Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

อิเล็กทรอนิกส์ไทยแข็งแกร่ง พร้อมร่วมขบวนอุตสาหกรรม 4.0… ชัวร์!

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่จะเป็นดิจิทัลมากขึ้่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นปัจจัยที่ห้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวันจึงต้องพัฒนาตัวเองเพื่อเอาใจผู้บริโภค ซึ่งนั่นส่งผลเชิงบวกให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกก็ว่าได้

อิเล็กทรอนิกส์ไทยแข็งแกร่ง พร้อมร่วมขบวนอุตสาหกรรม 4.0… ชัวร์!

สำหรับประเทศไทยได้สั่งสมชื่อเสียงและความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากว่า 50 ปี ทำให้เรามีชื่ออยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ทว่าจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะกระแส 4.0 นี้ กำลังท้าทายระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกด้วยเช่นกัน

บทความนี้เราจึงชวนคุณมาเปิดมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ แนวโน้ม และโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จาก ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับแวดวงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากว่า 30 ปี ทั้งในฐานะวิศวกร นักบริหารองค์กรขนาดใหญ่ และวันนี้ได้มาพูดคุยในฐานะประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

50 ปี อิเล็กทรอนิกส์ไทย
อดีตที่สร้างสายป่านสู่ปัจจุบันและอนาคต

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ เกริ่นให้เห็นภาพกว้างของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยว่า สิ่งที่ประเทศไทยทำเป็นหลักก็คือ การผลิตเชิงปริมาณ ซึ่งอุตสาหกรรมไทยมีความเป็นเลิศในการผลิต และสั่งสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูก และผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 50 ปี จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีศักยภาพในการบริหารจัดการเทคโนโลยีการผลิตได้ดีเยี่ยม ไม่ใช่แค่ในประเทศอาเซียน แต่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกเลยทีเดียว

“ภาพรวมทั้งโลกดูดี และมีแนวโน้มจะดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยที่ห้า เป็นเทรนด์ และกลายเป็นชีวิตประจำวันตลอด 24 ชั่วโมง มนุษยชาติจะเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีกมากเมื่อเทียบกับ 5-10 ปีที่ผ่านมา” ดร.สัมพันธ์ วิเคราะห์

ส่วนปัญหาสมองไหล ดร.สัมพันธ์กล่าวว่า ไม่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของภาคอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะเสียบุคลากรในภาคอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ บ้าง แต่สมองไม่ได้ไหลออกไปต่างประเทศมากนัก และเชื่อว่าอุตสาหกรรมเราแข็งแกร่ง และยังไปได้ดี ทั้งด้านศักยภาพการผลิต และตัวบุคลากร

อย่างไรก็ตาม ดร.สัมพันธ์ ยอมรับว่า อุตสาหกรรมไทยยังเข้าสู่ 4.0 ได้น้อยมาก แต่ถือว่าส่วนใหญ่มีการรับรู้ (Awareness) เกี่ยวกับ 4.0 อย่างกว้างขวาง เหลือเพียงต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทั้งทักษะและสมรรถนะ ผลักดันบุคลากรที่เก่งให้ไปสู่ 4.0 ให้ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่

คู่แข่งไม่น่ากลัวเท่าแนวคิดและทัศนคติเดิมๆ

นอกจากประเทศจีนที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังมีประเทศอาเซียนที่พร้อมรับการลงทุนอย่างเมียนมา และเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นคู่แข่งคนสำคัญ แต่ดร.สัมพันธ์ มองว่า ไทยยังแข็งแกร่งมาก แต่ก็ต้องไม่ประมาท

“ผมมองว่า จีนทำ R&D ในเชิงผลิตภัณฑ์และออกแบบ แม้เราไม่ค่อยมีโอกาสในการวิจัยและพัฒนาด้านนั้นมากนัก แต่เราเป็นเลิศในเทคโนโลยีการผลิต เรามีบุคลากร ประสบการณ์ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต เราจึงวิจัยและพัฒนาด้านนี้ได้ดีทีเดียว

หากพูดถึงเมียนมา และเวียดนาม เขาไม่มีต้นทุนนี้อย่างที่เรามี ในอดีตที่ผ่านมา เราได้ใบบุญ 50 ปีของอิเล็กทรอนิกส์ไทย ต้นทุนที่เรามีเอื้อประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีเปลี่ยนหมด ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศใหม่ๆ เหล่านั้นสามารถเข้ามาเล่น เข้ามาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว มันเป็นการสู้ด้วยแพลตฟอร์มใหม่ล้วนๆ” ดร.สัมพันธ์วิเคราะห์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในจีนและอาเซียน

ดร.สัมพันธ์ อธิบายต่อไปว่า แพลตฟอร์มเป็นเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็น Technology Based เน้นซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ ฉะนั้น โลกจึงเปิดกว้างมากกว่า

“ในอดีต เป็นเรื่องการลงทุน การผลิต เครื่องจักร เป็นการจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในวงแคบ อาจจะอยู่แค่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันเป็น Technology Based ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่อีกต่อไป เราสามารถสั่งการจากที่ไกลๆ ได้ทั่วโลก”

ส่วนสถานการณ์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยนั้น ดร.สัมพันธ์ วิเคราะห์ว่า ไม่กังวลเรื่องการลงทุนในประเทศ เพราะมองว่า การเปลี่ยนผ่านใน 5-10 ปีนี้ เราไม่น่าจะเห็นการลงทุนเชิงปริมาณ เช่น เครื่องจักร หรือการสร้างงานมากๆ อีกแล้ว ที่น่าจะได้เห็นกัน คือ การลงทุนในรูปแบบเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และต้องเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนทัศนคติ อย่าตั้งโจทย์ว่า จะจ้างงานกี่พันตำแหน่ง จะลงทุนกี่พันล้านบาท

4.0 คือ การเชื่อมต่อ ทุกที่ และทุกเวลา

ดร.สัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรม 4.0 ต้องเชื่อมต่อ และสร้างเครือข่าย ทั้งในมิติของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และคนในแวดวง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจะเป็นโอกาสในการทำความรู้จัก เชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน

“ที่ผ่านมา เราเก่ง แต่เราลุยเดี่ยว การจะไป 4.0 เราไปตามลำพังไม่ได้ การร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชนหาแรงจูงใจ หาแพลตฟอร์ม หาเวที เพื่อให้เกิดความร่วมมือ จะปล่อยให้แต่ละภาคส่วนแยกกันคิด แยกกันทำเหมือนในอดีตไม่ได้

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ธุรกิจที่จะไปได้ดี เกิดจากการรวมตัวระหว่างกลุ่มธุรกิจคนละกลุ่มกันมารวมกัน Convergence เกิดเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ ยังมีโอกาสในการลงทุน เปิดกว้างมาก ที่สำคัญ คือ ใครๆ ก็มีโอกาสในการไปร่วมธุรกิจกับธุรกิจเดิม ต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่มันเกิดขึ้นได้ง่ายมาก

และสำหรับการสร้างเสริมโอกาสเหล่านี้ งาน Nepcon 2017 เป็นหนึ่งในเวทีสำคัญที่จะสร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือเชิงลึกขึ้นจริง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้เป็นอย่างดี”

4.0 ความสำเร็จที่ต้องเกิดจากความเท่าเทียม

ดร.สัมพันธ์ ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับแนวทางความสำเร็จของนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องเริ่มจากการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งทางด้านความเจริญทางเศรษฐกิจ และโอกาสของการเข้าถึงข่าวสาร การศึกษา และทรัพยากรด้านต่างๆ

“นโยบายประเทศไทย 4.0 รวมไปถึง Industry 4.0 จะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง ประชาชนคนไทยมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ นักเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การคมนาคมขนส่ง ระบบ Infrastructure ครอบคลุมทั้งประเทศ ความสามารถในการเรียนรู้ และการเข้าถึงเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงข่าวสารความเป็นไปของโลก”

ความเจริญของประเทศที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะทำให้การก้าวไป ข้างหน้าได้รวดเร็วและมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะคนยังต้องอยู่กับเทคโนโลยีและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

“คนไทยมากกว่า 70% ยังต้องได้รับการช่วยเหลือพัฒนาเพิ่มพูนทักษะความรู้ความสามารถให้มีศัยภาพขึ้น สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัต และเป็นส่วนหนึ่งในสังคมในการนำเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัว” ดร.สัมพันธ์ กล่าว

สำหรับงาน Nepcon 2017 นั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 21-24 มิถุนายน 2017 พร้อมกับงาน MANUFACTURING EXPO 2017 ณ ไบเทค บางนา ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อร่วมเข้าชมงาน ได้ที่ www.nepconthailand.com

 

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924