ขณะนี้มาตรฐาน ISO 900: 2015 และ ISO 14001: 2015 อยู่ในระหว่างการปรับปรุงร่างมาตรฐานโดย ISO คาดว่าจะประกาศใช้ประมาณเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2015 นี้ ซึ่งมาตรฐานฉบับที่แก้ไขปรับปรุงใหม่นี้ มีความท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับองค์กรที่จะนำไปใช้ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนในมุมมองที่กว้างขึ้นและในระดับที่สูงขึ้น ครอบคลุมทั้งระดับปฏิบัติการ (Operational Level) และระดับกลยุทธ์ (Strategic Level)
โดย คุณธวัชชัย หล่อวิจิตร ตำแหน่ง ACTING MANAGER BUSINESS SUSTAINABILITY MANAGEMENT DEPARTMENT แห่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึง ระบบ ISO 9001: 2015 และ ISO 14001: 2015 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ผู้ประกอบการต้องรู้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรให้เกิด ประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิต ทั้งในด้านคุณภาพ การลดความสูญเสีย และด้านสิ่งแวดล้อมว่า
มาตรฐาน ISO เป็นมาตรฐานที่บริษัทต่างชาติให้ความสำคัญ โดยเฉพาะมาตรฐานด้านคุณภาพ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผู้ประกอบการต้องศึกษาว่ามีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้างเพื่อปรับให้ได้ ตามมาตรฐาน ISO เวอร์ชั่น 2015 ซึ่งเป็นการปรับมาตรฐานครั้งใหญ่ ดังนั้น หลายๆ องค์กรอาจจำเป็นจะต้องอาศัยที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ ISO มีการวางกรอบโครงสร้างข้อกำหนดทุกมาตรฐานที่เหมือนกันในอนาคต โดยมีการเปลี่ยนแปลงในระดับกลยุทธ์ คือ บริบทขององค์กร Context of organization โดยได้วาง Concept ด้านการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างยั่งยืนด้วย 3 New Concepts ดังนี้
- Organization Purpose วัตถุประสงค์ขององค์กร คือ มององค์กรว่าทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
- External Environment ผู้ประกอบการต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกในอนาคตก่อนนำมากำหนดประเด็นเพื่อความอยู่รอด
- Interested Parties หมายถึง ผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าในมิติด้าน คุณภาพสินค้าและบริการ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
มิติทั้ง 3 ที่กล่าวข้างต้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยจัดการในเชิงกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ในระยะยาว นอกจากนี้ Risk Based Thinking ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบ ISO เวอร์ชั่นใหม่ โดยผู้ประกอบการต้องตระหนักเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น คือ อุปสรรคอะไรบ้างที่ขวางไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านคุณภาพ อุปสรรคอะไรบ้างที่ขวางไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องมีการวางแผนตั้งแต่ขั้นตอนการวางกรอบบริบทขององค์กร ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้นำไปสู่มาตรการป้องกัน (Preventive Action) โดยองค์กรสามารถประเมินความเสี่ยงและดำเนินการล่วงหน้าได้
ISO 9001: 2015 และ ISO 14001: 2015 มีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร
คุณธวัชชัย กล่าว ว่า การเปลี่ยนแปลงในมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001 ฉบับปี 2015 ที่จะเกิดขึ้นย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มผลผลิต ดังนั้น ผู้ประกอบการจะทราบว่าปัจจัยใดในกระบวนการผลิตและบริการ ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยง ก็จะสามารถจัดการป้องกันได้ล่วงหน้าทำให้เกิดของเสียน้อยลง การพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเชื่อมโยงกับหลักการคิดด้วย Risk Based Thinking นอกจากนี้ องค์กรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO ก็จะสามารถดำเนินธุรกิจที่ลดกระแสการกีดกัน ทำให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ถึงแม้จะเป็นที่รับรู้กันว่าการนำมาตรฐาน ISO ไปใช้เพื่อตอบสนองมาตรการกีดกันการค้าการแข่งขันนั้น จะสวนทางกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบบมาตรฐาน ISO คือ ต้องการมุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น เมื่อองค์กรมีการบริหารจัดการด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลให้สินค้าขายดีตามไปด้วย
ด้าน ดร. สันติ กนกธนาพร ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบมาตรฐาน ISO โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการตื่นตัวและให้ความสนใจ ซึ่งทางสถาบันฯ มีโครงการที่จะพัฒนา ISO 9001 และ ISO 14001 ฉบับปี 2015 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในเชิงฝึกอบรม และการให้คำปรึกษา หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.ftpi.or.th