รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มอบนโยบายกระทรวงพลังงาน เน้นสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานเพื่อสู่การเป็นฮับพลังงานอาเซียน ใช้ความแข็งแกร่งของ ปตท. เป็นหัวหอกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร การสนับสนุน Start Up ด้านพลังงาน และการใช้ Big Data อย่างจริงจังมาบริหารจัดการวางนโยบายพลังงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมประชาชนที่ปรับเปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน
นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบาย ด้านพลังงานแก่กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ และร่วมรับมอบนโยบาย โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญโดยสรุป ดังนี้
1.เรื่องการจัดหาพลังงานมีความสำคัญ เพราะไม่ใช่เพียงการบริหารพลังงานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเท่านั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ต้องมองระดับภูมิภาคด้วย เพราะไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นศูนย์กลางเป็นผู้นำด้านพลังงานอาเซียนได้
2.กองทุนด้านพลังงานที่มีอยู่ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งอดีตเคยแบกหนี้นับแสนล้านบาท ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง มีเงินสะสมอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งรวมถึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็น่าจะใช้เวลาช่วงนี้เป็นโอกาสนำงบที่มีอยู่ตามกองทุนพลังงานต่างๆ ไปพัฒนานโยบายด้านพลังงานทางเลือกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะการพึ่งพาฟอสซิลคงอยู่ไม่ได้นานถึง 20 ปี
3.เรื่องการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงาน เป็นมิติด้านเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มอบเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเรื่องค่าพลังงาน หรือแม้แต่ระบบภาษีจะใช้มาตรฐานเดียวกันระหว่างคนมีรายได้น้อย กับคนรวยเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เราจะใช้มาตรฐานแบบต่างชาติกำหนดไม่ได้ ควรดูให้เหมาะกับทางปฏิบัติกับสังคมไทยมากกว่า พร้อมมอบภารกิจ ให้ ปตท. และรัฐวิสาหกิจในเครือเป็นหัวหอกด้านการจัดทำโมเดลธุรกิจให้ชาวบ้านหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ผ่านช่องทางปั๊มน้ำมันของปตท. โดยเปิดให้เป็นสถานที่กลางในการซื้อขายสินค้าของชาวบ้าน ซึ่งรวมถึงเรื่องปุ๋ยที่เป็นต้นทุนหลักของเกษตรกรด้วย หรือโมเดลการทำธุรกิจห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาผลไม้ในแหล่งที่เป็นศูนย์กลาง เช่น ที่จ.ระยอง และชุมพร โดยมองว่า ปตท.และรัฐวิสาหกิจในเครือ จะต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานที่จรรโลงสังคมด้วย ไม่ใช่องค์กรเพื่อแสวงกำไรอย่างเดียว ซึ่งหากได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้คืนกลับสู่สังคม ปตท.ก็จะถูกโจมตีน้อยลงแน่นอน
4.การสนับสนุน Start Up ด้านพลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตัวอย่างในจีนก็เติบโตมาได้ด้วย Start Up ที่มีนับแสนราย ซึ่งคนรุ่นใหม่จะมีส่วนช่วยคิดค้น มองศักยภาพการพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ควรนำ Smart Farmer ที่ ธกส.มีข้อมูลอยู่ประมาณหมื่นกว่ารายมาร่วมงานเพื่อสานต่อให้เกิดรูปธรรมต่อไป
5.เรื่อง Big Data ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเหมือนตาบอดคลำช้าง มีข้อมูลต่างๆที่ยังไม่เชื่อมโยงอย่างจริงจัง ประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนน้อย แต่ปัจจุบันมีกลไกต่างๆ ในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ทั้งระบบพร้อมเพย์ที่กำลังพัฒนาได้ทั้งรับและจ่าย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้จะเริ่มเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น จะทำให้การวางนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวสรุปภาพรวมนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการ ว่า มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การลดความเหลื่อมล้ำ 2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลไกด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผ่านโครงสร้างพลังงานชุมชน จากความร่วมมือของชุมชนและผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SMEs เพื่อช่วยลดภาระพี่น้องประชาชน โดยดำเนินการให้สอดรับกับแผนและนโยบายของกระทรวงพลังงาน รวมถึงการยกระดับชุมชนที่นอกเหนือจากเรื่องพลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะร่วมกับ ปตท. ในการศึกษาเรื่องการเป็นสหกรณ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าชุมชน ยกระดับทั้งแพ็กเกจจิ้ง แบรนด์ดิ้ง จากมาเก็ตเพลสเป็นระดับอีคอมเมิร์ซ
ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้รายงานในที่ประชุมฯ ถึงวิสัยทัศน์ของกระทรวงพลังงานที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.พลังงานเพื่อทุกคน (Energy For All) 2.บริหารจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยี Big Data และAI (Artificial Intelligence) และ 3.เป็นผู้นำด้านพลังงานอาเซียน ซึ่งในการเดินไปสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าวจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ ทั้งการสร้างสมดุลด้านเชื้อเพลิง การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน การสร้างรายได้ให้ชุมชน การช่วยเหลือประชาชนรอบโรงไฟฟ้า การจัดหาพลังงานอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การดูแลค่าครองชีพด้านพลังงาน รวมถึงการมีนวัตกรรมรองรับพลังงานรูปแบบใหม่
สำหรับ ภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าด้านพลังงานมี 6 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การกำหนดรูปแบบ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้าน LPG และ NGV การระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียม การชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า การกำหนด Road Map ของน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล B10 และ B20 การจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (AMEM) 2 – 6 กันยายน 2562 และการหาข้อยุติการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1.5 ล้านตันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานในระยะ 6 เดือน ได้วางอยู่บนหลักการสำคัญคือ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะดำเนินการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงานทั้งราคา LPG และ NGV , จัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, จัดทำโมเดลของโรงไฟฟ้าชุมชน และแนวทางช่วยเหลือประชาชนรอบโรงไฟฟ้า ด้านการเพิ่มขีดความสามารถ จะปรับสมดุลเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า, จะบรรลุข้อตกลงขยายการส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาวผ่านไทยไปมาเลเซียเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเดือนกันยายนนี้ และทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ทั้งแผนไฟฟ้า(PDP) แผนพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนด้านก๊าซ (Gas Plan) และแผนด้านน้ำมัน (Oil Plan) ด้านการสร้างความยั่งยืน จะจัดทำ Road Map การพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซล B10 / B20 และจะจัดสรรงบและเริ่มดำเนินโครงการภายใต้การส่งเสริมของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2563 วงเงิน 12,000 ล้านบาท