Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

สสว.ทำฐานข้อมูล BigData ติดอาวุธ SME

สสว. เร่งอัพเดททะเบียนผู้ประกอบการ SME เพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดของสมาชิก พร้อมจัดทำฐานข้อมูล Big Data ติดอาวุธทางความคิดเหนือคู่แข่ง

สสว.ทำฐานข้อมูล BigData ติดอาวุธ SME

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การแข่งขันทางธุรกิจในยุคปัจจุบันนี้ ข้อมูลข่าวสารจะเป็นอาวุธที่สำคัญในการตัดสินว่า ใครจะแพ้หรือชนะ โดยผู้ที่ครอบครองฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อพยากรณ์แนวโน้มในอนาคตได้ชัดเจนและแม่นยำที่สุด จะได้เปรียบคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้น สสว. จึงได้ปฏิรูปฐานข้อมูลเอสเอ็มอีใหม่ ตั้งแต่การปรับปรุงข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้ขึ้นทะเบียนทั้งหมดให้เป็นปัจจุบัน เพื่อช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการกระตุ้นและฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน หรือกองทุนดอกเบี้ยต่ำ มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ และการเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อยกระดับหรือพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ การเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการต่อยอดการดำเนินธุรกิจสู่ตลาดในระดับสากล เป็นต้น ซึ่งหากทะเบียนข้อมูลของผู้ประกอบการมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ย่อมเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้ สสว. สามารถดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด ทันท่วงที และเหมาะกับความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม

“การปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียนผู้ประกอบการให้มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก สสว. มาขึ้นทะเบียนที่เว็บไซต์ www.sme.go.th หรือ ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-Stop Service center : OSS) ซึ่งมีสาขาอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนผู้ประกอบการที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการไว้แล้ว ก็ขอความร่วมมือในการติดต่อ แจ้งปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับ การดำเนินธุรกิจ ความต้องการด้านการส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงช่องทางการติดต่อ ให้ครบถ้วน สมบูรณ์ และเป็นปัจจุบัน” ผอ.สสว. ระบุ

นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สสว. ขอให้ความมั่นใจว่า การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างส่วนราชการกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำเบื้องต้น การส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยการขึ้นทะเบียนนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาด้านภาษี และไม่มีค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียน และข้อมูลของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้ จะไม่มีการนำไปเปิดเผยแก่หน่วยงานอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของเอสเอ็มอี อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ สสว.ยังได้บูรณาการด้านข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเอสเอ็มอี และจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในระบบ Big Data เพื่อให้เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลผู้ประกอบการของประเทศ ที่จะสามารถสะท้อนแนวโน้มทางธุรกิจและรองรับแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้อย่างต่อเนื่อง โดยฐานข้อมูล Big Data นี้ จะอยู่ในเว็บไซต์ของ สสว. ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ เข้ามาใช้งานได้อย่างทั่วถึง เพื่อนำไปวิเคราะห์ในการวางแผนธุรกิจ แนวโน้มของตลาด เทรนด์ของธุรกิจ และแนวทางการเริ่มธุรกิจใหม่ รวมทั้งการนำข้อมูลมาจัดทำแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลนี้ ยกระดับธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับ Big Data ของ สสว. นี้ จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. โครงสร้างธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้ดึงข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจของกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาประมวลผลและข้อมูลในส่วนของเอสเอ็มอีอย่างลงลึก ซึ่งแบ่งออกเป็นข้อมูลจำนวนผู้ประกอบการ จำนวนการจ้างงาน และจำนวนผู้ประกอบการใหม่ที่มีอายุธุรกิจ 0-3 ปี โดยข้อมูลในแต่ละส่วนนี้ ผู้ประกอบการสามารถเลือกศึกษาลงลึกได้ทั้งในระดับภูมิภาค จังหวัด ขนาดธุรกิจตั้งแต่ ไมโครเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมทั้งยังแยกย่อยเป็นภาคธุรกิจ และหมวดธุรกิจ โดยมีข้อมูลผู้ประกอบการทั้งประเทศกว่า 3.1 ล้านราย

2. โครงสร้างการกระจายรายได้ผู้ประกอบการ ที่จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ งบการเงิน ข้อมูลรายได้ของบุคคลธรรมดา และข้อมูลเปรียบเทียบงบการเงินตามผลประกอบการธุรกิจ  ที่จะแสดงข้อมูลของเอสเอ็มอีในเรื่องต้นทุนการขาย รายได้รวม ค่าใช้จ่ายรวม และหนี้สินรวม ทั้งภาพรวมทั้งประเทศ และแยกย่อยรายขนาดธุรกิจ ภูมิภาค จังหวัด ขนาดธุรกิจ ภาธุรกิจ และหมวดหมู่ธุรกิจ ซึ่งมีข้อมูลย้อนหลังไปจนถึงปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการเห็น เทรนด์ธุรกิจตั้งแต่ในอดีตและสามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้แม่นยำขึ้น

 3. โครงสร้างการส่งออกและนำเข้าของเอสเอ็มอี โดย สสว. ได้นำข้อมูลการส่งออกและนำเข้าจาก กรมศุลกากร มาประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นส่วนของเอสเอ็มอี ซึ่งข้อมูลนี้จะมีความสำคัญมากทำให้เห็นแนวโน้มของสินค้า โดยจะแสดงข้อมูลการนำเข้า ส่งออก ข้อมูลการค้าทางชายแดนของสินค้าทุกชนิด จำแนกรายประเทศ และภูมิภาค รวมทั้งแยกย่อยตามขนาดธุรกิจตั้งแต่ไมโครเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก และขนาดกลาง  ตลอดจนข้อมูลสถานการณ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้าของไทย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924