Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจลงทุนเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ จาก iN-EXPERIENCE

การแข่งขันในธุรกิจอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมสำหรับการใช้งานเทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) IIoT หรือเทคโนโลยีจำลองทั้งหลายที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะที่เกิดขึ้นทั่วโลกในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อาจมีศักยภาพและเงินทุนที่พร้อมสำหรับการคิดพิจารณาตัดสินใจในการลงทุนเหล่านี้ แต่สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กอาจกลายเป็นภาระที่หาทางออกและตัดสินใจได้ยากยิ่ง การเตรียมความพร้อมสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนหรือไม่ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในกิจกรรมการทำงานและสายอาชีพอันหลากหลายนั้นมีเพียงไม่กี่อาชีพที่สามารถใช้การทำงานอัตโนมัติแบบ 100% ได้ ในขณะเดียวกัน 60% ของตำแหน่งงานทั้งหมดมีกิจกรรมทางเทคนิคที่สามารถใช้งานโดยระบบอัตโนมัติได้อย่างน้อย 30% หรือในกรณีที่มีการใช้งานเทคโนโลยีสำหรับจำลองสายการผลิตสามารถเพิ่ม Productivity ได้ 20% นอกจากนี้การมาถึงของ IoT หรือ IIoT ยังสนับสนุนการทำงานแบบ Real-Time ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 24/7 จากสถานที่ใดก็ได้ที่มีเครือข่ายออนไลน์ รวมถึงการลดต้นทุนด้วยการทำงานบน Cloud ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผล การจัดหาฮาร์ดแวร์ราคาสูง และเช่าซื้อซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย

แม้การลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่จะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างชัดเจน วัดผลได้ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่สำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทยส่วนหนึ่งยังคงไม่มั่นใจในการลงทุนนี้ด้วยปัจจัยอันหลากหลาย ไม่ว่าจะความเข้าใจในตัวเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ ค่านิยมที่อาจจะเป็นการเข้าใจผิด รวมไปถึงปัญหาด้านเงินทุนอีกด้วย

 

ลงทุนเทคโนโลยี มีทั้งมายาคติและเรื่องจริงที่เป็นไปได้

เมื่อพูดถึงการลงทุนในเทคโนโลยีอาจเป็นได้ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่และการลงทุนเฉพาะจุด หลายคนอาจคุ้นชินกับการซื้อเครื่องจักรสำคัญ ๆ เท่านั้น ในขณะที่ระบบการจัดการอื่นอาจถูกละเลยไป ทั้งที่ในแต่ละภาคส่วนนั้นต้องการการเก็บข้อมูลรและการประเมินผลที่ชัดเจนเพื่อสร้าง Lean ไม่แตกต่างกัน

เมื่อคุยกันเรื่องระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Smart Factory หลายคนมักนึกถึงภาพการลงทุนทั้งระบบด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก จินตนาการถึงการทำงานที่มีแต่ AI หรือหวาดกลัวกับการถูกเลิกจ้างของแรงงาน สิ่งที่อยากบอกกับทุกคนอีกครั้งและแม้จะอีกกี่ครั้งก็ตามว่า ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ส่วนมากเป็นมายาคติ (Myhtologies) ที่ถูกทำให้เชื่อด้วยปัจจัยต่าง ๆ ในขณะที่ประเด็นเหล่านี้เป็นเพียงความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งที่ ‘มีทางออก’ สำหรับความกลัวเหล่านี้ทั้งหมดภายใต้การพิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมสำหรับธุรกิจ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการและรูปแบบในการลงทุนที่ไม่ตายตัว ดังนั้นรูปแบบการลงทุนสำหรับธุรกิจหนึ่งหรือแม้แต่คนละบริษัทภายใต้ธุรกิจเดียวกันจึงไม่สามารถใช้งานด้วยกันได้เสมอไป การวางแผนการลงทุนและการเตรียมพร้อมต่าง ๆ จึงต้องทำในลักษณะที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจของบริษัทหนึ่ง ๆ 

“หัวใจสำคัญ คือ เผชิญหน้ากับ Disruption และเปลี่ยนแปลงเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าทำมันอีกสิบปีให้หลัง คุณสู้นวัตกรรมไม่ได้หรอก”

Ryan Kavanaugh นักธุรกิจ นักการเงินชาวอเมริกัน

5 ปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนเทคโนโลยี

ในการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีนั้นต้องการความพร้อมที่เป็นองค์ประกอบมากมายเนื่องจากเป็นการนำศาสตร์และความรู้ของเทคโนโลยี Operation Technology (OT) และ Information Technology (IT) มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ซึ่งต้องการทักษะและความเข้าใจที่มากกว่าการทำงานเฉพาะเทคโนโลยีหนึ่งใดเพียงอย่างเดียว โดยเบื้องต้นมีปัจจัยสำคัญในการลงทุน ดังนี้

  1. ความเป็นไปได้ทางเทคนิค
  2. ต้นทุนสำหรับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมโซลูชัน
  3. ศักยภาพแรงงาน
  4. ผลตอบรับทางเศรษฐศาสตร์
  5. กฏระเบียบและการยอมรับของสังคม

อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ในภาคการลงทุนหรือการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาเสริมทัพการทำงาน การเริ่มต้นหรือการใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทุนทั้งระบบพร้อมกันแต่สามารถลงทุนเฉพาะหน่วยหรือส่วนเล็ก ๆ ที่มองเห็นปัญหาและความจำเป็นในการปรับปรุงก่อนก็เป็นได้เช่นกัน สิ่งสำคัญ คือ การเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองจริง ๆ

“คุณสามารถลงทุนแบบ Modular หรือเฉพาะกระบวนการที่เห็นว่ามีความจำเป็นได้” 

iN-EXPERIENCE

 

12 ประเด็นต้องรู้หากต้องการใช้งานออโตเมชัน

ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของการลงทุนระบบอัตโนมัติของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ว่าเทรนด์ ความเปลี่ยนแปลงของตลาด การขาดแคลนแรงงาน ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นสำหรับการใช้งานออโตเมชันเป็นเสมือนดาบสองคมที่ต้องมีการดำเนินการด้วยความเข้าใจมิเช่นนั้นแล้วอาจนำไปสู่การล่มสลายหรือความสูญเปล่าอันเป็นภาระของธุรกิจได้ ดังนั้นก่อนที่จะถลำลึกไปกับความฝันและภาพความสำเร็จของธุรกิจอื่น ๆ รวมไปถึงคู่แข่งโดยไม่เข้าใจถึงปัญหา ลำดับความสำคัญ และคว่ามเร่งด่วนที่เกิดขึ้น โดยในเบื้องต้นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่

  1. จะลงทุนเมื่อไหร่และทำไม? การเข้าใจถึงกลไกขับเคลื่อนของตลาดที่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้บริโภคนั้นส่งผลกระทบต่อการวางแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจ เช่น สินค้าใหม่ หรือการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
  2. จะเริ่มต้นที่อย่างไร ต้องทำการวิเคราะห์เป้าหมายระยะยาวของธุรกิจ และวางแผนลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางของเป้าหมายนั้น
  3. ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จัดตั้งทีมที่มีศักยภาพซึ่งจะเป็นตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและใช้งานระบบให่เกิดการพัฒนา ซึ่งผู้จัดการโครงการต้องเป็นหัวหน้าที่มองภาพให้ออกทั้งระบบ
  4. การคัดเลือกซัพพลายเออร์ ตัดสินใจว่าบริษัทใดจะเป็นซัพพลายเออร์ที่ซึ่งคุณสามารถเชื่อใจ วางใจ และมั่นใจได้
  5. ระบุโซลูชัน เมื่อเลือกบริษัทที่จะมาสร้างระบบให้ได้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องลงรายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะป็นความต้องการ ความเสี่ยง ผลลัพธ์ขั้นต่ำที่คาดหวังของระบบ ประมาณพื้นที่ใช้งาน เป็นต้น
  6. ความสมเหตุสมผล การลงทุนจะต้องเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับลำดับความสำคัญซึ่งอย่างน้อยต้องสามารถวัดผลในเชิงปริมาณหรือตัวเลขได้ หลายครั้งที่พบว่าการลงทุนนั้นไม่ได้เกิดจากความเข้าใจเป็นอย่างดี ขาดการประเมินผลกำไร-ขาดทุนที่อ้างอิงอยู่บนความเป็นจริง
  7. สัญญา การเซ็นสัญญากับซัพพลายเออร์ต้องมีการระบุกรณีและเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ขอบเขตการสนับสนุนและรับประกันทางด้านเทคนิค การประกันอัตราการผลิต การอบรมเป็นต้น
  8. การมอนิเตอร์ติดตามโครงการ การวางแผนโครงการให้มีจุดร่วมของภาคจัดซื้อและฝ่ายผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็นในการวัดประเมิณผล ตัวอย่างแผนหรือตารางในแต่ละช่วงที่ต้องครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น การวางผนกระบวนการ การออกแบบทางวิศวกรรมและรีวิวการออกแบบ การทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ ช่วงเวลา Debug การ Runoff รวมถึงการติดตั้งและเริ่มใช้งานครั้งแรก นับเป็นการทำงานควบคู่กันไปของหัวหน้าโครงการทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้จัดจำหน่าย
  9. การฝึกอบรม ทั้งผู้ซื้อและผู้จัดจำหน่ายต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำการฝึกฝนแรงงานที่ได้คัดเลือกแล้วให้มีความพร้อมครบถ้วนสำหรับการใช้งานและการเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะในแง่มุมใด เช่น การติดตั้ง การเขียนโปรแกรม การระบุปัญหา ตารางการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน เป็นต้น
  10. Runoff และการรับมอบ ผู้ใช้งานและผู้จัดจำหน่ายต้องเห็นพ้องร่วมกันในการ Runoff ที่โรงงานของผู้จัดจำหน่ายก่อน เพื่อให้เห็นและยืนยันความสามารถในการทำงานก่อนที่จะติดตั้งในพื้นที่จริง และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงก่อนหน้าอย่างโปร่งใส 
  11. การติดตั้ง การเริ่มต้นการทำงาน และการรับมอบ ทั้งหมดต้องดำเนินตามข้อตกลงที่ได้ระบุไว้ได้อย่างน่าพึงพอใจ
  12. การตรวจสอบหลังการติดตั้ง เป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างชุดข้อมูลที่เที่ยงตรงและเสียงตอบรับจากการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสอบถามผู้จัดจำหน่ายว่าข้อมูลส่วนไหนมีความสำคัญหรือควรลำดับแะจัดเก็บอย่างไร

Wise Words From iN-EXPERIENCE

ในมุมมองของผู้ประกอบการบางรายอาจมองการลงทุนเทคโนโลยีเป็นเพียงสิ่งผิวเผินที่นำมาซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะที่สามารถพัฒนาและลงทุนให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้จริงไม่ว่าจะในโรงงานสัดส่วนขนาดใดก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องรู้ว่าตอนนี้คุณอยู่ตรงไหนและทำอะไร คุณต้องรู้ก่อนว่าฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ของคุณมีอะไรบ้าง จากนั้นจึงดูความสามารถของเครื่องจักรว่าสามารถเชื่อมต่อได้ไหม มีเซนเซอร์หรือเปล่า และเมื่อมีพื้นฐานที่ใช้งานได้แล้วจึงมาพิจารณาต่อว่าต้องการลงทุนเพิ่มเติมหรือใช้งานอย่างไรในส่วนไหน ต้องรู้ตัวเองให้ได้ว่าศักยภาพตัวเองอยู่จุดใดเพื่อที่จะก้าวต่อไปสู่ 4.0 ให้คิดเอาไว้เสมอว่า

“เทคโนโลยีนั้นระดับชีวิตและการทำงานสู่การปฏิบัติงานอัจฉริยะ เพื่อศักยภาพการทำงานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความสะดวกสบายของผู้ปฏิบัติงานเองก็ตาม รวมไปถึงสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผลประกอบการที่ดีขึ้น”

การวางแผนการลงทุนที่ดีและทำตามแผนทีละขั้นตอนจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ เพราะอย่างไรเสียคุณก็ไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดได้ มันเป็นสิ่งที่มากเกินไปและจะนำพามาแต่ความท้อใจและตัวเลขที่บอบช้ำ สิ่งที่คำนึงถึงอย่างแรกต้องพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงาน โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยหรือปัญหาที่แก้ไขแล้วยังคงมีอยู่ จากนั้นควรเตรียมเรื่องงบประมาณในส่วนที่ต้องการลงทุนโดยคิดถึงพื้นที่และสภาพแวดล้อม ในขณะที่ทักษะของผู้ใช้งานควรจะมีพื้นฐานด้านวิศวกรรม สามารถปรับแต่งการทำงานขั้นพื้นฐานได้

โดยผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีแนะนำว่าให้เข้าติดต่อทดลองและสัมผัสการใช้งานด้วยตัวเองเพื่อทำความเข้าใจ เปรียบเทียบกับกระบวนการหรือมิติที่มีอยู่เดิม เช่น ในกรณีของ 3D Printing แบบโลหะนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อผลิตและใช้ประเมินความเหมาะสมในการใช้งาน ทุกการลงทุนต้องมีความพร้อมเรื่องการคำนวณ การลงทุนออโตเมชันต้องมีวิสัยทัศน์ด้านการแข่งขัน การเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการแบบเก่า ซึ่งแน่นอนว่ามี ROI สูงกว่า แต่จะเหมาะ ดีพร้อมไหม ใช่เวลาหรือเปล่าเป็นอีกหนึ่งประเด็น แต่การลงทุนเหล่านี้สามารถเริ่มลงทุนระบบเล็กก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบใหญ่ทั้งหมด เมื่อมีความพร้อมสามารถต่อยอดขยายระบบได้

หากยังไม่แน่ใจในการลงทุนหรือพบว่ากระบวนการต่าง ๆ นั้นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่เกินขอบเขตการยอมรับได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความสูญเสียที่ไม่ทราบที่มา อาจต้องให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการซึ่งเป็นสะพานเชื่อมทุกมิติก่อน เช่น การศึกษาและลงทุนในด้าน ERP เพราะ ERP นั้นสามารถสนับสนุนการทำงานเก็บข้อมูลต่าง ๆ และแสดงผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสและความต่อเนื่องของกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี 

สำหรับความกังวลใจของแรงงานเกี่ยวกับกระแสความกลัวการถูกแย่งงานจะเกิดขึ้นทั่วโลกแต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเป็นวัฏจักรไม่รู้กี่ครั้ง เช่น 100 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำได้สร้างความวิตกไม่ต่างจากปัจจุบัน แต่แล้วไง? มนุษย์ก็ยังคงเดินต่อไป เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม งานที่จะถูกแทนที่นั้นสังเกตได้ว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานหรือการทำซ้ำ ๆ ในขณะที่งานที่ใช้ความคิดยังคงอยู่เช่นเดิม ถ้าจะบอกว่า AI จะมาแทนที่มันก็คงไม่ใช่เพราะ AI นั้นมีการทำงานตามขอบข่ายข้อมูลและหน้าที่ที่ถูกมอบหมาย หากเป็นงานที่ทำซ้ำไปซ้ำมานั่นแหละงานของ AI ในขณะที่งานของมนุษย์ยังคงอยู่กับสถานการณ์ที่ต้องการความสามารถในการปรับตัวและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ความกังวยลจึงไม่ใช่ปัญหาใหม่และอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากมีมุมมองและความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจอยากสัมผัสและเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าการออกแบบชิ้นส่วน 3D Printing ระบบจำลองเสมือนจริง การควบคุมหุ่นยนต์ การใช้เทคโนโลยีในงานซ่อมบำรุง ระบบงานคลัง และ ERP สามารถพบทั้งหมดนี้ได้ที่โซน iN-EXPERIENCE ภายในงาน AUTOMATION EXPO 2019 ระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช (NICE) ที่ซึ่งทุกคนจะได้สัมผัสประสบการณ์อุตสาหกรรมสมัยใหม่อันเต็มไปด้วยนวัตกรรม ดิจิทัล Disruption รวมไปถึงงานสัมมนาที่น่าสนมจอีกกว่า 40 หัวข้อที่ช่วยผู้ประกอบการและนักอุตสาหกรรมให้ก้าวทันการแข่งขันยุค 4.0

อ้างอิง:

Robotics.org/blog-article.cfm/How-to-Find-ROI-in-Robotic-Automation/41

Blog.nutec-inc.com/blog/basic-roi-factors-when-considering-an-industrial-automation-solution

Futurism.com/2-production-soars-for-chinese-factory-who-replaced-90-of-employees-with-robots

A Future That Works: Automation, Employment, and Productivity, McKinsey Global Institute

Twelve Steps to Successful Automated Manufacturing Systems, CASG

Mckinsey.com

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924