ทีมนักวิจัยจาก Georgia Tech’s Institute for Electronics and Nanotechnology สร้างหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวจาก Piezoelectric Actuator แหล่งพลังงานจาก Ultrasound หรือลำโพงขนาดเล็ก
หุ่นจิ๋วถูกประกอบขึ้นพร้อมกับ Piezoelectric Actuator ทากาวลงบนตัวหุ่นยนต์ที่เป็นโพลีเมอร์ที่ผลิตจากการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติด้วยวิธี Two-Photon Polymerization Lithography (TPP) โดย Actuator สร้างการสั่นสะเทือนโดยรับพลังงานจากภายนอกเนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไปจนไม่สามารถติดตั้งแบตเตอรี่ได้ การสั่นสะเทือนเกิดขึ้นจากตัวเขย้า Piezoelectric ที่อยู่ใต้พื้นผิวที่หุ่นยนต์ขยับ
หุ่นยนต์ต้นแบบนั้นจะตอบสนองต่อคลื่นความถี่การสั่นสะเทือนที่แตกต่างกัน โดยการสั่นสะเทือนจะทำให้ขาเกิดการเคลื่อนที่ขึ้นลงเหมือนสปริงทำให้ขยับไปข้างหน้า ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของหุ่นยนต์ซึ่งเกี่ยวกับขนาดของขา เส้นผ่าศูนย์กลาง การออกแบบ และภาพรวมที่เป็นเรขาคณิต ทำให้นักวิจัยสามารถควบคุมหุ่นยนต์แต่ละตัวได้ด้วยการปรับคลื่นความถี่ หุ่นยนต์นั้นมีขนาดความยาวอยู่ที่ 2 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับมดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยหุ่นยนต์บางตัวมี 6 ขา บางตัวนั้นมี 4 ขา
ฝูงหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วเหล่านี้สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ รวมถึงเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ หรือในวันหนึ่งอาจส่งมันเข้าไปในร่างกายเพื่อทำการรักษาซ่อมแซมมนุษย์ก็เป็นได้
ที่มา:
Robotics.gatech.edu