รมว.พลังงาน ตอบรับเข้าร่วมประชุม “Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables” ร่วมแบ่งปันแนวคิดและบูรณาการด้านพลังงานทดแทน สนองรูปแบบการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย้ำพลังงานไทยต้องเพื่อทุกคน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม “Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables” ซึ่งจัดโดยกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry for Economic Affairs) และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ที่ BMWi Headquarters ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยการประชุมครั้งนี้ มีนายปีเตอร์ อัลท์ไมเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ ดร.ฟาตี บิโรล ผู้อำนวยการ IEA เป็นผู้เปิดงานประชุมร่วมกัน โดย การประชุม Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables นี้เป็นการประชุมที่เปิดเฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศรวมทั้งไทยด้วย
การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวทาง นโยบาย ข้อคิดเห็น แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการส่งเสริมระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กำลังเปลี่ยนสัดส่วนพลังงานทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องการความยืดหยุ่นของระบบเพื่อที่จะบูรณาการในแบบที่ปลอดภัยและคุ้มค่าต่อราคา รวมทั้งเพื่อมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน การนำ 2 ประเด็นหลักมาบูรณาการกันจึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนจาก “ ความท้าทาย ” มาเป็น “ โอกาส ”
“การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะทำให้ไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์การจัดการระบบไฟฟ้าจากหลากหลายประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและลมที่สูง และยังเป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่า ไทยเราก็สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังเพื่อ ทุกคน และเป็นโอกาสได้แสดงบทบาทประธานอาเซียนในฐานะการเป็นผู้นำอาเซียนในด้านพลังงานหมุนเวียน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นอกเหนือจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะได้รับเกียรติให้แสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ
“ ความสำเร็จของพลังงานหมุนเวียน โอกาสของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำ ” แล้ว จะได้เข้าร่วมพิธีการลงนาม MOU ระหว่าง Stadtwerke Rosenheim ประเทศออสเตรีย กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อศึกษารูปแบบของการจัดการพลังงานไฟฟ้าและความร้อนในระดับชุมชนที่ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและมีการตัดสินใจร่วมกัน รวมทั้งยังมีแผนเดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเทคโนโลยี Gas Engines มีการใช้ขยะชีวภาพ ผลผลิตจากการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย