุ่งเน้น Productivity ลงทุนเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ในปีนี้เป็นปีที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนมากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมา แต่ขณะเดียวกันปริมาณการใช้น้ำมันก็เพิ่มมากขึ้นในทุกภาคส่วนที่เห็นชัดเจนก็คือ แก๊สโซลีนเพิ่มขึ้นมากถึง 11-12% ดีเซลโตขึ้น 3-4% โดยในส่วนของแก๊สโซลีนนั้นน่าจะเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ยานยนต์เพิ่มขึ้น คนเริ่มใช้รถยนต์เองมากขึ้น ใช้ Mass Transit น้อยลง ส่วนดีเซลนั้นสะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรม ภาวะที่เกิดขึ้นแม้จะมีผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะนักลงทุน แต่ในทางกลับกันนั้นถือเป็นประโยชน์ของผู้บริโภคโดยตรง
ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ปตท. ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากการดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวและดำเนินการอย่างระมัดระวัง หลายโครงการมีความจำเป็นต้อง Suspend เพราะไม่สามารถลงทุนได้ในภาวะเช่นนี้ ขณะนี้หลายๆ โครงการของปตท. กำลังเผชิญภาวะลด ละ เลื่อน ซึ่งก็ยอมรับว่าหลายโครงการก็ยกเลิกไปเลย โดยเฉพาะโครงการประเภท Unconventional Oil
อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นโอกาสที่จะมุ่งเน้นเรื่องของ Productivity เป็นโอกาสที่จะหันกลับมาพิจารณาเรื่องการลงทุนเพื่อลดต้นทุนการผลิตเป็นโอกาสในการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ หรือ Model Business ใหม่ๆ
คุณศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจ
รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ปตท.
|
กลุ่มธนาคารโลก จับตาการปรับตัวของจีนต่อภาวะเศรษฐกิจโลก เพื่อประเมินผลกระทบต่อผู้ประกอการไทย
ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจในปี 2017 ที่ส่งสัญญาณอยู่ในขณะนี้ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่สามารถทำได้มากกว่านี้ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐทำได้ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ อีกทั้งโครงการก่อสร้างถนนจากบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ไป จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการเบิกจ่ายและเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว นี่สะท้อนว่าประเทศไทยในแง่ของการดำเนินนโยบายนั้นวางแผนได้ค่อนข้างดี แต่เวลาจะลงมือทำหรือ Implement ค่อนข้างช้า ดังนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องหาอะไรมาเป็นตัวจุดประกาย หรือเปลี่ยนมุมมองให้คนเข้าใจว่าเราสามารถลงทุนขนาดใหญ่แบบ Transformative คือ เปลี่ยนเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก Enterprise Survey ยังพบว่าต้นทุนการคมนาคมนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัย หรือเป็นอุปสรรคประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับบริษัทเล็กๆ อย่าง SMEs และระดับกลางด้วย ดังนั้น การลงทุน Infrastructure จึงเป็นปัจจัยบวกในระยะยาว
ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ต้องจับตาว่าจีนจะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ จากเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออก ไปสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศและภาคบริการ ซึ่งหากมีแนวโน้มค่อนข้างดี ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้การส่งออกของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย
|
กำจัดจุดอ่อนระบบการศึกษา ก่อนจะถึง Thailand 4.0
เมื่อกล่าวถึง Thailand 4.0 ที่เป็นนโยบายของภาครัฐที่ต่างก็ขานรับกันไปแล้วนั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี แต่สิ่งที่ยังเป็นกังวล ก็คือ จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่จะต้องเป็น 4.0 เพราะยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงการให้คำมั่นสัญญา แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดผล ก็คือ คน และกระบวนการ
สิ่งหนึ่งที่จะต้องพัฒนามากๆ และทำให้เป็น 4.0 ก็คือ การศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าการศึกษาของบ้านเรานั้น ที่ตั้งเป้าจะเป็น Thailand 4.0 แต่หันกลับมามองระบบการศึกษาบ้านเรายัง 0.4 อยู่เลย จุดอ่อนของประเทศไทย คือ การศึกษา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าหากการศึกษายังไม่พัฒนา ยังไม่ได้รับการยกระดับ การจะก้าวสู่ Thailand 4.0 ก็เป็นไปได้ยาก
คุณฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์
ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
|
EXECUTIVE SUMMARY
We couldn’t deny that the competitive from global communities including Thailand are facing many important turning points. The world economics are facing ‘Too Low, For Too Long and Benefiting Too Few’ condition or it just a continuous low growth rate of world economy for a long time and too few people that got benefits from. The recovery rate of world economic is so fragile and couldn’t improve the most citizen’s life quality in a long term.
Belong to the problem and challenge of the world that will be more complex and aggressive, many countries are focusing on sustainable development to use as core idea to take action possibility as many levels as it could. For now, Thailand’s economic condition are recovering gradually but we could say that Thailand has more stability than many industrial or new born economic country.
For Thailand, to unlock the trap that we are struggling, we have to use entirely new 3 engines that is competitive growth engine, inclusive growth engine and green growth engine.