Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

สศอ. เสนอ 5 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล

สศอ. เสนอ 5 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล สร้างมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 6 ผลิตภัณฑ์ รุกตลาดเป็นผู้นำในอาเซียน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างมาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ในฐานะที่ สศอ. เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ภายใต้ กนป. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดรับกับการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ของรัฐบาล อีกทั้งเป็นการดูดซับผลผลิตปาล์ม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายทองชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 6 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน (Base oil) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Transformer oil) ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สารตั้งต้น MES) (Methyl Ester Sulfonate : MES) น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ    (Bio Lubricants and Greases) พาราฟิน (Paraffin) และสารกำจัดศัตรูพืช/แมลง (Pesticides/Insecticides) รวมทั้งได้กำหนดมาตรการและแนวทางการขับเคลื่อนใน 5 ด้าน ได้แก่

1. ด้านกระบวนการผลิต เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม เช่น การขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

2. ด้านมาตรฐานและการทดสอบ เช่น การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

3. ด้านสิทธิประโยชน์ เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน

4. ด้านอุปสงค์ เช่น มาตรการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ

5. ด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการส่งเสริม/สิทธิประโยชน์ภายใต้ EEC เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ กนป. จะนำมติที่ประชุมฯ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลต่อไป
อย่างไรก็ตาม การผลิตในช่วงแรกจะเป็นการผลิตเพื่อทดแทนสารตั้งต้นจากปิโตรเลียมก่อนโดยมีแผนที่จะส่งออกในอนาคตเนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการมาก โดยความต้องการในผลิตภัณฑ์เป้าหมายมีปริมาณสูงถึงประมาณ 53 ล้านตันต่อปี ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยในปี 2563 ประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil)    ประมาณ 2.974 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาท การใช้ภายในประเทศเป็นหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบริโภค ด้านพลังงาน (Biodiesel)  และด้านส่งออก มีสัดส่วนด้านพลังงานมากที่สุดถึงร้อยละ 46 รองลงมาคือด้านบริโภคร้อยละ 39 และด้านส่งออกเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ หากได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการและแนวทางดังกล่าวจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตอบสนองกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทั้งเป็นการดูดซับผลผลิตปาล์ม  ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924