Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กระทรวงพลังงาน พัฒนาเทคโนโลยี Energy Storage รองรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

การขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่านโยบายและมาตรการต่างๆ ได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน โดยยังคงมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆควบคู่ไปกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโตและก้าวหน้า

กระทรวงพลังงาน พัฒนาเทคโนโลยี Energy Storage รองรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคพลังงานของประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable Energy) จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงพลังงานจะได้เตรียมความพร้อม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตยิ่งขึ้น

จากการศึกษาระบบกักเก็บพลังงานที่ปัจจุบันมีความน่าสนใจ และคาดว่าจะเป็นต้นแบบการศึกษาให้แก่ประเทศไทยได้ คือ ระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งได้ถูกพัฒนาและติดตั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับกิจการพลังงานหรือเรกูเลเตอร์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สั่งการให้เซาท์เทอร์น แคลิฟอร์เนีย เอดิสัน (Southern California Edison) ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ติดตั้งระบบดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้น ระบบกักเก็บไฟฟ้าขนาดใหญ่นี้ สามารถเก็บไฟฟ้าได้สูงถึง 260 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ในส่วนของสถานีหลัก เก็บไฟฟ้าได้สูงถึง 100 เมกะวัตต์ และในส่วนของสถานีย่อยๆ อีกประมาณ 160 เมกะวัตต์ เป็นต้น

คุณสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่าแนวทางการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ 765 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดทำโครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะเป็นงบประมาณเพื่อปูทางสนับสนนุให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่สนใจ สร้างงานวิจัยเพื่อต่อยอดการศึกษาในเรื่องดังกล่าวต่อไปในอนาคต

พัฒนาเทคโนโลยี Energy Storageการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในด้านต่างๆ

โดยนำร่องการใช้งาน ด้านความมั่นคง เช่น การมีไฟฟ้าและแสงสว่างที่เพียงพอในกิจกรรมภาคสนามสำหรับทหาร ตำรวจ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติ

ด้านนิคมอุตสาหกรรม เช่น การลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ในเวลากลางวัน

ด้านพลังงานทดแทน เพื่อให้มีความเสถียรของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ด้านพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าใช้ เช่น เกาะ ดอย ที่มีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้งานชีวิตประจำวันขึ้นพื้นฐานได้ เช่น แสงสว่าง

ด้านยานยนต์ เช่น การมีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งาน ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว โดยได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ

สำหรับเป้าหมายของโครงการดังกล่าวมุ่งให้เกิดผลงานประยุกต์ใช้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2560 เพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาด กระตุ้นการลงทุนของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ดีกว่า หรือเทียบเท่าต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการพัฒนาเทคโนโลยีและทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับประเทศไทย หากในอนาคตนโยบายการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงานของภาครัฐมีความรูปธรรม จะช่วยให้ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ลดปัญหาอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันจากไฟฟ้าดับ หรือระบบสายส่งไฟฟ้าต้นทาง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924