Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

Énergies Renouvelables en France มาชอปปิงเทคโนโลยีที่ฝรั่งเศสกันเถอะ

ทันทีที่กระทรวงพลังงานประกาศเดินหน้า Energy Storage หรือ การกักเก็บพลังงาน ทั้งงบประมาณ นโยบาย มาตรการ และ การขานรับจากภาคธุรกิจต่างก็มุ่งตรงมาที่ Energy Storage อย่างไม่ต้องนัดหมาย อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นพลังงานทดแทนไทย 4.0 เริ่มต้นที่นี่ นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบ FIRM และแบบ HYBRID (การใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 1 ชนิด)

รวมทั้ง งบประมาณการวิจัยพัฒนาสำหรับภาครัฐก้อนโต ส่วนภาคเอกชนโดยแผนกโปรโมซาลงส์ (Promosalons) หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย (Franco-Thai Chamber of Commerce) จับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยกทีมผู้บริหารบินลัดฟ้าไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อตามหาสุดยอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน ในงาน Pollutec 2016 ณ เมืองลียง ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอันยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ ของทวีปยุโรป

france

ประเทศฝรั่งเศสมีประชากรราว 64.4 ล้านคน มีพื้นที่ 643,801 ตารางเมตร GDP 29,400 ยูโร อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.2% และมีอัตราการว่างงานถึง 10.3% สำหรับไฮไลท์ของการดูงานในครั้งนี้ต้องยกให้

  1. บริษัท Atawey (ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไฮโดรเจน)
  2. สถาบันวิจัยด้านพลังงาน INES
  3. การจัดคลัสเตอร์พลังงาน Tenerrdis

 

atawayบริษัท Atawey
(ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไฮโดรเจน)
www.atawey.com

บริษัท Atawey ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหาพลังงานและ Hydrogen Charging Station ทั้งในส่วนของการสำรองพลังงานและการกำเนิดพลังงานมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ซึ่งสามารถกักเก็บพลังงานได้เป็นวัน (ระยะสั้น) ด้วยแบตเตอรี่ และเป็นปี (ระยะยาว) ด้วย Hydrogen Chain จึงได้รับรางวัลธุรกิจนวัตกรรมสีเขียวในแคว้นโรน-แอลป์ เมื่อปี ค.ศ. 2013

ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไฮโดรเจน

เทคโนโลยีนี้ประกอบด้วย TWO-PHASE OPERATION : 1- High Energy Production ระบบจะกักเก็บพลังงานทดแทนทั้งหมดในแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่เต็มระบบจะเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินให้อยู่ในรูปของไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า และจะกักเก็บพลังงานไว้อย่างปลอดภัยในความดันต่ำได้ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถกักเก็บพลังงานได้เป็นเวลาหลายเดือน 2- Low Energy Production คือ ช่วงที่มีความต้องการใช้พลังงานมากที่สุด ซึ่งทรัพยากรที่ใช้กำเนิดพลังงานมีปริมาณน้อยที่สุด พลังงานจะมีการเรียกคืนมาใช้ในรูปแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) จึงทำให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ด้วยกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 0.5 – 50 กิโลวัตต์ สำหรับพลังงาน 1-30 MWh ต่อปี นอกจากนี้ คณะยังได้ทดลองขับจักรยานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย ตู้กักเก็บพลังงานด้วยไฮโดรเจนนี้สามารถชาร์จได้ทั้งรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน และรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ รวมทั้งรถจักรยานไฮโดรเจนซึ่งทางบริษัทได้คิดค้นขึ้นมา

INESสถาบันวิจัยด้านพลังงาน INES
The National Solar Energy Institute (INES)

สถาบันพลังงานแสงอาทิตย์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานด้านวิจัยพัฒนานวัตกรรมและฝึกอบรมที่เกี่ยวกับแสงอาทิตย์ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีนักวิจัยและช่างเทคนิคกว่า 400 คน บนพื้นที่กว่า 22,000 ตารางเมตร โจทย์การวิจัยเน้นไปในด้านของโซลาร์ PV โซลาร์ Thermal และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคาร

สถาบันพลังงานแสงอาทิตย์แห่งชาต INES

Tenerrdisการจัดคลัสเตอร์พลังงาน Tenerrdis

คลัสเตอร์พลังงาน Tenerrdis Energy Cluster เป็นคลัสเตอร์ที่สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ที่เกิดขึ้นในแคว้นโรน-แอลป์ ให้สามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วยการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนาจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทในเครือข่ายจะอยู่ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน (Value Chain) ซึ่งนอกจากจะสร้างผู้เชี่ยวชาญแล้วยังสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 170 บริษัท โดย 58% เป็นบริษัทขนาดเอสเอ็มอี และมีโครงการที่ให้การสนับสนุนไปแล้วกว่า 234 โครงการ

Tenerrdis

ในส่วนของงานแสดงสินค้า Pollutec ที่เราได้เห็นความล้ำหน้าของเทคโนโลยีจากฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งในปีนี้ผู้จัดงานได้เลือกประเทศเวียดนามเป็น Country of Honor และได้จัดงาน ASEAN Day โดยเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศในอาเซียนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ไฮไลท์อีกอย่างนั่นคือ การเข้าชมเขตเชิงนิเวศ Confluence (ก็องฟรียอง) พื้นที่เดิมเป็นทะเลทราย และแหล่งเสื่อมโทรม  พื้นที่เกือบหนึ่งล้านตารางเมตรให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงานและภูมิทัศน์อันสวยงาม โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น เฟสแรก (พ.ศ. 2551- 2561) พื้นที่ 400,000 ตร.ม. เฟสที่ 2 (พ.ศ. 2555 – 2568) พื้นที่ 420,000 ตร.ม. พื้นที่ที่เหลือจะเป็นพื้นที่บริเวณสถานี Perrache โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนา (Public Under Development Fund) 10%, กองทุนเพื่อสาธารณูปโภค (Public Under Facilities Fund) 25% และจากเอกชน (Private Fund) 65% ด้วยแนวคิด “City for All” เป้าหมายเพื่อลดปริมาณคาร์บอน (Zero extra carbon emission) และเป็น Smart Community โดยจะรักษาระดับคาร์บอนที่ปล่อยในปี ค.ศ. 2020 ให้ใกล้เคียงกับเมื่อปีค.ศ. 2000 โดยอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยได้รับการออกแบบให้มีความสูงต่างกันเพื่อได้รับแสงจากภายนอก และมีพื้นที่โล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะสร้างงานกว่า 25,000 ตำแหน่ง และลงทุนในเฟสแรกไปแล้วกว่า12,000 ล้านบาท

Pollutec

นอกจากนี้ยังได้ทดลองนั่งรถ NAVYA ARMA รถรับ-ส่งไร้คนขับ (Intelligent Driverless Electric Shuttle) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ท่าน และสามารถขับด้วยความเร็วสูงสุด 45 กม./ชั่วโมง พัฒนาโดยบริษัท KEOLIS โดยรถดังกล่าวมีระบบเซ็นเซอร์ 3D ซึ่งช่วยในการหลบสิ่งกีดขวาง  ระบบ GPS ในการนำทางและระบบคำนวณระยะทางเพื่อกำหนดจุดจอดรถ และกล้องเพื่อคำนวณตำแหน่งและข้อมูลบนถนน อาทิ ป้ายบอกทางและสัญญาณไฟ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการหยุดรถ

รถโดยสารไร้คนขับ
รถโดยสารไร้คนขับ

หลากหลายความเห็น
จากผู้บริหารด้านพลังงานทดแทนที่ร่วมคณะในครั้งนี้

คุณสุวัฒน์ กมลพนัสคุณสุวัฒน์ กมลพนัส
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
อีเมล์: [email protected]

“การคาดการณ์ (Predictable) หน่วยผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์ solar farmที่ INES สถาบันวิจัยด้าน Energy Efficiency และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยศึกษาการคาดการณ์ผลผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มด้วยการใช้ Big Data คำนวณล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลในการสั่งให้โรงไฟฟ้าอื่นๆ เช่น น้ำ หรือ ก๊าซ สามารถเพิ่มหรือลดโหลดล่วงหน้าได้โดยมีวิธีที่ใช้ประกอบกันหลายอย่าง ได้แก่

  1. การทำ Integration ของ solar farm หลายๆ แห่งเข้าด้วยกันเพื่อลดความผันผวนจากผลผลิตที่เกิดจากมีเมฆ หรือฝนบดบัง ด้วยเหตุนี้การมี solar farm อยู่ห่างๆ กัน ในระยะ 5-10 กม. หลายๆ แห่งทำให้โอกาสที่เมฆบังแสงพร้อมกันน้อย ผลผลิตรวมจากหลายๆ ฟาร์ม จะมีความเบี่ยงเบน(Variation) น้อยลง
  2. การทำนายระยะสั้น (Short Term Prediction) ในช่วงเวลาเป็นนาที โดยใช้ระบบ Image analyzer ของกล้องที่จับภาพบนท้องฟ้า เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของเมฆ แบบ Real-time ทำให้ทราบล่วงหน้าว่าโซลาร์ฟาร์มที่ใดจะมีผลผลิตลดลงจากเมฆหรือฝน
  3. การทำนายระยะกลาง (Medium Term Prediction) ในช่วงเวลาเป็นชั่วโมงถึงวัน โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและการพยากรณ์อากาศที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดเมฆหรือฝนในส่วนใด ทำให้ทราบล่วงหน้าว่า Solar Farm ที่ใดจะมีผลผลิตลดลงจากเมฆ หรือฝนในระดับชั่วโมงหรือวันได้
  4. การทำนายระยะยาว (Long Term Prediction) ในช่วงเวลาเป็นเดือน โดยใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศที่เป็นฤดู และข้อมูลสถิติจากปีที่ผ่านมา สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าในแต่ละเดือนของปี จะมีผลผลิตรวมเฉลี่ยประมาณเท่าไร

ข้อมูลทั้งหมด คือ Big Data ที่ส่งเข้ามาในระบบที่จะทำการประมวลผล และทำนายผลผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มได้อย่างแม่นยำเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่นมาชดเชย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่จะมีการพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมากในอนาคต”

คุณณรงค์ชัย วิสูตรชัยคุณณรงค์ชัย วิสูตรชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายรัฐสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์
บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)
อีเมล์: [email protected]

“เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนมีการพัฒนาไปอย่างมาก เราพูดถึงการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานหรือ Energy Storage ที่ได้พัฒนาปรับปรุงมาอย่างมาก และช่วยเพิ่มความมั่นคงในด้านการจัดส่งพลังงานได้เป็นอย่างดี

นอกจากระบบกักเก็บพลังงานแล้ว ยังมีนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนอีกหลากหลายที่น่าสนใจ เช่น การได้ไปชมการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบไฟฟ้า (Off-Grid) หรือใช้ในระบบการคมนาคมขนส่ง (Mobility) เราเคยได้ยินมาในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจนมาบ้างพอสมควร แต่เมื่อได้ไปเห็นการพัฒนาที่ทาง Atawey ได้ดำเนินการอยู่ ทำให้เห็นถึงการนำเอานวัตกรรมด้านพลังงานไปใช้ในชีวิตจริง และเป็นทางเลือกของพลังงานทดแทนอีกด้านหนึ่ง

โดยทางบริษัทฯ ได้พัฒนาระบบ Hydrogen Recharging Station ซึ่งเป็นสถานีเติมไฮโดรเจนโดยใช้ระบบ Water Electrolysis ในขนาดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และสถานีเติมไฮโดรเจนนี้ ได้พัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถชาร์จได้ทั้งแบตเตอรี่ และไฮโดรเจน ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ในระบบผลิตไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้าจากระบบสายส่งไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือระบบคมนาคมทางรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ยังคงต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตของทั้ง Charging Station และยานพาหนะที่นำมาใช้กับพลังงานประเภทนี้ รวมถึงต้องตอบโจทย์ข้อกังวลในด้านความปลอดภัยของการเก็บไฮโดรเจนที่มีแรงดันสูง (ซึ่งผู้พัฒนาได้บอกว่าระบบนี้มีความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว) ผมเชื่อว่าในอนาคตคงมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และหากสามารถทำให้ต้นทุนต่ำลง และมีความปลอดภัยสูงมากขึ้น และน่าจะทำให้เทคโนโลยีเป็นคู่แข่งและทางเลือกทางด้านพลังงานทดแทนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาระบบ Energy Storage อื่นๆ ”

คุณคมกฤช ตันตระวาณิชย์คุณคมกฤช ตันตระวาณิชย์
ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน
อีเมล์: [email protected]

“ฝรั่งเศสดูจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านพลังงานและระบบโครงข่ายพลังงานโดยมีการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้ว ปัจจุบันจึงเน้นไปที่การใช้พลังงานทดแทนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยานยนต์โดยการแปรรูปไฟฟ้าเป็นไฮโดรเจน การออกแบบระบบการจัดการสาธารณูปโภคในเมืองให้สอดคล้องกับการผลิตและการใช้พลังงาน การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน อันจะนำไปสู่ Smart Energy City

ในระยะเวลาอันใกล้ ประเทศไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สมบูรณ์เท่าฝรั่งเศส จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ความพร้อมและความคุ้มค่าก่อนที่จะนำระบบต่างๆ มาประยุกต์ใช้ โดยจะต้องมีการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค ทั้งในด้านการผลิตและการใช้พลังงานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด”

ต่อไปนี้ประเทศฝรั่งเศสคงไม่ใช่แค่เมืองน้ำหอม ไวน์รสดี และสินค้าฟุ่มเฟือยที่แพงลิบลิ่ว  แต่ฝรั่งเศสจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้าให้กับคนไทยได้เลือกช้อปเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนอีกด้วย ซึ่งหวังว่าราคาไม่แพงเหมือนสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง สำหรับประเทศไทยภาครัฐได้ทุ่มงบประมาณมากมายให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาและวิจัย  อย่างน้อยที่ก็สุดจะได้ช่วยให้ความรู้นักช้อปเทคโนโลยีเลือกของดีมาใช้ในเมืองไทยและเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคเอกชนก่อนตัดสินใจลงทุน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924