Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 85-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 88-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนะจับตาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 85-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 88-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ต.ค. 66) มีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก

อัปเกรดใหม่! HELIQUAD-10 โฉมใหม่จาก ISCAR ที่จะมายกระดับงานกัดไปอีกขั้น

อีกทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคผลิต (PMI) ของจีนเดือน ก.ย. ขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. สอดคล้องกับการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจจีนของ Citigroup จากระดับ 4.7% สู่ระดับ 5% อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป ขณะที่ IMF ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% สู่ระดับ 2.9%

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในปัจจัยเชิงจิตวิทยา และปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้น ตลาดคาดการณ์ว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันมาก เนื่องจากอิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยผลิตน้ำมันดิบเพียง 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปาเลสไตน์ไม่มีแหล่งผลิตน้ำมันดิบ อีกทั้งซาอุดีอาระเบียยังพร้อมที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน หากความขัดแย้งส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันโลกจริง

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนก.ย. อยู่ที่ระดับ 3.7 % ซึ่งปรับขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 3.6% เมื่อเทียบรายปี การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลจากราคาพลังงานซึ่งปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.ย. ซึ่งประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป ซี่งจัดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.- 1 พ.ย. การปรับขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 5.50-5.75% และส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% สู่ระดับ 2.9% โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งกังวลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

รายงานฉบับล่าสุดของ Citigroup สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ระดับ 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 4.7% การปรับเพิ่มขึ้นนี้มาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคผลิต (PMI) เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 50.2 สูงกว่าเดือนหน้าที่ระดับ 49.7 และขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงแม้ว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีนจะเริ่มดูมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ตลาดแรงงาน รวมทั้งวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์

รายงาน FGE ฉบับเดือน ต.ค. ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปีนี้ขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเติบโตที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังความต้องการใช้น้ำมันของจีนยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการผลิตคาดจะเติบโตที่ระดับ 1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ท่ามกลางการปรับลดลงของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกพลัส

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน เดือน ก.ย. ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ต.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 4.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่ม 6.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 90.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 88.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จากการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความตึงตัวด้านอุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปกพลัส ออกมาประกาศว่าจะใช้ความพยายามร่วมกับพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติในการป้องกันการลุกลามของสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมทั้งจะสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน ซึ่งจากแถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านอุปทานน้ำมัน

ขณะที่ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ต.ค. 66 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้น 10.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 424.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5 ล้านบาร์เรล

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924