3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารเผยปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 1,107,450 ล้านล้านบาท ชี้มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้า ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ลุ้นปี 2565 ฝ่าด่านเงินเฟ้อ ส่งออกอาหารแตะ 1,200,000 ล้านล้านบาท
เมื่อ 24 ม.ค 2565 สภาหอการค้าฯ สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว ข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 โดยมีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
PACIFIC PIPE นำเสนอมาตรฐานใหม่ของงานเหล็กที่ตอบทุกโจทย์ ทุกจินตนาการ [Super Source]
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า จากการข้อมูล พบว่าในปี 2564 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากความกังวลโควิด-19 คลายตัวลง ประเทศคู่ค้าผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลทำให้สินค้าส่งออกที่มีตลาดในกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารและโรงแรมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 มีมูลค่า 1,107,450 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 หรือในรูปดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าส่งออก 34,890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5
ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.30 จากร้อยละ 2.32 ในปี 2563 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก
ทั้งนี้ตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น สหรัฐฯ แอฟริกา โอเชียเนีย และสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 24.5 มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 จากปีก่อน
โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ CLMV และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 12.4 และ 11.5 ตามลำดับ โดยการส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 219.7 จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และแอฟริกาลดลงจากสินค้าทูน่ากระป๋องและข้าวเป็นสำคัญ
นางอนงค์ กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี คือ ราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารมีมูลค่าส่งออก 506,970 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 หรือมีสัดส่วนร้อยละ 45.8 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม จากสัดส่วนร้อยละ 40.8 ในปีก่อน
ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 600,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 หรือมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 54.2 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม จากสัดส่วนร้อยละ 59.2 ในปีก่อน
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (34.3%), กุ้ง (+10.8%), ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+7.7%), เครื่องปรุงรส (13.3%), อาหารพร้อมรับประทาน (+7.7%) และสับปะรด (31.5%) ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของธุรกิจบริการร้านอาหาร หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (-7.1%), ไก่ (-1.7%), ปลาทูน่ากระป๋อง (-18.3%) และน้ำตาลทราย (-13.2%)
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1) ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากประชากรโลกได้รับวัคซีน COVID-19 ครอบคลุมมากขึ้น ความอันตรายของโรคลดต่ำลง
2) ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 เริ่มลดลง ประเทศต่างๆ มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น
และ 3) เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารเป็นสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลักจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว”
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่
1) ราคาวัตถุดิบภาคเกษตร บรรจุภัณฑ์ น้ำมัน เพิ่มสูงขึ้นมาก กระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งของภาคอุตสาหกรรมอาหาร 2) การขาดแคลนแรงงาน กระทบต่อการเพิ่มผลผลิตและรับคำสั่งซื้อ และ 3) กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางและระดับล่าง อ่อนตัวลงจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งปัจจัยด้านเงินเฟ้อน่าจะมีบทบาทมากที่สุดในการกดดันภาคอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากจะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง สำหรับสินค้าส่งออกหลัก 10 กลุ่มสินค้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสินค้า โดยที่ 1) กลุ่มขยายตัวสูง (มูลค่าส่งออกขยายตัว >10%) ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว (+11.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+12.7%), น้ำตาลทราย (+17.5%), กุ้ง (+12.3%) และสับปะรด (+10.2%) โดยข้าวขยายตัวดีจากเงินบาทอ่อนค่า และคาดว่าราคาส่งออกข้าวในปี 2565 จะทรงตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ปลาทูน่ากระป๋องได้รับแรงหนุนจากเงินเฟ้อ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง อาหารบรรจุกระป๋องจะได้รับประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา
ส่วนน้ำตาลทรายจะเริ่มฟื้นตัวตามอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลุ่มประเทศ CLMV ขณะที่กุ้งและสับปะรดได้รับปัจจัยหนุนจากการพื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว บริการร้านอาหาร และโรมแรม 2) กลุ่มขยายตัวปานกลาง (มูลค่าส่งออกขยายตัว >5% แต่ไม่ถึง 10%) ประกอบด้วย 4 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (+6.2%), มะพร้าว (+6.4%), เครื่องปรุงรส (+7.9%) และอาหารพร้อมรับประทาน (+9.7%) กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่โดดเด่นและมีศักยภาพของไทย แนวโน้มการเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ
โดยแป้งมันสำปะหลังเด่นตรงที่เป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพง ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีตลาดหลัก คือ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ที่ระยะทางในการขนส่งไม่ไกล จึงมีศักยภาพในช่วงที่ต้นทุนค่าขนส่งสูง ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (กะทิสำเร็จรูป) และเครื่องปรุงรส โดดเด่นจากการเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย (Authentic) ขยายตัวตามความนิยมอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ส่วนน้ำมะพร้าวของไทยมีรสชาติหอมหวาน มีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมชาติ จึงเหมาะกับเทรนด์สุขภาพ ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานเติบโตสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวก โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทานเมนูไทยที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ และ 3) กลุ่มขยายตัวต่ำ (มูลค่าส่งออกขยายตัว <5%) คือ การส่งออกไก่ (+3.8%) ที่ได้รับผลกระทบจากตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น (ตลาดส่งออกไก่ 50% ของไทย) ที่ยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารฟื้นตัวช้า กระทบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทย
- ผลผลิต อุตฯอาหารไทย ครึ่งแรกปี63 ลดลง 8.6 %
- ‘โปรตีนยั่งยืน’ เทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารที่ผลักดันด้วยระบบอัตโนมัติ
- 5 ผลลัพธ์จากการใช้ Industrial Edge ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
- เมื่ออุตสาหกรรมอาหารมาตรฐานคงที่ Brand Loyalty เกิดได้ไม่ยาก