ทีมนักวิจัยจาก National University of Singapore (NUS) ได้พัฒนาวิธีการดึงเอาความชื้นจากอากาศมาสร้างเป็นน้ำสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
รู้หรือไม่ว่าโลกนี้มีน้ำสะอาดที่เหมาะสำหรับการอุปโภคบริโภคสำหรับมนุษย์อยู่เพียง 0.5% เท่านั้น และในปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดและปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาสภาพแวดล้อมและจำนวนประชากรมนุษย์ที่มีจำนวนมหาศาล
การแก้ปัญหาน้ำสะอาดนั้นกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์หรือนวัตกรทั่วโลกให้ความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนน้ำเค็มให้เป็นน้ำสะอาดได้ด้วยแผงโซลาร์ของ Tesla และล่าสุดทีมนักวิจัยจาก NUS ประสบความสำเร็จในการดึงเอาน้ำออกมาจากอากาศโดยไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งพลังงานภายนอก
ทีมนักวิจัยได้สร้าง Aerogel ที่มีน้ำหนักเบาอย่างมากซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฟองน้ำ แต่มันไม่จำเป็นต้องบีบเพื่อรีดน้ำที่เก็บไว้ออกมา และทีเด็ด คือ การที่มันไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ในการสกัดน้ำที่ดูดซับไว้ออกมา โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่โพลีเมอร์ที่เป็นโมเลกุลยาว ๆ ซึ่งสร้างขึ้นมาเป็น Aerogel เจ้าโพลีเมอร์นี้นั้นมีโครงสร้างทางเคมีที่ดึงดูดน้ำเช่นเดียวกับคุณสมบัติในการป้องกันน้ำ ซึ่งเจ้า Aerogel อัจฉริยะนั้นสามารถดึงดูดโมเลกุลน้ำจากอากาศ และควบแน่นโมเลกุลเหล่านี้ให้กลายเป็นของเหลวได้ ซึ่งทีมวิจัยได้ตั้งเป้าให้เทคโยโลยีนี้สอดคล้องกับมาตรฐานน้ำดื่มของ WHO
จากตัวอย่างการทดลองพบว่าในวันที่อากาศชื้นในเมืองสิงคโปร์ Aerogel น้ำหนัก 1 กิโลกรัมสามารถสร้างน้ำได้ถึง 17 ลิตรในวันเดียว หากเป็นวันที่อากาศสดใสและมีแสงแดดมากพอ Aerogel สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น สามารถเปลี่ยน 95% ของไอน้ำที่อยู่ในตัวของมันให้กลายเป็นของเหลวได้
ที่มา:
Interestingengineering.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ก.อุตฯ เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำเสีย 15 ลำน้ำ