‘พลังงานทดแทน’ ยังเป็นกลุ่มธุรกิจเนื้อหอมที่มาแรงต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นว่าภาพรวมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศไทยนั้นมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในภาคเอกชนที่มีเม็ดเงินการลงทุนหมุนเวียนอยู่ในภาคธุรกิจจำนวนมหาศาล สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ การเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากภาครัฐที่ต้องการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ภายในปี 2579 โดยเมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558-2579 (PDP 2015) ที่ระบุให้ประเทศไทยต้องมีการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าประมาณ 19,684.40 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ ‘พลังงานชีวมวล’
ดาวรุ่งมาแรง ยังเติบโตได้ในระยะยาว
ข้อมูลที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มพลังงานที่มีแนวโน้มการผลิตเข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด ได้แก่ พลังงานชีวมวล รองลงมา คือ พลังงานแสงอาทิตย์และขยะ ส่วนพลังงานลมนั้นยังถือว่าห่างไกลเป้าหมายมากพอสมควร
สำหรับพลังงานชีวมวล ถือเป็นพลังงานทดแทนในกลุ่มแรกๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเข้าใกล้เป้าหมายค่อนข้างเร็วกว่าประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะต่อไป โอกาสด้านการลงทุนในพลังงานประเภทนี้ น่าจะเหมาะสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจการเกษตรที่มีวัตถุดิบอยู่แล้ว เช่น โรงงานน้ำมันปาล์ม โรงงานน้ำตาล โรงไม้ยาง โรงสี ฯลฯ ต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในธุรกิจของตนเอง เพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าและสามารถขายไฟส่วนที่เหลือบางส่วนคืนกลับให้ กฟผ. ในรูปของการขายไฟแบบผู้ผลิตไฟรายเล็กและรายเล็กมาก (SPP และ VSPP) มากกว่าที่จะเป็นการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่ได้มี By Product หรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มชีวมวลที่ค่อนข้างมีศักยภาพที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้ในระยะต่อไป ได้แก่ ประเภทอ้อย (เนื่องจากภาครัฐเตรียมที่จะผลักดันและ พัฒนาผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น) ในขณะที่ชีวมวลแกลบอาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องจับตา ภายหลังจากที่ภาครัฐกำลังหารือเกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังลง เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำและจูงใจให้หันไปปลูกพืชอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงแกลบเพื่อการผลิตไฟฟ้าในระยะข้างหน้า
ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ฉายแววได้ดีในต่างแดน
สถานการณ์การลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทยตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่าสามารถเติบโตต่อไปได้ โดยคาดว่าอาจจะเห็นภาพการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่มีการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นโครงการนำร่องและส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (จำนวน 100 เมกะวัตต์) ซึ่งน่าจะเอื้อต่อผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตจำหน่าย ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างที่จะได้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจเพิ่มมากขึ้นจากตัวโครงการที่ผ่านการคัดเลือกและพร้อมจะดำเนินการ
นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีแนวโน้มขยายการเติบโตทางธุรกิจไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มหันมาเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย (ญี่ปุ่นและอาเซียนที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ได้ปริมาณมาก) เนื่องจากการมองหาตลาดต่างประเทศนั้นเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น
กำลังการผลิต ‘พลังงานขยะ’ ยังห่างไกล
พลังงานทดแทนอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องจับตา คือ ‘พลังงานขยะ’ เนื่องจากมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตในปัจจุบันยังอยู่ห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบกับปัญหาขยะล้นเมืองที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไขเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากตัวโครงการพลังงานขยะที่ได้รับการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) ในช่วงปี 2559-2561 คิดเป็นมูลค่าลงทุนราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องอาจจะได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี พลังงานขยะยังมีข้อจำกัดในการจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะต้องใช้ขยะที่มีศักยภาพถึง 100 ตัน/วัน ซึ่งแหล่งขยะในประเทศไทยที่มีอยู่มีปริมาณขยะไม่เพียงพอ อีกทั้ง คุณภาพของการคัดแยกขยะก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจึงต้องมีความเหมาะสม และคุ้มค่าในการลงทุน หากเลือกใช้ไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษในอากาศ และท้ายที่สุดจะต้องได้รับความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคประชาชนร่วมด้วยจึงจะสามารถทำการเสนอขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ได้
‘พลังงานลม’ ยังต้องพึ่งพากลไกการส่งเสริมจากภาครัฐ
แม้จะมีโอกาสสร้างรายได้ทางอ้อมจากคาร์บอนเครดิต
สำหรับ ‘พลังงานลม’ แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการ นักลงทุนจะยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่ด้วยศักยภาพในการผลิต เชื่อว่าในอนาคตผู้ประกอบการ นักลงทุนจะหันมาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น โดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมจะต้องมีเงินลงทุนเบื้องต้นสูงทั้งยังต้องมองหาทำเลศักยภาพที่มีปริมาณลมมากพอ ซึ่งจะมีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่มีกำลังลมเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ และส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ของไทย ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายทางธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมถึงภาครัฐที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนต่อการลงทุนที่จะได้รับในอัตราที่สูงเพียงพอที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ผ่านกลไกการส่งเสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ราคารับซื้อในอัตราที่จูงใจ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การให้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือความร่วมมือจากองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนทางธุรกิจที่จะได้รับจากการลงทุนในกลุ่มพลังงานเหล่านี้ จะพบว่า นอกจากรายได้ทางตรงที่จะได้รับจากการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าฯ แล้ว ยังสามารถมีรายได้ทางอ้อมจากการขายคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM : Clean Development Mechanism) ได้อีกด้วย
จับตาธุรกิจ SME ที่ได้อานิสงส์จากสายการผลิต
จากการที่ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ หันมาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับ SME ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิต (Value Chain) ในธุรกิจประเภทนี้ได้ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสจะเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจพลังงานทดแทน
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มไม่เร่งตัวสูงแต่ภาพรวมของธุรกิจพลังงานทดแทนในปีนี้ ยังพอมีโอกาสเติบโตได้จากแรงหนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คาดเม็ดเงินลงทุนสะพัดมากถึง 5.35 แสนล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้ประมาณการว่า มูลค่าการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2559-2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1.1-1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รองลงมา คือ พลังงานลม ชีวมวล และขยะ ตามลำดับ ส่วนในระยะถัดไปจนถึงปี 2579 หรือสิ้นสุดแผน PDP 2015 (ปี 2562-2579) คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึง 5.35 แสนล้านบาท
ประเภทของ พลังงานทดแทน |
การลงทุ่นช่วงปี 2559 – 2561 |
เป้าหมายที่เหลือตามแผน PDP 2015 (ปี 2562 – 2579) |
||
MW | มูลค่า (ล้านบาท) | MW | มูลค่า (ล้านบาท) | |
พลังงานลม | 969 . 000 | 41,000 – 58,000 | 1,799 . 100 | 108,000 |
พลังงานแสงอาทิตย์** | 1,000 . 000 | 42,000 – 60,000 | 3,580 . 419 | 215,000 |
ชีวมวล | 291 . 749 | 13,000 – 19,000 | 2,551 . 651 | 166,000 |
ขยะ | 112 . 892 | 12,000 – 17,000 | 305 . 428 | 46,000 |
รวม | 2,373 . 641 | 110,000 – 154,000 | 8,236 . 598 | 535,000 |
จะเห็นได้ว่าพลังงานทดแทนยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ในสายงานที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพลังงานทดแทนให้สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีการติดตามข่าวสารด้านการลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นความคืบหน้าของโครงการหรือมาตรการต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมไปถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อเตรียมกับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจของตน
นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่จะเอื้อให้ธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานทดแทน
EXECUTIVE SUMMARY
Kasikorn Research Center mentioned the energy sector that could generated energy close to the goal is biomass for the first and the next are solar and waste. Wind energy still far from the goal naturally. Kasikorn estimated the investment in alternative energy between 2016 – 2018 should be around 110 – 150 billion baht which the most invested sector is solar and the latter are wind, biomass and waste.
For the next phase until 2036 or the end of PDP 2015 project (2018 – 2036), estimated that the capital flow in alternative energy for generated electricity should be around 535 billion baht.