Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

ชาติมั่งคั่ง อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง ด้วยการวิจัยและพัฒนา

คีย์เวิร์ดคุ้นหูแห่งยุคสมัย โดยเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรม หนีไม่พ้นบรรดาคำว่า โรบอติกส์ ออโตเมชั่น เทคโนโลยี ดิจิทัล Computerized หรือ Internet of Things โดยทั้งหมดมีหลักคิดอยู่บนพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม

ฉบับนี้มาพูดคุยเจาะลึกกับ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างชาติให้มั่งคั่ง พร้อมทั้งชวนคุยชวนคิดในหัวข้อที่หลายๆ คนสงสัยว่า นวัตกรรมมาจากไหน ใครต้องคิด ใครต้องสร้าง ใครต้องลงทุน และผู้ประกอบการต้องทำอย่างไร หากพร้อมแล้ว ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์อุตสาหกรรม 4.0 ต้อง R&D

ประเด็นร้อนที่สั่นสะเทือนแวดวงอุตสาหกรรมทั่วโลก หนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 คีย์เวิร์ดที่ฟังกันจนเบื่อ แต่หนียังไงก็คงหนีไม่พ้น เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ความต้องการของตลาดเปลี่ยน เงื่อนไขและข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์บีบให้เราเหลือทางเลือกเดียว คือ ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น

เมื่อตั้งเป้าดังนั้นแล้ว ภาครัฐจึงมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมายนี้ ผ่านการประกาศนโยบายพาไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมถึงให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมผ่านการเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยสร้างชาติ จาก 0.5% ของ GDP เป็น 1.5% ของ GDP

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ เกริ่นให้ฟังถึงภาพกว้างก่อนว่า เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐ สามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศรายได้สูง และจากการดูกรณีศึกษาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จ ล้วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วยงานวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวถึงการทำงานว่าสกว.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยให้แก่โครงการที่เหมาะสม ไม่ได้ทำวิจัยเอง กล่าวคือ เป็นหน่วยงานประสานระหว่าง Demand และ Supply ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมคือโจทย์หลัก ดึงคนจากภาควิชาการหรือสถาบันการศึกษามาทำหน้าที่เชิงองค์ความรู้ และบริหารจัดสรรเงินที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยให้คุ้มค่าที่สุด

“เราเน้นการสร้างนวัตกรรม การพยายามเพิ่มมูลค่าให้ Raw Materials หรือในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมอย่างยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราแข็งแกร่งอยู่แล้ว เราต้องพยายามเพิ่ม Local Content เข้าไปใน Supply Chain ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ก็ต้องเน้นสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ อาจจะทั้งในไทย และต่างประเทศ แต่ต้องไม่ใช่ในลักษณะเดิม ที่ให้เขามาลงทุนตั้งโรงงาน เราเป็นแค่โรงงาน อย่างนั้นไม่ใช่เป้าหมายของเรา” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ อธิบายคร่าวๆ

สกว. รับลูก สนองนโยบายสร้างชาติ จะรอดได้ ต้องวิจัยเท่านั้น

งานวิจัยที่ สกว.ให้การสนับสนุน แบ่งแยกชัดเจนเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ และกลุ่มงานวิจัยตั้งเป้า จากเดิมเคยมีงบประมาณ กลุ่มแรก 60-70 ล้านบาท ส่วนกลุ่มหลังประมาณ 200 ล้านบาท ถูกเพิ่มเป็นกลุ่มละกว่า 500 ล้านบาทต่อปี

“หลังจากรัฐตั้งเป้าและประกาศเดินหน้าตามแผนแล้ว ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่จะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2560 ถึงปี 2564 นี้ จึงเขียนไว้ชัดว่า งบวิจัยและพัฒนาต้องไม่ต่ำกว่า 1.5% ของ GDP ปัจจุบันงบวิจัยประมาณ 0.5% ของ GDP ฉะนั้น ประมาณได้เลยว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า งบวิจัยจะโตอีกอย่างน้อย 3 เท่าของปัจจุบัน หรือหมายถึง เราจะมีงบกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีสำหรับงานวิจัย” รศ.ดร.พงศ์พันธ์กล่าว

กระนั้น รศ.ดร.พงศ์พันธ์ ยังมองว่า ต้องโตกว่านี้ เพราะงบวิจัยจากภาครัฐต่อปีของประเทศไทยทั้งประเทศ เทียบเท่างบวิจัยของบริษัทรถยนต์ใหญ่ๆ อย่างโตโยต้า ฟอร์ด หรือ GM เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยงานวิจัย คาดว่า งบส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ มองว่ายังแก้ไม่ตก คือ นักวิจัยไม่เพียงพอ และอุตสาหกรรมไทยไม่มี Mindset ของการทำงานวิจัย เอกชนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อการวิจัย จึงถือเป็นพันธกิจของ สกว.เช่นกัน ที่จะสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ และดึงภาคเอกชนให้มาทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจของตัวเอง

“ปัญหาคือ นักวิจัยน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ 11 คนต่อประชากร 10,000 คน เราตั้งเป้าเพิ่มเป็น 25 คนให้ได้ อย่างเกาหลีใต้ที่สร้างชาติได้ด้วยงานวิจัย เขาตั้งงบวิจัยไว้ 4% ของ GDP

นอกจากนี้ ถ้าเราจะโตได้จริงๆ เอกชนต้องลงทุนให้ได้ร้อยละ 70 ของงบก้อนที่เราพูด แต่ปัจจุบัน สัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเป็น 50:50 ฉะนั้น นอกจากงบวิจัยต้องมากขึ้นแล้ว เรายังต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในงานวิจัยจากภาคเอกชน ต้องเปลี่ยนจาก 50:50 เป็น 70:30 เอกชนหรืออุตสาหกรรมลงทุน 70% รัฐสนับสนุนอีก 30%  สกว.จึงมีหน้าที่ออกแบบให้เอกชนหันมาลงทุนทำวิจัยมากขึ้น” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ วิเคราะห์

Triple Helix ต้อง ‘สามประสาน’ จึงจะถึงเป้า

คีย์เวิร์ดสำคัญของการให้ทุนวิจัยคือ การรับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ได้อย่างตรงเป้า เอกชนต้องการอะไร อาจารย์และบุคลากรด้านวิชาการมีความรู้อะไร รัฐจะสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง เรียกว่าเป็นกลไก Triple Helixหรือสามประสาน
“โจทย์ต้องมาจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยต้องไปหาคนที่มีความต้องการเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ของคุณมา จับคู่กัน ต้องแมชชิ่งกัน เงื่อนไขคือเอกชนต้องร่วมลงทุนในโปรเจ็คต์วิจัยอย่างน้อยร้อยละ 20 การที่ผู้ประกอบการร่วมลงทุนด้วยเป็นการการันตีว่า ผู้ประกอบการเอาจริง เพราะเอกชนเขาไม่ยอมเสียเงินฟรีๆ แน่นอน เขาต้องได้อะไรจากการลงทุนทำวิจัย

เราพยายามทำ Triple Helix หรือ สามประสาน หนึ่ง สกว.เป็นตัวแทนภาครัฐทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ สอง ภาคเอกชนที่ตั้งโจทย์จากความต้องการใช้นวัตกรรม และสาม สถาบันการศึกษาที่ต้องทำวิจัยและมีองค์ความรู้ด้านวิชาการ

รูปแบบการให้ทุนของเรา คือ เราจะดึงนักวิจัยมาทำงานให้เอกชน เราจะดึงโจทย์จากเอกชนมา ส่งโจทย์ไปให้มหาวิทยาลัยพร้อมกับเงินทุน และเราเปิดรับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมในลักษณะ ‘ใครมาก่อน ได้ก่อน’ ไม่จำกัดด้วยวงเงิน ไม่ได้กำหนดด้วยมูลค่า ฉะนั้น เราจึงสนับสนุนโปรเจ็คต์ทุกขนาด ตั้งแต่หลักแสนถึงหลายล้านบาท” รศ.ดร.พงศ์พันธ์อธิบาย

โครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา

‘วิจัยปฏิบัติจริง’และ ‘การตั้งโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม’ไม่ได้เป็นแค่คำพูดสวยหรู แต่กำลังจะดำเนินนโยบายเชิงรูปธรรม ตามที่ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ ให้ข้อมูลว่า สกว. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อทำงานเชิงรุก ภายใต้ชื่อ ‘โครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา’

“สกว. และ สวทช. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จะทำงานเชิงรุก เช่น มองหาอุตสาหกรรมรายที่สนใจจะปรับตัวเองเข้าสู่ 4.0 มีใจที่พร้อมจะปรับตัวและพัฒนา เราจะส่งทีมที่ปรึกษาเข้าไปประเมิน ทำรายงานวิเคราะห์ความคุ้มค่าให้ดู เราจะทำ Feasibility Reportให้เขาตัดสินใจว่าเขาพร้อมจะเดินไป 4.0 หรือเปล่า ถ้าเขาสนใจพัฒนา สกว. จะเข้าไปสนับสนุน พัฒนา เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำอัพเกรดอย่างไร ลงทุนเท่าไหร่ และทิศทางการลงทุนต้องเป็นอย่างไร เบื้องต้นคิดว่าประมาณปีละ 50-100 โรงงาน” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ อธิบายให้เห็นภาพ

Innovative House เครื่องหมายการค้า ตีตราว่าเป็นนวัตกรรม

กรณีศึกษาอย่าง Banana Society ธุรกิจ SME ที่พลิกองค์กรด้วยนวัตกรรมและ R&D

“ธุรกิจกล้วยตากรายหนึ่งกำลังจะปิดกิจการแล้ว เดินเข้าไปกระทรวงพลังงาน สกว.ให้ทุนสนับสนุนทำวิจัยและพัฒนา จากกล้วยตากแดด ตากลม ตากกลางแจ้ง เราแนะนำให้เขาไปตากใน Parabola Dome มันก็ถูกสุขลักษณะขึ้นมา พัฒนาผลิตภัณฑ์ รีแบรนด์ ทำแพคเกจจิ้ง ถ้ากล้วยตากอย่างเดียวไม่พอ เพิ่มรสชาติไหม? น้ำผึ้ง ช็อกโกแลต กล้วยตากจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่งานหัตถกรรมหรืองานในครัว ทุกกระบวนการผ่านการวิจัย เป็น Food Scienceต้องคิดหาวิธีให้น้ำเชื่อมซึมเข้าไปในกล้วย คิดหาวิธีเก็บรักษาความหวาน ให้อร่อย สวย น่ากิน อยู่ได้นาน ปลอดภัย ขนส่งได้ ทั้งหมดคืองานวิจัย

“มีกล้วยตกเกรด พวกกล้วยติดหวี ผลเล็ก ไม่ผ่านมาตรฐานด้านขนาด ก็เอามารวมกับน้ำหวานที่หยดลงมาตอนตากกล้วย เอามาพัฒนาเป็น Banana Syrupที่ญี่ปุ่นชอบมาก เป็นลูกค้าประจำจาก Syrup พัฒนาเป็น Cider ได้อีก ทางยุโรปชอบ แล้วเราก็ตีตรา Innovative House ให้เขานำไปพัฒนาต่อ ส่งออกได้เหมือนมีตรารับรอง” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ ยกตัวอย่างทิ้งท้าย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924