Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

เวียดนาม CLMVT Stronger Together

ท่านเชื่อไหมว่า คนไทยส่วนใหญ่ได้ลืมไปแล้วว่า ประชาคมอาเซียนได้มีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ท่ามกลางความไม่ค่อยพร้อมของหลายๆ ประเทศ จวบจนวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศก็คงรู้สึกเหมือนปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้น การรวมตัวของอาเซียน คือ การนับหนึ่งในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม กลุ่มอาเซียนมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ยังพัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยกัน เช่น ประเทศทางตะวันตกที่พัฒนาแล้วเคยสนับสนุนงบประมาณประเทศด้านพลังงานกับกลุ่ม TIP (Thailand, Indonesia, Philippines) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ทางนักลงทุนฝั่งตะวันตกมองว่าน่าลงทุนสูง แต่มีความเสี่ยงด้านการเมือง

เวียดนาม CLMVT Stronger Together

หลังการรวมตัวของอาเซียนเราจะได้ยินคำว่ากลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) หรือ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อาจเป็นกลุ่มที่เพิ่งจะเริ่มต้นเร่งการพัฒนาทุกด้าน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และอาจจะมีการพัฒนาน้อยกว่า ในส่วนของประเทศไทยที่อยู่ในกลางกลุ่ม CLMV และมีการพัฒนามาก่อน นี่คงเป็นเหตุผลที่เรามีการจัดสัมมนา การประชุมระดับภูมิภาค CLMV และ T อยู่บ่อยครั้ง ในฉบับนี้จึงขอนำท่านเยือนประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ในกลุ่มดังกล่าว และเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นคู่แข่งด้านส่งออกกับสินค้าของไทยในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ครั้งนี้ได้ร่วมไปกับคณะของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยท่านเอกอัคราชทูตมานพชัย วงศ์ภักดี ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลด้านพลังงานของประเทศเวียดนามและนำคณะพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนพลังงานทดแทน อาทิ กรมพลังงาน การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) และหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน (Foreign Investment Agency: FIA)

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีพื้นที่ประมาณ 331,689 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 92 ล้านคน (พ.ศ. 2558) มีเมืองหลวง คือ กรุงฮานอย และเมืองสำคัญ ได้แก่ นครโฮจิมินห์ (ศูนย์กลางการค้าและเมืองท่าที่สำคัญทางใต้) เมืองไฮฟอง (เป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคเหนือและเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก) และเมืองดานัง (เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยว) และมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่หลากหลาย มีแม่น้ำไหลผ่านหุบเขาและที่ราบมากกว่า 2,800 สาย อัตราการเจริญเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6 และ GDP ต่อหัวสูงกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ภาคพลังงานเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตผลผลิตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ซึ่งมีผลผลิตด้านถ่านหินสูงกว่า 40 ล้านตัน น้ำมันดิบ 17 ล้านตัน ก๊าซ 10,600 ล้านคิวบิกเมตร และปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 37,000 เมกะวัตต์ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,580 กิโลวัตต์ เมื่อ พ.ศ. 2559 ประเทศเวียดนามสามารถส่งออกพลังงานและเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ ได้สูงถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่นำเข้าประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การใช้พลังงานในประเทศเวียดนามขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 56.7 ล้านTOE ในปี พ.ศ. 2555 เป็น 70 ล้านTOE ในปี พ.ศ. 2558 ในขณะที่การขายไฟฟ้าก็สูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10-11 ต่อปี ยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติเวียดนาม (Socioeconomic Development Plans: SEDP) ฉบับปี พ.ศ. 2559-2563 และวิสัยทัศน์ประเทศที่ว่า ‘มุ่งสู่ความมั่งคั่ง มีความคิดสร้างสรรค์ ความเท่าเทียม และความเป็นประชาธิปไตย: Toward Prosperity, Creativity, Equity, and Democracy’ ในปี พ.ศ. 2578 ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของเวียดนามมาจากความร้อนโดยใช้ถ่านหิน ซึ่งทางรัฐบาลได้พยายามส่งเสริมแหล่งที่มาของพลังงานทดแทนอื่นๆ อาทิ พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศเวียดนาม เนื่องจากได้ยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อ พ.ศ. 2558 โครงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ ของประเทศเวียดนาม

 พลังงาน  กำลังการผลิต (MW)  สัดส่วน
 พลังงานน้ำ (Hydro Power)  14,636 38%
 ถ่านหิน (Coal)  12,903 33.5%
 ก๊าซ (Gas)  7,998 20.7%
 ดีเซล และพลังงานน้ำขนาดเล็ก (Diesel & Small Hydro)  2,006  5.1%
 น้ำมัน (Fuel)  875 2.3%
 พลังงานทดแทน (Renewable Energy) 135  0.4%

ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของเวียดนาม
มีเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

  1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนร้อยละ 5 ภายในปี พ.ศ. 2563 และร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2593
  2. ลดอัตราการทำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับภาคพลังงาน โดยลดการนำเข้าถ่านหินประมาณ 40 ล้านตัน และลดการนำเข้าน้ำมัน 3.7 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2563
  3. เพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานทดแทน ประมาณ 25 ล้าน TOE (พ.ศ. 2558) เป็น 37 ล้าน TOE ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 138 ล้านTOE ภายในปี พ.ศ. 2593 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 44 ภายในปี พ.ศ. 2593
  4. เพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้า จากเดิม 58,000 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง เป็น 101,000 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 452,000 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ภายในปี พ.ศ. 2593
  5. เพิ่มพื้นที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้สูงถึง 8 ล้านตารางเมตร และสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 1.1 ล้านTOE ในปี พ.ศ. 2563
  6. เพิ่มสัดส่วนเทคโนโลยีด้านชีวมวล จากเดิม 4 ล้านคิวบิกเมตร เป็น 8 ล้านคิวบิกเมตร ในปี พ.ศ. 2563 และ 100 ล้านคิวบิกเมตร ในปี พ.ศ. 2593 เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวภาครัฐได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานต่างๆ และนโยบายทางภาษีที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ดังนี้

นโยบายสนับสนุน การซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน

นโยบายทางภาษี

  1. ภาษีนำเข้า โครงการพัฒนาและใช้พลังงานทดแทนจะได้รับสิทธิงดเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเพื่อความมั่นคงของโครงการ สินค้านำเข้าในกลุ่มวัตถุดิบ เครื่องมือ และสินค้าที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศสำหรับสนับสนุนโครงการการลงทุนตามที่กำหนดตามกฎหมายภาษีนำเข้าและส่งออก
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล การงดเว้นหรือลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคล สำหรับโครงการพัฒนาและการใช้พลังงานทดแทนจะเป็นไปตามโครงการในสาขาการลงทุนที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยภาษี

เราลองมาฟังข้อมูลจากผู้ร่วมคณะ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานสนับสนุนด้านการลงทุน (BOI) เงินลงทุน (EXIM BANK) และภาคเอกชนผู้ที่ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม ดังนี้

คุณอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุลคุณอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล
ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ 1
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
อีเมล: [email protected]

ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะอัตราการเติบโตของ GDP ช่วงปี พ.ศ. 2554-2558 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.0 และในปี พ.ศ. 2559 เติบโตร้อยละ 6.21 โดยในส่วนภาคพลังงานมีการเติบโตที่โดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการใช้พลังงานที่ขยายตัวขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10-11 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงประเทศเวียดนามกำลังจะเปลี่ยนสถานะของผู้ส่งออกพลังงานเป็นผู้นำเข้าพลังงานเพื่อรองรับเสถียรภาพของความเพียงพอต่อความต้องการใช้ และรองรับภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในประเทศ

ในด้านพลังงานทดแทน รัฐบาลเวียดนามกำลังให้ความสำคัญจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานดังกล่าว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนในเวียดนามระดับที่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่ผ่านมาของ EXIM Bank ที่ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ไม่เพียงแต่การสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ EXIM Bank ยังมีบริการรับประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อป้องกันความเสียหายจากความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่เข้าไปลงทุน โดย EXIM Bank สามารถให้ความคุ้มครองสูงสุดเท่ากับเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ EXIM Bank ยินดีให้คำปรึกษาโดยสามารถติดต่อเพื่อทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ 1 โทรศัพท์ : 0-2271-3700 ต่อ 1301-1303

ปริเยศ พิริยะมาสกุลคุณปริเยศ พิริยะมาสกุล
ผู้อำนวยการสำนักบริหารการลงทุน 4
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
อีเมล: [email protected]

ประเทศเวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุน เนื่องจากเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ต้นทุนในการประกอบธุรกิจในเวียดนามสามารถแข่งขันได้ และมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

ในปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน และตั้งเป้าให้มีการผลิตสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลออกยุทธศาสตร์เฉพาะในการพัฒนาพลังงานทดแทนมุ่งเน้นการผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมเข้าไปขยายการลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือนักลงทุนไทยในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้บริการข้อมูลออนไลน์ของประเทศเวียดนามครอบคลุมเรื่องพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน อุตสาหกรรมเป้าหมาย ลู่ทางการลงทุน ต้นทุนในการทำธุรกิจ และขั้นตอนการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการข้อมูลเชิงลึกโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานฯ และโดยที่ปรึกษาด้านการลงทุน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศเวียดนาม ให้คำปรึกษาในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนการลงทุนในเวียดนามภายในระยะเวลา 1-2 ปี

พนม ควรสถาพรคุณพนม ควรสถาพร
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน)
อีเมล: [email protected]

ประเทศเวียดนามถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปประกอบธุรกิจ จึงควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้อง อาทิ

  1. การเมือง เริ่มเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยให้ความสำคัญกับพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเป็นหลัก
  2. เศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานสูงขึ้นตาม
  3. สังคม คนไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของคนเวียดนาม ช่วยส่งผลให้สินค้านำเข้าจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ และนำไปสู่การขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยต่อไป
  4. เทคโนโลยี ยังต้องอาศัยการพึ่งพา และนำเข้าเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน
  5. สิ่งแวดล้อม เวียดนามมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศกลุ่ม ASEAN ตั้งอยู่แนวมรสุมจึงเหมาะสำหรับภาคป่าไม้และภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อีกทั้ง ตั้งอยู่ในเส้นทางเดินเรือ มีชายฝั่งติดทะเลยาวกว่า 3,000 กม. จึงมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ทางทะเล
  6. กฎหมาย การอนุญาตเพื่อลงทุน ภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องมีส่วนร่วมประกอบการพิจารณา และมีการออกกฎหมายใหม่เป็นระยะๆ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และยังเปิดโอกาสให้สร้างความร่วมมือ และสิทธิประโยชน์เป็นกรณีๆ ไป

ประเทศเวียดนามอยู่ในทิศทางที่มีการเติบโตทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น พลังงานหลักมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ปิโตรเลียม และถ่านหิน แต่ปัจจุบันถ่านหินเริ่มมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งถ่านหินในประเทศอยู่ลึกมากขึ้นและถ่านหินแหล่งใหม่ๆ เริ่มอยู่ไกลจากแหล่งอุตสาหกรรมออกไป อนาคตจึงมีแนวโน้มนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ด้านพลังงานทดแทน นโยบายภาครัฐยังให้ความสำคัญกับพลังงานชีวมวลเป็นลำดับรองๆ ประกอบกับประเทศเวียดนามพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และเกษตรกรรม เชื้อเพลิงชีวมวลจึงมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ จึงเป็นโอกาสในการส่งออกชีวมวล เช่น ไม้สับ (Eucalyptus Woodchip) สำหรับอุตสาหกรรมเยื่อ และไม้สับ (Mix Woodchip) และขี้กบอัดแท่ง (Wood Pellet) สำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น

CLMVT Stronger Together เป็นแนวนโยบายที่ดีของรัฐบาลไทยที่จะเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกัน เป็นแนวคิดแบบทหารในสนามรบที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในวันนี้ประเทศไทยอาจเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาค CLMVT และได้เปรียบดุลการค้า การขายจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องรับมือในการสร้างเมืองภายในให้เข้มแข็ง มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยอาจไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาเหนือประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CLMVT ก็เป็นได้

EXECUTIVE SUMMARY

Socialist Republic of Vietnam is one of CLMV. Energy usage of Vietnam has been expanding rapidly from 56.7 million TOE in 2012 to 70 million TOE in 2016 while electricity sale raised by 10 – 11% per year. Today, generated electricity of Vietnam came from coal. The government is trying to promote the other renewable energy such as solar, wind and hydro which are the new issues for Vietnam because they canceled nuclear plant project in 2015. The renewable energy power plant project mostly invested by foreign investors. The CLMVT policy in ‘Stronger Togeher’ which Thai government aims to growth and string together as the concept on the war field to leave no man behind. Thailand may look like a big brother for CLMVT today and has more advantages for trading with neighboring country, but Thailand must be strong from inside otherwise we couldn’t stand among developed country from CLMVT.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924