Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

สศอ.เผย MPI เดือน5 หดตัวร้อยละ23.19

สศอ.เผย โควิด-19 ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวร้อยละ 23.19 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  คาดเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนจะดีขึ้นหลังได้เงินหมุนเศรษฐกิจจากมาตรการเยียวยาและการคลายล็อกดาวน์ทั้งในและต่างประเทศ

สศอ.เผย MPI เดือน5 หดตัวร้อยละ23.19

    นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.19 โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศได้ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง รวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้ลดวันทำงานลง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ในเดือนพฤษภาคมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 26.86 เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 52.84 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นหลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.86 จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง การแปรรูปผักผลไม้ นม แป้งมันสำปะหลัง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.07 นับเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

    นายอิทธิชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนพฤษภาคม 2563 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โรงงานยังคงหยุดสายการผลิต ประชาชนเริ่มทำงานที่บ้านจึงลดการเดินทางลง การหยุดกิจกรรมขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากต่างประเทศและถูกปิดช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนพฤษภาคม ได้แก่

    ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.89 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้เพิ่มสัดส่วนในการรับจ้างผลิตสินค้ามากขึ้นจากปีก่อนที่เน้นการผลิตตามแผนการตลาดของตัวเองเท่านั้น

    อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.15 โดยสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าและปลาซาร์ดีนที่มีมากในปีนี้

    เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.07 จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาครีม เนื่องจากมีความต้องการใช้ต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    นม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.99 จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบที่มีเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและพม่าเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

    อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.08 จากผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

    สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนจะกลับมาดีขึ้น โดยจะได้เงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจากมาตรการเงินเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลในส่วนต่าง ๆ ที่คืบหน้าค่อนข้างมาก อาทิ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่ให้ความช่วยเหลือสำเร็จแล้วกว่าร้อยละ 99 รวมถึงการผ่อนคลายให้กิจกรรมและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ โดยการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 มิถุนายน และระยะที่ 4 ที่เริ่มวันที่ 15 มิถุนายน จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการต่อได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมรวมถึงภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับในหลายประเทศที่มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง นายอิทธิชัย กล่าวปิดท้าย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924