จากบทความก่อนหน้านี้ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง Bitcoin ซึ่งเป็นเงินสกุลดิจิทัลและเป็นเงินสกุลใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจโลกในอนาคต โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ต้องมีการทำธุรกรรมด้านการเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพราะเงินสกุลนี้มีจุดเด่นอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย (Hack ยากมาก) ความรวดเร็วในการทำธุรกรรม และประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากไม่ต้องผ่านธนาคารหรือองค์กรการเงินใดๆ รวมไปถึงกำลังได้รับความเชื่อถือ (Trust) จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ
อันที่จริงไม่ใช่แต่เฉพาะเงินสกุล Bitcoin (BTC) เท่านั้น แต่ยังมีเงินดิจิทัลสกุลอื่นที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Litecoin (LTC) Ethereum (ETH) Zcash (ZEC) Dash หรือ Ripple (XRP) เงินสกุลดิจิทัลเหล่านี้เรียกกัน รวมๆ ว่า Crypto Currency ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่สกุลเงินดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนสกุลเงินเดิม หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจจะใช้ควบคู่ไปกับเงินสกุลเดิมได้ ด้วยเหตุนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสกุลเงินดิจิทัลจะส่งผลกระทบต่อระบบธุรกิจทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในฝั่งธุรกิจด้านอุตสาหกรรมก็ควรที่จะต้องทำความรู้จักกับเงินสกุลนี้ให้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะได้เตรียมการรับมือและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้
อย่างไรก็ตาม เงินสกุลดิจิทัลจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้เลยหากไม่มีเทคโนโลยี Blockchain (บล็อกเชน) เป็นแกนหลักหรืออาจเรียกได้ว่า Blockchain เป็นแพลตฟอร์มที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสกุลเงินดิจิทัลก็คงจะไม่ผิดนัก ที่ผ่านมาเทคโนโลยี Blockchain ถูกนำมาใช้สร้าง Blockchain Application และ Blockchain Solution อยู่มากมาย โดยเป้าหมายหลักก็คือเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการส่งข้อมูลดิจิทัลในการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต โดยในทางเทคนิคนั้น Blockchain คือรูปแบบของการเก็บข้อมูลดิจิทัล (Data Structure) ที่มีคุณสมบัติในการส่งข้อมูล (Digital Transaction) ไปยังทุกๆ Node ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้ใช้คอมพิวเตอร์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ทำงานอัตโนมัติในเครือข่าย โดยข้อมูลที่ถูกส่งไปนั้นมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากมีการเข้ารหัสป้องกัน ซึ่งคนที่มีกุญแจถอดรหัส (Private Key) เท่านั้นที่เปิดได้
ทั้งนี้ เครือข่ายที่เชื่อมโยงกันระหว่าง Node ต่างๆ จะมีลักษณะเชื่อมโยงกันไปมาโดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Centralized) แต่อย่างใด ทุก Node จะรับส่งข้อมูลถึงกันอย่างเท่าเทียม โดยจะส่งข้อมูลในลักษณะจุดต่อจุด (Peer to Peer) เมื่อ Node ใดได้รับข้อมูลและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะถูกส่งต่อไปอัปเดตยัง Node อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าในการอัปเดตข้อมูลในแต่ละ Node นั้นจำเป็นจะต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเสียก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอัปเดตได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นการอัปเดตข้อมูลในแต่ละ Node อาจไม่ได้เป็นไปโดยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคือเมื่อ Node ใดอัปเดตข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ก่อนก็จะแจ้งไปยัง Node อื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายใกล้เคียงกันได้รับทราบและทำการตรวจสอบความถูกต้องเพื่ออัปเดตต่อไป ในกรณีที่ข้อมูลที่ถูกส่งไปไม่ถูกต้องหรือข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นจากความพยายามของผู้ไม่ประสงค์ดีหรือ Hacker ที่ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน Node ใดๆ ของเครือข่าย Node อื่นๆ ก็จะรับรู้และทำการ Reject ข้อมูลนั้นออกไปจากระบบโดยทันที ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญข้อแรกของเทคโนโลยี Blockchain ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้อย่างปลอดภัยและนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือ (Trust) อีกด้วย
อย่างที่ได้เรียนไปตั้งแต่ต้นว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้น ช่วยให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อมูลหาคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือองค์กรกลางใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากมีรูปแบบในการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายกันแบบจุดต่อจุด (Peer to Peer) นั่นเอง การที่ผู้รับผู้ส่งข้อมูลสื่อสารกันได้โดยตรงนั้นถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดเวลาในการสื่อสารแล้วยังลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมากอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การโอนเงินผ่านตัวกลางที่เป็นธนาคารหรือองค์กรการเงินแบบปกติจะต้องมีค่าธรรมเนียมทุกครั้ง หากในแต่ละวันมีการโอนบ่อยครั้ง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผิดจากการบริการโอนเงินดิจิทัลผ่านระบบบริการที่มีเทคโนโลยี Blockchain เป็นแพลตฟอร์ม ซึ่งนอกจากจะได้รับการตรวจสอบความถูกต้องปลอดภัยจาก Node ที่ได้รับความน่าเชื่อถือแล้ว ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายก็ยังน้อยลงกว่าการโอนเงินจากธนาคารหรือองค์กรการงานที่เป็นตัวกลางอย่างมาก
แม้เทคโนโลยี Blockchain จะถูกนำมาใช้เป็นแพลตฟอร์มทางด้านการเงินการธนาคาร (Fintech) ได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ด้วยคุณลักษณะเด่นในแง่ของความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัยความรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เทคโนโลยี Blockchain จึงถูกนำไปใช้เป็นแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการข้อมูลอื่นๆ ด้วย เช่น การนำ Blockchain มาเป็นแพลตฟอร์มสหรับบริการหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารกสิกรไทย https://goo.gl/XcpAob การนำมาใช้ในการจัดการข้อมูลสำมะโนประชากรของรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา https://goo.gl/6XGbrL หรือการใช้บริหารจัดการข้อมูลสินค้าที่ขายผ่าน E-Commerce https://goo.gl/jPMVXQ เป็นต้น
EXECUTIVE SUMMARY
Blockchain is a format of Data Structure that has can transmit Digital transaction to every Node either computer user or automated computers in network. Transmitted data with Blockchain technology shall have high safety since it is completely encoded, which means only a person who has Private key shall be able to open it up.
Blockchain technology shall efficiently be used for banking and financial platform as called Fintech. With its outstanding features in term of reliability, safety, speed, and cost saving, Blockchain technology is also used as the platform for other data managements such as using Blockchain as the platform for bank guarantee service by Kasikorn Thai Bank https://goo.gl/XcpAob, using Blockchain to manage census data of Illinois State, the United Stated of America https://goo.gl/6XGbrL, or using Blockchain to manage product data selling via E-Commerce https://goo.gl/jPMVXQ, etc.