Automation หรือระบบอัตโนมัติที่กลายเป็นกำลังหลักแห่งอุตสาหกรรมสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรม 4.0 นั้นเป็นเทรนด์การผลิตที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่รู้กันหรือไม่ว่าทำไมผู้ผลิตทั้งหลายจึงให้ความสำคัญกับระบบออโตเมชันนี้ และข้อควรระวังมีอะไรบ้าง?
Automation คือ?
ออโตเมชันเป็นการต่อยอดศักยภาพการทำงานของเครื่องจักรที่ช่วยมนุษย์ในการจัดการกิจกรรมการผลิตรวมถึงห่วงโซ่อื่นๆ โดยปรกติแล้วเครื่องจักรแต่ละชนิดจะทำงานแยกตามคำสั่งซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีมนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจ ระบบออโตเมชันนั้นสามารถทำงานแทนมนุษย์ด้วยการใช้การตั้งโปรแกรมคำสั่งผ่านระบบตรรกะหรือส่วนควบคุมที่เราเรียกกันว่า Programmable Logic Controller (PLC)
ออโตเมชันในงานอุตสาหกรรมนั้น เป็นการผสมผสาการทำงานระหว่างคอมพิวเตอร์และเครื่องจักร ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีหลากหลายชนิดและระบบควบคุมอัตโนมัติที่สามารถตัดสินใจในการทำงานต่างๆ ตามเงื่อนไขที่ตั้งค่าเอาไว้ได้ ซึ่งการใช้งานออโตเมชันนั้นมีทั้งจุดเด่นและจุดที่พึงระวังแตกต่างกัน
แรงงานได้อะไรจากออโตเมชัน?
การเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของออโตเมชันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานของแรงงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการณ์ไปจนถึงผู้จัดการโรงงาน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
จุดเด่น
- เพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน
- ลดระยะเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอนลง
- ลดความเมื่อยล้าหรือภาระของร่างกายนการทำงานที่เกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มศักยภาพในการทำงานให้มีความแม่นยำเที่ยงตรง
- ทำให้สามารถโฟกัสกับหน้าที่ซึ่งมีความสำคัญของตนเองได้มากขึ้น
ข้อควรระวัง
- รูปแบบและบทบาทการทำงานเปลี่ยนแปลงไป
- ต้องการความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้นเพื่อจัดการกับเทคโนโลยี
- หากไม่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องอาจขาดคุณสมบัตินการทำงานได้
ทำไมผู้ผลิตถึงต้องเปลี่ยนเป็นออโตเมชัน?
ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เกี่ยวไขว้กันไปมา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค พื้นที่ตลาดซึ่งถูกกระจายส่วนแบ่งด้วยเทคโนโลยี เช่น กลุ่ม Startup อุปนิสัยของผู็บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็ว รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมอีกด้วย การใช้ออโตเมชันสำหรับผู้ผลิตน่าสนใจและต้องระวังอะไรบ้าง?
จุดเด่น
- เพิ่มผลิตภาพของการทำงาน
- สามารถแสดงผลและเก็บข้อมูลการทำงานได้อย่างละเอียด
- วิเคราะห์และวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สร้าง Lean ในการทำงาน
- ลดต้นทุนในระยะยาว
- สะดวกสบายในการบริหารจัดการการผลิตและโลจิสติกส์
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน
- วางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มคุณภาพสินค้า
- สร้างความมั่นใจในมาตรฐานการผลิต
ข้อควรระวัง
- มีการลงทุนสูง
- ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการวางแผนลงทุนที่เหมาะสมกับรูปแบบการผลิต
- การคืนทุนอาจใช้เวลานานขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ
- ต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี
- ต้องการการดูแลและซ่อมบำรุงมากกว่าระบบที่มีมนุษย์เป็นกลไกหลัก
ตลาดอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นถูกผลักดันโดยออโตเมชันเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขัน การใช้งานออโตเมชันเติมเต็มปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน เช่น สังคมผู้สูงอายุ แรงงานฝีมือ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายการผลิตเช่น การเปลี่ยนแปลงแรงงานทักษะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนที่แตกต่างไปนั้นเป็นเรื่องของการลงทุนทั้งเวลารวมถึงงบประมาณแต่การใช้ระบบออโตเมชันสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่การตั้งค่าการทำงานและปรับ Layout การผลิต ยกตัวอย่างประเทศจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคแห่งหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับการผลิตซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพการลิตได้ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ โดยในปี 2017 มีการนำเข้าหุ่นยนต์กว่า 103,191 ตัว เพิ่มขึ้น 71.9% จากปี 2016 ซึ่งการเติบโตทั่วโลกคิดเป็น 31% เมื่อเทียบปีต่อปีและมีจีนเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของปี 2017 นี้
สำหรับแรงงานกับการเปลี่ยนแปลงบทบาท ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมจะมีความสำคัญขึ้นอย่างมาก ตลาดแรงงานต้องการแรงานทักษะในขณะที่งานผลิตรูปแบบ Routine จะมีหุ่นยนต์คอยรับหน้าที่แทน สิ่งสำคัญของแรงงาน คือ การไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากความรู้ไม่ได้รับการพัฒนาต่อเติมท่ามกลางพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้สุดท้ายอาชีพที่เคยมีอาจหลุดลอยไป และแน่นอนว่าไม่อาจกล่าวโทษเทคโนโลยีได้เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกันทั่วโลก และเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคล้ายๆ กันนี้ซ้ำๆ นับครั้งไม่ถ้วนแต่แรงงานก็ยังคงอยู่มาจนยุคปัจจุบัน…
เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีและชาญฉลาดจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับผู้นำที่พลั้งเผลอสามารถถูกช่วงชิงพื้นที่ได้เช่นกัน ทำให้การลงทุนด้านออโตเมชันนั้นนอกจากจะลงทุนด้านเทโนโลยีแล้วยังต้องการวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงอีกด้วยจึงจะเกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน
อ้างอิง:
- electricaltechnology.org/2015/09/what-is-industrial-automation.html
- economicshelp.org/blog/25163/economics/automation/
- mmthailand.com