Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

อุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทยมีแนวโน้มเติบโตถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือ 1.6 ล้านล้านบาท) จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ซิสโก้ และ บ. เอ.ที. เคียร์เน่ (A.T. Kearney) เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าอุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทยคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์(หรือ 1.6 ล้านล้านบาท) ในทศวรรษหน้าจากการปรับใช้เทคโนโลยียุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution หรือ 4IR) 

รายงานการศึกษาดังกล่าว มีชื่อว่า “เร่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอาเซียน: แผนปฏิบัติการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต (Accelerating 4IR in ASEAN:  An Action Plan for Manufacturers)” ระบุว่า การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากผลผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 – 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือ 1 – 1.3 ล้านล้านบาท) และการขยายช่องทางรายได้อื่นๆด้วยไลน์สินค้าใหม่ๆ และการปรับปรุงคุณภาพสินค้า โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้หากภาคการผลิตปรับใช้เทคโนโลยี 4IR โดยภาพรวมของสถานการณ์ 4IR ที่เกิดขึ้นในไทยมีข้อสังเกตุที่น่าจับตา ดังนี้

  • การปรับใช้เทคโนโลยียุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในประเทศไทยจะสร้างผลผลิตถึง 3.5 – 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือ 1 – 1.3 ล้านล้านบาท)
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะถูกขับเคลื่อนด้วย 5 เทคโนโลยีหลัก: IoT, AI, การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing), เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่
  • อย่างไรก็ตามการเร่งปรับใช้เทคโนโลยียังคงช้า และไม่มีความต่อเนื่อ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีจุดเด่นที่ระบบอีโคซิสเต็มส์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อบุคลากรและเครื่องจักรเข้าด้วยกัน โดยอาศัย 5 เทคโนโลยีหลักที่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในห่วงโซ่มูลค่าด้านการผลิต  เทคโนโลยีที่ว่านี้ ได้แก่ IoT, AI, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตในอาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) รวมถึงประเทศไทย ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล โดยมีรูปแบบการดำเนินงานที่ยังล้าสมัย และการปรับใช้เทคโนโลยี 4IR ยังมีความช้าและไม่ต่อเนื่อง จาก 5 สาเหตุหลักดังต่อไปนี้

  1. แรงงานยังมีราคาถูก: ค่าจ้างแรงงานในโรงงานของประเทศต่างๆ ในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์)ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเป็นอุปสรรคต่อการปรับใช้เทคโนโลยี 4IR แม้กระทั่งในบริษัทระดับโลกหลายบริษัทที่มีการดำเนินงานในภูมิภาคนี้
  2. ยังไม่มีความต้องการของลูกค้าในตอนนี้: ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันยังไม่ได้สร้างแรงผลักดันให้แก่ผู้ผลิตในการสร้างกระบวนการผลิตที่คล่องตัวและไร้รอยต่อ
  3. ไม่สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญ: การเข้าถึงบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีทักษะยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญสำหรับภาคการผลิต เพราะบุคลากรเหล่านั้นมีค่าจ้างที่สูงเกินไปสำหรับผู้ผลิตหลายราย 
  4. อีโคซิสเต็มส์ของซัพพลายเออร์มีความซับซ้อนและแยกออกเป็นส่วนๆ: ภาคการผลิตมักไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการในสภาพแวดล้อมของซัพพลายเออร์ 4IR ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
  5. เป้าหมายทางธุรกิจเป็นแบบระยะสั้นและไม่ชัดเจน: การจัดซื้อและติดตั้งเทคโนโลยีใหม่อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จึงเป็นเรื่องยากที่ภาคการผลิตจะสามารถระบุเเป้าหมายทางธุรกิจที่เหมาะสม

นาย นาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมภาคการผลิตเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 21 ของจีดีพีปีงบประมาณ 2561 ของภูมิภาค อุตสาหกรรมการผลิตเป็นที่รู้กันดีว่ามีผลกระทบสูงสุด โดยมีการคาดการณ์ว่าทุกหนึ่งดอลลาร์ที่ใช้ในภาคการผลิตนั้น จะมีการเพิ่มมูลค่าอีก 1.81 ดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสำหรับการจ้างพนักงาน และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีก 4 งาน ดังนั้นการเร่งปรับใช้เทคโนโลยี 4IR จะช่วยให้ภูมิภาคอาเซียนรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งปัจจุบันขึ้นอยู่กับกับค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ และทำให้ภาคธุรกิจนี้ยังคงเติบโต และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

นาย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและอินโดจีนของซิสโก้ กล่าวว่า “เป็นที่แน่นอนว่าภาคการผลิตของไทยจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยี 4IR แต่ความท้าทายที่สำคัญก็คือ จะต้องค้นหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อเร่งการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ควรพิจารณา ได้แก่ โอกาสระยะสั้นทางด้าน 4IR ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับบริษัท, ผู้ผลิตสามารถปรับใช้โซลูชั่นอย่างยั่งยืนและเหมาะสมได้อย่างไร และจะสามารถจัดการกับปัญหาการดำเนินงานที่หยุดชะงักเพื่อรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจได้อย่างไร”

โดยรายงานฉบับนี้แนะนำแผนปฏิบัติการ 6 ข้อ ที่จะรองรับการพัฒนาด้าน 4IR สำหรับภาคการผลิตของไทย ดังนี้

  • มุ่งเน้นปัญหาสำคัญ: ระบุปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข 
  • ระบุการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม: ไม่ตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โซลูชั่นที่ไม่เหมาะสม และฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น แต่ให้ศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาและกรณีการใช้งาน 4IR ที่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่น
  • ดำเนินโครงการนำร่องโดยอาศัยการทำงานร่วมกัน: พัฒนาโซลูชั่นร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี และทดสอบและเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการนำร่อง โดยอาศัยการกำกับดูแลที่เหมาะกับเป้าหมาย
  • สร้าง Partner Ecosystem: เลือกกลยุทธ์ความร่วมมือที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ระยะยาว
  • สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น: ควรมุ่งเน้น 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพและปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น, ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอัจฉริยะ, แพลตฟอร์ม IoT แบบอเนกประสงค์ และระบบวางแผนด้านทรัพยากรและการผลิตแบบครบวงจร
  • รองรับการปรับเปลี่ยนอย่างยั่งยืน: ปรับใช้เครื่องมือที่ช่วยเสริมศักยภาพ กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมถึงความสามารถที่เฉพาะเจาะจง ดัชนีชี้วัด และการปรับเปลี่ยนกระบวนการโดยมุ่งเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต  อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการผลิต  กลยุทธ์ระดับชาติในประเทศเหล่านี้ รวมถึงประเทศไทย มักมุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร และการสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแกร่งเพื่อส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตามมีการสนับสนุนที่จำกัดสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยี 4IR ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต เพราะส่วนใหญ่ภาคการผลิตครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทต่างๆ และภาครัฐให้มากขึ้น โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาคผ่านการค้าและการลงทุน

นาย นิโคไล ดอบเบอร์สไตน์ พาร์ทเนอร์ของบริษัท เอ ที เคียร์เน่ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีโอกาสที่ดีมากในการเป็นผู้นำการพัฒนาระบบการผลิตโดยดิจิทัล และก้าวสู่เวทีระดับโลกด้วยการปรับใช้เทคโนโลยี 4IR  อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตจำเป็นต้องใช้แนวทางที่มุ่งเน้นสองทาง กล่าวคือ แนวทางระยะสั้นที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาท้าทายที่เฉพาะเจาะจง และรับมือกับโอกาสด้วยการปรับใช้โซลูชั่นแบบเฉพาะจุด ส่วนแนวทางระยะกลางและระยะยาว จะต้องสร้างความสามารถด้านการผลิตที่ก้าวล้ำและยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร และโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และสานต่อวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด”

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924