“สำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน” เตรียมวางหลักเกณฑ์ เพื่อมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการ เริ่มทยอยคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ตามมติ ครม. ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 21.5 ล้านคน ตั้งแต่ มี.ค. 63 นี้ เน้นให้สิทธิผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อมรับเงินทันที หวังส่งเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ. คาดว่า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเริ่มทยอยคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติที่พร้อมก่อน โดยจะทยอยคืนให้ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก รวมประมาณ 21.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท
“กกพ. ได้มีการเรียกประชุมหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง
และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
พร้อมกับได้ให้นโยบายการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่มีอยู่ประมาณ 21.5 ล้านรายทั่วประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี
เน้นทยอยคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติพร้อมเป็นอันดับแรก
โดยหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
และสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น คาดว่าจะเร่งออกหลักเกณฑ์
และแนวปฏิบัติในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ได้ภายในเดือนนี้”
นายคมกฤช กล่าว
มาตรการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
เป็นมาตรการล่าสุดของสำนักงาน กกพ.
ซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อการยกระดับการคุ้มครองสิทธิ
และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทยอยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ได้แก่ การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย
การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่
และล่าสุดมาตรการคืนเงิน
ดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่มีผลบังคับใช้ และเริ่มคืนดอกผลผ่านส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า
รายย่อย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายคมกฤช กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการดำเนินการของ กกพ.
นอกจากมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงานได้อย่างครอบคลุมให้มากที่สุดแล้ว
ยังต้องคำนึงถึงการดูแลผลกระทบ และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
เพื่อความมั่นคง และคุณภาพการให้บริการ
เป็นหลักด้วย
สำหรับรูปแบบการคืนเงินประกัน แนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการขอรับเงินคืน รวมทั้งการซักซ้อมเตรียมความพร้อมในการดำเนินการระหว่าง กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะมีการประชุมสรุปหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณาการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้