Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง หลังซาอุฯ และรัสเซียขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิต

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 ก.ย. 66) : ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง หลังซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบจนถึงสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับรัสเซียที่ขยายระยะเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบถึงสิ้นปีเช่นเดียวกัน ขณะที่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีแนวโน้มคลี่คลายลงภายหลังบริษัท Country Garden สามารถที่จะชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่ยังคงอ่อนแอ เนื่องจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการยังคงอยู่ต่ำกว่า 50 เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่ยังคงมีแนวโน้มหดตัวลง ขณะที่รายงาน FGE คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคอเมริกาใต้ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบตึงตัว ภายหลังซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ก.ย. เป็นเดือน ธ.ค. ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายถึงเพียงแค่เดือน ต.ค. นอกจากนี้ รัสเซียยังคงประกาศขยายระยะเวลาการลดการส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 0.3 ล้านบาร์เรล จากเดือน ก.ย. เป็นสิ้นปีเช่นเดียวกัน 

CATL เปิดตัวแบตเตอรี่ EV ชาร์จ 10 นาทีวิ่งได้ 400 กม. 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Vitol กล่าวในที่ประชุม APPEC  ว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกในช่วง 6-8 สัปดาห์หน้า มีแนวโน้มตึงตัวน้อยลง จากการที่โรงกลั่นน้ำมันเข้าสู่วงรอบการซ่อมบำรุงประจำปี อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบที่มีกำมะถันสูง จะยังคงตึงตัว ภายหลังซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดการผลิตโดยสมัครใจ 

ตลาดผ่อนคลายกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน ภายหลังบริษัท Country Garden ซึ่งเป็นบริษัทที่มียอดขายบ้านเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ก.ย. ภายหลังการขอผ่อนผันเป็นระยะเวลา 30 วัน จากกำหนดการเดิมในวันที่ 7 ส.ค. 66 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งจะช่วยฟื้นฟูอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทต่าง ๆ

ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ของจีน 4 แห่ง ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ อันได้แก่ Commercial Bank of China (ICBC), Bank of China (BOC), China Construction Bank (CCB) และ Agricultural Bank of China (ABC) รายงานว่าตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ปรับเพิ่มสูงขึ้นที่ระดับ 7.6% ในช่วงครึ่งปีแรก ภายหลังจีนเผชิญวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา 

รายงานของ FGE คาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบของภูมิภาคอเมริกาใต้ในช่วงไตรมาสที่ 4/66 จะปรับขึ้นมากกว่าระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 แม้อุปทานน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาจะหายไปจากตลาดราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตของบราซิลอย่ามีนัยยะสำคัญ โดยอุปทานน้ำมันดิบของบราซิลในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าราว 0.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ FGE ยังคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบในปีหน้าของบราซิลมีแนวโน้มเติบโตที่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ตัวเลขเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังคงน่ากังวล เนื่องจากธนาคารฮัมบูร์กรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 46.7 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 47.0 และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ค. 66 หดตัวลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอจึงกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจองสหรัฐฯ อันได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. และตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน อันได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีก เดือน ส.ค.

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 8 ก.ย. 66)  : ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 90.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังซาอุดิอาระเบียประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันด้วยความสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากได้ประกาศในเดือน ก.ค 66 และได้ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวทุกเดือน ประกอบกับรัสเซียที่ประกาศลดการส่งออกน้ำมันจำนวน 300,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. 66 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบทั่วโลกมีแนวโน้มตึงตัว 

ขณะที่ Goldman Sachs ปรับลดโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจาก 20% ลงเหลือ 15% สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด และอุปสงค์น้ำมันที่ดีขึ้น ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 ก.ย.66 ปรับลดลง 6.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 416.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.6 ล้านบาร์เรล

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924