การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสําคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็ง เอื้อต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้านของประเทศ
The World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศของสถาบันนานาชาติ ทั้งในภาพรวมและรายปัจจัยตัวชี้วัดของการพัฒนาโดยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในปัจจัยตัวชี้วัดดังกล่าว
ในปี 2560 WEF ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมของประเทศไทยเป็นอันดับที่ 34 จาก 138 ประเทศ ลดลงจากอันดับที่ 32 ในปี 2559 ขณะที่อันดับคุณภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานลดลงจากอันดับที่ 44 มาเป็นอันดับที่ 49 ในปี 2560 เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งขาดการบริหารจัดการการให้บริการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ดังนั้น ทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จึงมุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคม สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการกํากับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่อนาคตการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) พร้อมสนับสนุนการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0
ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์พัฒนาโลจิสติกส์ไทย พ.ศ. 2560-2564
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่ สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการและการลงทุนในภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทานและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การยกระดับการอํานวยความสะดวกทางการค้าให้ได้มาตรฐานสากล และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน อาทิ การพัฒนาบุคลากร การสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน การติดตามประเมินผลการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นําความเห็นที่ประชุมไปปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฯ ฉบับที่ 3 เพิ่มเติม ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าเส้นทางสําคัญในภูมิภาคโดยเฉพาะ
กลุ่มประเทศ CLMV และความเชื่อมโยงกับประเทศจีน รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ของระบบ E-Commerce ให้มากขึ้น
ขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ 3 ระยะภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กําหนดกรอบการดําเนินการเป็น 3 ระยะ คือ
(1) ระยะ 1-5 ปี ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
(2) ระยะ 5-10 ปี เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค เชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้ารูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) พัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Logistics) อย่างสมบูรณ์ ขจัดอุปสรรคและอํานวยความสะดวกทั้งด้านโครงสร้างและระบบ
(3) ระยะ 20 ปี มุ่งสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการของประเทศไทย ที่ได้กําหนดไว้ในทิศทางและตําแหน่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้บนเวทีโลก สร้างประโยชน์จากห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคและใช้ฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง
เจาะ 3 ยุทธศาสตร์
พัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย
(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของ ‘ประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศ สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการค้าการบริการ การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน’
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเพิ่มมูลค่าระบบห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการพัฒนามาตรฐานตั้งแต่ฟาร์มจนถึงส่งมอบสินค้าแก่ผู้บริโภค การจัดเก็บและขนส่ง เพื่อลดความสูญเสียลดต้นทุน ตรวจสอบย้อนกลับได้ จัดระบบการขนส่งเชื่อมโยงจากแหล่งวัตถุดิบไปถึงตลาด การส่งสินค้าด้วย E-Delivery มีการสนับสนุนทางมาตรการภาษี การเงิน ให้แข่งขันกับผู้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศได้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น พัฒนาเส้นทางและรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุน (ราง – น้ำ – อากาศ) สร้างชุมชนโลจิสติกส์ตามด่านชายแดนสําคัญและ EEC เพื่อมูลค่าเพิ่มจากการนําเข้า-ส่งออก ตั้งหน่วยงานบริหารกลาง ทําหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลรัฐและเอกชน ลดขั้นตอน การออกใบอนุญาต และเอกสารต่างๆ ในการนําเข้า – ส่งออก ตามมาตรฐานสากล เจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ โดยพัฒนากําลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ สร้างหลักสูตร ตั้งสถาบัน ศูนย์พัฒนาบุคลากร วิจัยพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ พัฒนาการติดตามและประเมินผล
ตั้งเป้า ปี’64 มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่ำกว่าร้อยละ 7 ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาระบบขนส่งของประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอํานวยความสะดวก เพื่อวางรากฐานอนาคตประเทศเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางและทางนํ้า ยกระดับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ รวมไปถึงพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ เป้าหมายภายในปี 2564 ประเทศไทยจะต้องมีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่ำ กว่าร้อยละ 7 ของ GDP โดยสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางและทางนํ้าต่อการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศสูงขึ้นจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 4 และจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 15 ตามลําดับ นอกจากนี้ สัดส่วนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะต่อปริมาณการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 30 และมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยาน ในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค เพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนต่อปี และ 55 ล้านคนต่อปีตามลําดับ
หนุนใช้ IT บริหารจัดการโลจิสติกส์
สําหรับแนวทางการพัฒนาในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ภายใต้แผนพัฒนาฯ มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรม และบริการโลจิสติกส์ โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์การเกษตร สนับสนุนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยไปลงทุนและสร้างเครือข่ายธุรกิจในอนุภูมิภาค พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการอํานวยความสะดวกทางการค้าระดับสากลปฏิบัติ โดยยกระดับศักยภาพการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางนํ้า และทางอากาศ
นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลัก เชื่อมต่อประตูการค้าสําคัญให้สามารถขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการส่วนกลางของระบบ National Single Window (NSW) สนับสนุนการปรับลดขั้นตอนการนําเข้า-ส่งออก รวมทั้งพัฒนาคุณภาพบุคลากรและวางแผนจัดการกําลังคนด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งส่งเสริมกลไกระดับนโยบายและการบริหารจัดการ ระบบติดตามประเมินผลการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศเพื่อขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคม เน้นให้เกิดความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและในอาเซียนอย่างเป็นระบบ โดยมีโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการ และการกํากับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ พัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และการพัฒนาผู้ประกอบการในสาขาโลจิสติกส์และหน่วยงานที่มีศักยภาพไปทําธุรกิจในต่างประเทศ
EXECUTIVE SUMMARY
The cabinet meeting agreed to the draft of Thailand logistics system development strategic plan vol. 3 (B.E. 2560 – 2564) proposed by Office of the National Economic and Social Development Board in order to use as the policy and strategy framework for efficiency Thailand logistics system development by strengthening entrepreneurs for gathering added value from supply chain, using logistics management technology and innovation, elevating commerce convenience providing to reach international standard, and developing supporting factors such as personnel development, private sector collaboration network creation, and logistics system development evaluation.