Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

สสว.เปิดโพลสำรวจเอสเอ็มอี

สสว. เปิดผลสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ระบุ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 78.9% อยากให้รัฐขยายมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนใหญ่อยากให้ขยายไปอีกไม่เกิน 6 เดือน พบเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 84.6% จะไม่ลดคนงานและค่าจ้างหลังวิกฤติโควิด-19 ช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้มาก

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในช่วงวันที่ 20-27 มิถุนายน 2563 จากผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,582 ราย จาก 21 สาขาธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น ภาคการผลิต 618 ราย ภาคการค้า 912 ราย และภาคการบริการ 1,052 ราย ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

โดยผลการสำรวจ พบว่าธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกู้ยืม จำนวน 1,434 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.5  และธุรกิจ SME ที่มีการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,148 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.5 ซึ่งแหล่งกู้ยืมเงินของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กู้ยืมเงิน  จากสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 87.8 และกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 12.2  ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามประเภทแหล่งเงินกู้ที่ธุรกิจ SME เลือกกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน พบว่ากู้ยืมจากธนาคารมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.2 และรองลงมาคือการกู้ยืมจากไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง คิดเป็นร้อยละ 12.3 และบัตรเครดิตหรือ   บัตรกดเงินสด คิดเป็นร้อยละ 5.5 ในส่วนแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน พบว่าธุรกิจมีการกู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.3 รองลงมา คือ การกู้ยืมจากกองแชร์ คิดเป็นร้อยละ 3.0 การกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้ คิดเป็นร้อยละ 1.6

สำหรับ ประเด็นคำถามภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการ SME มองว่า มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ควรขยายระยะเวลาในการช่วยเหลือหรือไม่ พบว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มองว่าควรขยายระยะเวลามาตรการต่อไป คิดเป็นร้อยละ 78.9 และผู้ประกอบการ SME ที่มองว่า ยังไม่ควรขยายระยะเวลามาตรการ คิดเป็นร้อยละ 21.1 ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME มีความเห็นว่าควรขยายระยะเวลาต่อจากมาตรการเดิมมองว่าควรจะขยายเป็นระยะเวลาเท่าไร พบว่า ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าควรขยายเวลาต่อจากเดิมไม่เกิน 6 เดือน   คิดเป็นร้อยละ 48.1 รองลงมา คือ ควรขยายเวลาจากเดิมไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 26.7 และลำดับอื่นๆ ซึ่งจากความคิดเห็นทั้งหมดของผู้ประกอบการ SME พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ควรขยายระยะเวลาของมาตรการต่อจากเดิม    คือ 4.7 เดือน

ส่วนประเภทเงินกู้ที่ผู้ประกอบการมองว่าควรขยายระยะเวลามากที่สุด พบว่าประเภทเงินกู้สินเชื่อธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 39.8 รองลงมา คือ สินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็นร้อยละ 23.6 สินเชื่อรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 11.1 สินเชื่อบ้าน   คิดเป็นร้อยละ 8.7 วงเงินกู้ประจำ คิดเป็นร้อยละ 7.4 สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 6.1 ขณะที่ประเด็นมาตรการช่วยเหลือการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในกิจการแบบใด ที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจมากที่สุด คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ         คิดเป็นร้อยละ 59.6 รองลงมา คือ การกู้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน คิดเป็นร้อยละ 31.2 วงเงินกู้ประจำ คิดเป็น     ร้อยละ 4.3  และการเบิกเงินเกินบัญชี คิดเป็นร้อยละ 3.9% 

ทั้งนี้ จากประเด็นคำถามวงเงินกู้สินเชื่อที่ธุรกิจต้องการจากมาตรการของภาครัฐ และระยะเวลาสินเชื่อ  ที่ต้องการเพื่อใช้จ่ายในกิจการ ซึ่งถูกรวบรวมและจัดกลุ่มจากผู้ตอบแบบสอบถามในลักษณะปลายเปิด พิจารณา  จากผู้ประกอบการ SME ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และนำมาจัดกลุ่มเป็นช่วงคำตอบทั้งวงเงิน และระยะเวลาสินเชื่อ พบว่าธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ต้องการวงเงินกู้อยู่ในช่วง 1,000 – 50,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.3 รองลงมาคือวงเงินกู้ในช่วง 100,001 – 500,000 คิดเป็นร้อยละ 19.2 และวงเงินกู้ในช่วง 50,001 – 100,000 คิดเป็นร้อยละ 18.6 ส่วนระยะเวลาสินเชื่อที่ต้องการมากที่สุดคืออยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 26.0 รองลงมาคืออยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นร้อยละ 25.6 อยู่ในช่วงไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 15.8 และอยู่ในช่วงไม่เกิน   24 เดือน คิดเป็นร้อยละ 15 

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานการณ์การจ้างงานหลังโควิด-19 จากการสำรวจผู้ประกอบการทั้งหมด 2,582 ราย พบว่ากิจการมีจำนวนแรงงานเฉลี่ยทั้งหมด 8 คน (รวมสมาชิกในครอบครัวและเจ้าของธุรกิจ)  โดยแบ่งเป็นแรงงานเฉลี่ยที่เป็นสมาชิกในครอบครัว 2 คน ลูกจ้างประจำ 4 คน และลูกจ้างรายวัน 2 คน โดยค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 27.5 โดยในส่วนของกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี มีแรงงานเฉลี่ย 4 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 27.1 กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก มีแรงงานเฉลี่ย 12 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 28.3 และกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง มีแรงงานเฉลี่ย 119 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 24.3

ด้าน ประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน หลังโควิด-19 สำรวจข้อมูลจากคำถามปลายเปิด และนำมาวิเคราะห์เฉพาะกิจการที่มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างรายวันเท่านั้น พบว่า จำนวนแรงงาน และค่าจ้างแรงงาน กิจการส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 84.6 และร้อยละ 86.1 ตามลำดับ รองลงมา คือ มีการปรับลดจำนวนและค่าจ้างแรงงานลง คิดเป็นร้อยละ 12.0 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ ในส่วนโบนัส และค่าอาหาร ค่าที่พัก และ  ค่าเดินทางกิจการส่วนใหญ่ไม่มีให้อยู่แล้ว

“จากการที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ถึง 84.6% ตอบว่าจะไม่ลดแรงงานและลดค่าจ้างหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ลดความกังวลใจต่อปัญหาการว่างงานลงได้มาก เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มสำคัญในการจ้างแรงงานของประเทศที่มีจำนวนการจ้างงานเกือบ 14 ล้านคน” นายวีระพงศ์กล่าว

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924