Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์นำทางนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญมากในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก นับตั้งแต่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมรถยนต์และอาหาร นับเป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตแผงวงจรรวม สารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดักเตอร์) และฮาร์ดไดรฟ์ และยังถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดยเป็นฐานการผลิตของแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอย่าง เมอร์เซเดส บีเอ็มดับเบิลยู จีเอ็ม ฟอร์ด และโตโยต้า ทั้งยังเป็นผู้นำในฐานะซัพพลายเออร์ด้านอาหารระดับโลก

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทยเติบโตขึ้น 4.8% ในไตรมาสแรกของปี 2018 ซึ่งถือว่าดีที่สุดในช่วง 5 ปี และทำให้คาดการณ์ได้ว่าอัตราการเติบโตตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ราว 5% อย่างไรก็ดี สถานะทางการแข่งขันของประเทศกำลังถูกไล่ตามโดยเหล่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากธนาคารพัฒนาเอเชียคาดการณ์ว่า เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และลาว จะมีอัตราการเติบโตราว 6.8 – 7.1% ในปี 2018

ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในการทำงาน เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและสถานะศูนย์กลางผู้ผลิตระดับโลกของประเทศเอาไว้ เนื่องจากระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้กรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0

การทำงานด้วยระะบบอัตโนมัติกับโคบอท

สภาวการณ์ทางธุรกิจที่มีความท้าทายในทุกวันนี้ผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ พยายามแสวงหาวิธีการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาความยั่งยืนทางธุรกิจเอาไว้ ซึ่งในท้ายที่สุด ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก็ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อนำมาซึ่งความเป็นเลิศทางธุรกิจ

ยุคที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่เทอะทะและมีราคาแพงคือโซลูชั่นเดียวของการทำงานระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะภาคการผลิตนั้น ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะโคบอทหรือหุ่นยนต์เพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์ (Collaborative robots: cobots) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อทำงานเคียงข้างมนุษย์ ได้ช่วยลดอุปสรรคในด้านความซับซ้อนและต้นทุนที่สูงของระบบอัตโนมัติให้น้อยลง ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ในทุกขนาดสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ด้วยคุณสมบัติของโคบอทที่มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก และมีความยืดหยุ่น ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้แม้ในพื้นที่แคบและครอบคลุมอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบ โคบอทยังมีต้นทุนรวมของการเป็นเจ้าของ (Total cost of ownership: TCO) ที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบเดิม เพราะโคบอทใช้ต้นทุนน้อยกว่าในการตั้งค่าการทำงานของระบบ โดยค่าต้นทุนรวมของการเป็นเจ้าของจะครอบคลุมต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีทั้งการซ่อมบำรุง การเปลี่ยนแปลงผังระบบของโรงงาน การฝึกอบรมพนักงาน และแผงกั้นเพื่อความปลอดภัย (ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบเดิม) นอกจากนั้น การตั้งโปรแกรมการทำงานพื้นฐานของโคบอทยังช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้ ทำให้พนักงานที่มีทักษะต่ำสามารถใช้งานโคบอทได้อย่างง่ายดาย

โคบอทมอบประโยชน์ให้อย่างมหาศาล ช่วยให้เจ้าของธุรกิจเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มคุณภาพของชิ้นงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานของคนงาน โดย นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้เพิ่มขั้นตอนการผลิตด้วยการใช้งานโคบอท ส่งผลให้คุณภาพและความเสถียรของชิ้นงานสูงขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านเวลาและต้นทุน

การกำหนดโอกาสจากการใช้งานระบบอัตโนมัติ

การใช้งานระบบอัตโนมัติให้ประสบความสำเร็จ จะขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าของธุรกิจในการระบุถึงเวลาที่เหมาะสมในการใช้งานระบบอัตโนมัติ เพราะเหตุผลหลักในการใช้งานระบบอัตโนมัติคือต้นทุน ต้นทุนทางตรงส่วนใหญ่ต้องอาศัยงบประมาณ กระนั้น ก็ยังต้องมีต้นทุนทางอ้อมและต้นทุนทางโอกาสที่ต้องเสียไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบอัตโนมัติอย่างเต็มที่

ต้นทุนทางอ้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้นั้น อาจรวมถึงการทำงานนอกเวลาจากการนำเสนอบริการที่ล้มเหลวหรือล่าช้า การหยุดชะงักของเครือข่าย ข้อขัดข้องและการสูญเปล่าในการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทสูญเสียผลกำไร ดังนั้น การลดการรั่วไหลของรายได้ด้วยการจำกัดต้นทุนทางอ้อมจะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถเพิ่มผลกำไรสุทธิได้

ระบบอัตโนมัติยังช่วยให้บริษัทสามารถรวบรวมเงินทุนเพื่อใช้ในต้นทุนด้านโอกาสได้ เมื่อพนักงานเป็นอิสระจากภาระงานที่เคร่งเครียดและงานที่ใช้ทักษะต่ำ องค์กรจะสามารถปรับปรุงการโยกย้ายทรัพยากรของตนเอง ผ่านการจัดสรรบุคลากรให้อยู่ในตำแหน่งงานที่เหมาะสมได้

เนื่องจากโคบอทถูกใช้เพื่อการทำงานที่ทำซ้ำ ๆ และมีอันตราย ทำให้พนักงานมีเวลาว่างในการเพิ่มพูนทักษะของตนเองเพื่อรับผิดชอบงานที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ อาทิ การควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการออกแบบและใช้งานโซลูชั่นเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจหรือกระบวนการผลิต

ระบบอัตโนมัติช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับขนาดและขยายบริการของตนได้โดยไม่ต้องมีจำนวนพนักงานมากเกินไป โดยพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถให้บริการลูกค้าและรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างง่ายดาย จึงช่วยเพิ่มผลกำไรให้สูงขึ้นไปพร้อมกับการเพิ่มความเที่ยงตรงและความรวดเร็วของบริการ ซึ่งในท้ายที่สุด ก็คือการช่วยเพิ่มกำลังการผลิตนั่นเอง

การนำโคบอทของบริษัทของยูนิเวอร์ซัล โรบอทส์ มาใช้งานที่บริษัทเจวีซีอิเล็กทรอนิกส์อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ภาพและเสียง รวมถึงระบบนำทางสำหรับรถยนต์ สามารถช่วยลดภาระของคนงานซึ่งต้องทำงานสกปรกและงานซ้ำ ๆ กันได้เป็นอย่างดี โคบอทยังช่วยสร้างความแน่นอนของเวลางาน รวมถึงรอบเวลางานในขั้นตอนการทำงานเฉพาะด้าน พร้อมช่วยลดระยะเวลาต่อชิ้นงานได้ครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ โคบอทยังช่วยให้บริษัท JEIN ซึ่งต้องการเวลาครบวงงานที่รวดเร็วและข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ที่น้อยที่สุด ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตที่ 400,000 ชิ้นต่อเดือนได้อย่างสม่ำเสมอ การบูรณาการโคบอทเข้ากับระบบงานช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ราว 80,000 ดอลลาร์ พร้อมกับเพิ่มกำลังการผลิตและคุณภาพของชิ้นงาน

ด้วยการถือกำเนิดของโคบอท ทำให้ธุรกิจต่าง สามารถกำหนดสถานะขององค์กรได้ดีขึ้นในการปรับใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจควรใช้ประโยชน์อันมหาศาลของโคบอท เพื่อให้สามารถรักษาความยั่งยืนทางธุรกิจไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล   

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924