สมอ. ผนึกกำลังประเทศอาเซียน เพิ่มศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ตั้งเป้าปี 63 กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากยางเพิ่มอีก 10 มาตรฐาน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทยนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกยางพารา จำนวนกว่า 147,343.4 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง จำนวนกว่า 353,442.9 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากยางพาราแล้ว จำนวน 168 มาตรฐาน และมีแผนการกำหนดเพิ่มอีกในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 10 มาตรฐาน เช่น แผ่นยางปูทางผ่านเสมอระดับรถไฟ แผ่นยางปูพื้นสำหรับผู้พิการทางสายตา และยางรัดเอวพยุงหลัง ฯลฯ
ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราธรรมชาติของไทย และในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สมอ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์ยาง (Rubber-Based Product Working Group – RBPWG) ภายใต้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน (ASEAN Consultative Committee for Standards and Quality – ACCSQ) ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยโดย ดร.วราภรณ์ ขจรไชยกูล ประธานกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 29 ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ทำหน้าที่เป็นรองประธานการประชุม (Vice-Chair) โดยมุ่งเน้นการพิจารณาแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ประจำปี 2563 – 2568 (Strategic Plan 2020 – 2025) ซึ่งจะผลักดันกิจกรรมสำคัญ คือ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางที่มีนวัตกรรมด้านการมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางที่มีนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
อีกทั้งเป็นวาระที่ประเทศไทยเป็นแกนนำ (Lead Country) ในการพิจารณากำหนดจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับมาตรฐานใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ยางในการประชุม ISO/TC 45 – Rubber and rubber products ด้วย ซึ่ง สมอ. ตั้งเป้าหมายจะทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน ACCSQ RBPWG ในการประชุมครั้งถัดไป ในปี 2563
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวยังจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการห้องปฏิบัติการยางของอาเซียน (ASEAN Rubber Testing Laboratory Committee – ARTLC) ขึ้นเป็นครั้งแรก ประเทศไทยโดย ดร.กฤษฎา สุชีวะ ที่ปรึกษากลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างห้องปฏิบัติการยางของอาเซียนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการยกระดับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพิ่มศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของอาเซียน อันจะส่งผลดีกับผลิตภัณฑ์ยางของไทยที่มีศักยภาพสูงในตลาดโลก อาทิ ผลิตภัณฑ์แผ่นยางและถุงมือยาง อีกด้วย