Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

อุตสาหกรรม 4.0 ความพร้อม กับดัก และวิธีลงทุนอย่างถูกที่ถูกเวลา

อ.ชัยรัตน์ บรรเทาทุกข์ ย้อนกลับไปยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนระบบการผลิตทั้งโลกให้เข้าสู่ยุคเครื่องจักรไอน้ำ และขับเคลื่อนด้วยเหล็ก วันนี้ก็ไม่ต่างกันเนื่องจากโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านและปฏิวัติอุตสาหกรรมกันขนานใหญ่อีกครั้ง คำถามคือ…

คุณจะเปลี่ยนไหม?
คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนหรือไม่?
และถ้าไม่เปลี่ยน คุณจะอยู่อย่างไร?

ฉบับนี้เราจะพามาคุยกับ อ.ชัยรัตน์ บรรเทาทุกข์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกระบบควบคุมส่วนงานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สถาบันไทย-เยอรมัน เกี่ยวกับอนาคตอุตสาหกรรมไทย ความพร้อม อุปสรรค กับดัก และวิธีลงทุนอย่างถูกที่ถูกเวลา

อุตสาหกรรม 4.0 ถ้าไม่ไป ก็ตกขบวน

ความเหมาะสมและปัจจัยหลายอย่างทำให้เกิดการปฏิวัติ ในโลกอุตสาหกรรม อุปกรณ์ต่างๆ ระบบออโตเมชั่น ความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยีด้านวัสดุ และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมายบ่มเพาะจนเกิดอุตสาหกรรม 4.0 ขึ้นมา และในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม เมื่อเกิดการปฏิวัติ เราย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.ชัยรัตน์ บรรเทาทุกข์ ไม่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นอุปสรรคหรือปัญหา เพราะการเปลี่ยนแปลงหมายถึงโอกาสเช่นกัน

Industry 4.0 - อุตสาหกรรม 4.0

อ.ชัยรัตน์เพิ่มเติมว่า ทุกองค์กรไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลง เพราะทุกการเปลี่ยนหมายถึงการลงทุนและความเสี่ยง ฉะนั้น เขาไม่ได้อยากเปลี่ยน แต่ต้องถามตัวเองว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนไหม จะไปกับอุตสาหกรรม 4.0 ไหม ถ้าไม่เปลี่ยนจะเสียอะไรบ้าง องค์กรต้องตอบให้ได้ ส่วนความพร้อมหรือไม่พร้อมเป็นคำถามตามมา ถ้าพร้อมก็โชคดี แต่ถ้าไม่พร้อม ก็แสวงหาความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา

“ผู้ประกอบการจะชอบคิดว่าไม่พร้อมเรื่องเงินทุน แต่เรามองว่าเรื่องนี้แก้ง่าย เจรจากับสถาบันการเงินหรือเข้าหาความช่วยเหลือด้านสถาบันการเงิน เรื่องนี้จบง่าย แต่ที่ผมมองว่าไม่พร้อม คือความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมากกว่า ถ้าเราเริ่มก่อน เราเป็นผู้นำ เริ่มทีหลัง ก็เป็นผู้ตาม ในการแข่งขัน ถ้าไม่อยากเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ก็ต้องฉีกให้แตกต่าง ปัญหาคือเรามองหาความแตกต่างจากคู่แข่งไม่ได้

มันจึงกลับมาที่คำถามที่ต้องตอบให้ได้ จำเป็นไหม เขาไป 4.0 กัน เราไม่เปลี่ยน เราจะเป็นอย่างไร ในขณะที่เขาเปลี่ยนระบบเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 กันหมด เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ เขาไม่รับออร์เดอร์ทางโทรศัพท์แล้ว ไม่วางบิลด้วยกระดาษแล้ว เรามีระบบที่จะต่อกับเขาติดไหม หากเราไม่คิดเปลี่ยนแปลง” อ.ชัยรัตน์ ชี้ให้เห็นภาพ

ฉีกกรอบด้วยแนวคิด ‘พอดีแก่การใช้ + เหมาะสมแก่เวลา’
เพื่อปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0

เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น อ.ชัยรัตน์ได้มีการพูดถึงความเข้าอกเข้าใจใน ‘ระบบ’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง
อ.ชัยรัตน์ อธิบายว่า ในการพัฒนากระบวนการเพื่อเปลี่ยนระบบ สิ่งแรก คือ ต้องมีความเข้าใจ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจระบบของตัวเองก่อน แล้วนำมาบูรณาการ นำมาพัฒนา และต้องพัฒนาให้พอดีแก่การใช้งาน ถ้ามากไปก็จะกลายเป็นการลงทุนที่สูงเกินจำเป็น ถ้าน้อยไป ก็ไม่มีความสามารถอย่างที่ต้องการ นอกจากนี้ ต้องตระหนักด้วยว่า ระบบที่จะลงทุนมันล้าสมัยได้ ฉะนั้น ไม่มีโซลูชั่นที่ใช้ได้ยาวๆ แต่เหมาะสมแก่ช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น

“ลงทุนสูง เทคนิคการผลิตสูง แต่พอใช้งานจริงไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็สูญเสีย หรือบางที คิดระบบได้ดี แต่ออกแบบเสร็จ ลงทุนเสร็จ ช้าเกินไป เขาไม่ใช้กันแล้ว”

กล่าวคือ ‘พอดีแก่การใช้’ และ ‘เหมาะสมแก่เวลา’ คือ คีย์เวิร์ดของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั่นเอง

อ.ชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นการลงทุนในระบบอัตโนมัติ และกับดักที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่หลุดพ้นโดยยกกรณีตัวอย่างว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีทักษะด้านการทำงานสูง แต่ยังมีข้อด้อยทางด้านแนวคิด คือ ยังคงมีความชำนาญในการทำสิ่งเดิม และมักคิดว่าการมีระบบจะทำให้องค์กรของตนแข่งขันกับคนอื่นได้ จึงพยายามลอกเลียนกระบวนการของคู่แข่งขันทางธุรกิจว่าใช้ระบบอะไร เครื่องจักรรุ่นไหน แล้วจึงใช้ตามๆ กัน พยายามใช้ระบบอัตโนมัติที่สำเร็จรูป โดยมีแนวคิดว่าหากใช้มันมากกว่า นานกว่า ใช้จนเก่งกว่าแล้วจะได้เปรียบซึ่งถือเป็นความคิดที่ผิด ดังนั้น ผู้ประกอบการแต่ละโรงงาน แต่ละองค์กรต้องรู้จักตัวเอง เพื่อวางแผนออกแบบระบบโดยมองอย่างรอบด้าน เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ผู้ประกอบการต้องคิด วางแผน ออกแบบให้เหมาะสม ต้องเป็น Tailor Made ต้องเป็นเสื้อผ้าสั่งตัดไม่ใช่เสื้อผ้าสำเร็จรูป” อ.ชัยรัตน์ กล่าว

หุ่นยนต์ VS แรงงาน

ดูเหมือนกลายเป็นคำถามและประเด็นปัญหาหลักของการเปลี่ยนผ่านที่หลายฝ่ายกังวลว่า หุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นที่ทั้งรวดเร็ว แม่นยำ และอดทนกว่า จะมาแย่งงานมนุษย์ไปจนอาจเกิดปัญหาการว่างงานได้

อุตสาหกรรมการผลิต

เกี่ยวกับประเด็นนี้ อ.ชัยรัตน์ อธิบายให้เห็นภาพว่า การคิดและออกแบบระบบอัตโนมัติถูกคิดจากหลายปัจจัย หากคิดเพื่อทดแทนคนก็ย่อมกระทบคน แต่ระบบอัตโนมัติส่วนใหญ่ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ช่วยเบาแรง เพิ่มความรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีความแม่นยำสูง ซึ่งไม่กระทบกับการจ้างแรงงานคน เพราะต้องยอมรับว่าท้ายที่สุด ระบบต้องการคนดูแล มีแต่คนเท่านั้นที่รู้ทั้งกระบวนการ หุ่นยนต์มาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนแรงงานจะถูกสลับสับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น เช่น ด้านการสนับสนุนกระบวนการผลิตแทน

“ทุกระบบต้องการผู้ใช้ ระบบเปลี่ยนก็ต้องการคนที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบมาดูแล แต่ส่วนใหญ่ชอบออกแบบระบบให้เสร็จเรียบร้อยจึงมาหาคนดูแล แต่พอถึงตอนนั้น มันไม่ทันแล้ว เพราะคนดูแลหรือผู้ใช้ไม่ได้ถูกออกแบบหรือเติบโตไปพร้อมๆ กับกระบวนการ ทำให้ขาดความลึกในการดูแลระบบ ฉะนั้นต้องออกแบบระบบไปพร้อมๆ กับการเตรียมคน” อ.ชัยรัตน์ ให้คำแนะนำ

ขี่ตั๊กแตนจับช้าง หมดยุคสู้กันด้วยขนาดแล้ว

อ.ชัยรัตน์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการลดขนาดโรงงานและการเติบโตของผู้เล่นรายใหม่ หรือผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งถือเป็นการยืนยันว่า ทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่สุดของทุกองค์กร

“ทรัพยากรมนุษย์ยังมีค่าเสมอ เพราะถ้าเรามีพนักงานที่มีขีดความสามารถในการเรียนรู้ เขาสามารถสร้างอะไรก็ได้ขึ้นมาเพื่อแข่งกับชาวบ้านได้ตลอด คนที่จะสร้างอะไรได้เหมาะกับตัวที่สุดคือตัวเอง ต้องสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และปรับตัว”

อ.ชัยรัตน์ ชี้ให้เห็นอีกว่า โรงงานส่วนใหญ่พยายามลดขนาดตัวเองลง จากโรงงานขนาดกลางซอยย่อยเป็นขนาดเล็กหลายๆ โรงงาน นั่นก็เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ความปราดเปรียว และลดความอุ้ยอ้ายขององค์กร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ธุรกิจไม่ได้แข่งขันกันที่ขนาดอีกต่อไป

“เราเข้าสู่ยุคขี่ตั๊กแตนจับช้าง องค์กรเล็กขับเคลื่อนง่าย แต่ทำการณ์ใหญ่ได้ ปัจจัยที่จะทำให้ชนะในการแข่งขันคือการปรับตัว และตัวแปรสำคัญในการปรับตัวคือ ความต้องการของผู้บริโภค มันเปลี่ยนเร็วมาก และสิ่งนี้คือตัวกดดันให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยน อย่างสมาร์ทโฟน ผลิตออกมาแล้วขายไม่ดี ไม่ติดตลาด ก็ต้องหยุดผลิต คิดใหม่ ผลิตใหม่ วงจรการผลิตถูกเปลี่ยนให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้บริโภคต้องการให้ผลิตภัณฑ์เปลี่ยน การผลิตก็ต้องเปลี่ยน ฉะนั้น สิ่งสำคัญในการออกแบบกระบวนการผลิต ที่ต้องคำถึงคือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลง และองค์กรเล็กๆ ก็คล่องตัวกว่า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า”

อ.ชัยรัตน์ ยังยกตัวอย่างให้เห็นว่า ผู้ประกอบการรายเล็กที่สู้ด้วยความคิดและความเร็ว มีกระบวนการอย่างเป็นระบบเพื่อลดความฟุ่มเฟือย ทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้อย่างก้าวกระโดดได้

“บางโรงงานมีคนแค่ 50 คน แต่ผลิตได้ 24 ชั่วโมง มอนิเตอร์งานที่ไหนก็ได้ และมีของเสียเป็น 0 ฟังดูเหมือนอุดมคติ แต่มีอยู่จริงในประเทศไทย เป็นโรงงานขนาดเล็ก เขาไม่ได้มองหาระบบอัตโนมัติสำเร็จรูป ไม่ต้องไปลอกใคร แต่ออกแบบให้เหมาะกับโรงงานตัวเอง พอมันเข้าที่ ประสิทธิภาพเขา 100% ทันที ดังนั้น นี่จึงเป็นยุคแห่งการขี่ตั๊กแตนจับช้างอย่างแท้จริง” อ.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

หากพิจารณาจากข้อมูลที่ อ.ชัยรัตน์ ได้ให้ความรู้นี้ทำให้คำตอบของการทำธุรกิจในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ชัดขึ้น กล่าวคือ การพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นโอกาส และทั้งหมดนี้ นำมาสู่คำตอบที่เลยไกลไปกว่า อุตสาหกรรมไทยต้องขยับปรับเปลี่ยนตนเองหรือไม่ ไปสู่คำตอบว่า นักอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนอย่างไรให้คุ้มค่า เปลี่ยนแบบไหนให้ถูกที่ถูกเวลา และที่สำคัญคือ… เปลี่ยนอย่างไรให้ขี่แค่ตั๊กแตน ก็ออกไปไล่จับช้างได้

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924