Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ยานยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคต

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับ ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ อย่างมาก แม้หลายคนจะมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก แต่เพื่อความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลายภาคส่วนต่างช่วยกันระดมสมองเพื่อพัฒนาให้มียานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง สำหรับในประเทศไทยนั้น ภาครัฐเริ่มผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยได้มีการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในหลายช่องทาง เช่น งานสัมมนา หัวข้อ ‘ยานยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคต’ ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในงานสัมมนานี้ ได้รับความรู้จากวิทยากรมากความรู้ความสามารถที่มาช่วยไขข้อสงสัย นั่นคือ ดร.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร ฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ คุณสมเดช แสงสุรศักดิ์ ห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานและทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

ยานยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคต

ทำไมต้องพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า

ดร.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร ฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงที่มาของการเริ่มหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าว่า ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แถบยุโรปเริ่มมีการเลิกใช้ฟอสซิลแล้วหันมาใช้พลังงานสะอาดแทน นั่นจึงเป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่ถูกส่งผ่านมายังรัฐบาลไทย จนเกิดแรงผลักดันและแรงกระตุ้นที่จะส่งเสริมให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศ

“ทุกวันนี้โลกของเราไม่ได้ต้องการแค่รถยนต์ชนิดใหม่ แต่ที่เราต้องการจริงๆ คือ ระบบการขนส่งยุคใหม่ จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อและบูรณาการ ถึงแม้ว่าชิ้นส่วนยานยนต์ดูเหมือนจะน้อยลง แต่ต้นทุนการผลิตยังคงมีราคาสูงอยู่ ประกอบกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ในอนาคตต้องให้ผู้ผลิตดูแลการจัดการซาก เพราะฉะนั้นในส่วนของซากเหล่านี้จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก

เนื่องจากความสามารถทางเทคนิคมีจำกัด อย่างเช่นแบตเตอรี่ จะต้องใช้ความรู้ทางสาขาอื่นๆ เข้ามาช่วยจัดการ ซึ่งจะต้องบูรณาการกับความรู้ทางด้านเทคนิคด้วย เช่น เรื่องความจุระยะทาง อาจจะต้องพึ่งพาเรื่องของเทคนิค เทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถทำได้ เรื่องของความปลอดภัยก็เหมือนกัน แต่ว่าการหาสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานเทคโนโลยีไม่สามารถช่วยได้ ดังนั้น จึงต้องหันกลับไปดูว่ามีข้อจำกัดแบบนี้ มีศักยภาพแบบนี้ทำอย่างไรให้ใช้งานตามศักยภาพที่เหมาะสมได้ ดังนั้น การพัฒนาระบบนวัตกรรมใหม่จึงจำเป็นต้องใช้การบูรณาการข้ามสาขาที่จำเป็นต้องมีความรู้หลายสาขามาบูรณาการร่วมกัน แต่ไม่ใช่การนำมารวมพอร์ต”

ใช้ความเชี่ยวชาญ สร้างความอยู่รอด

ดร.ไตรทิพย์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีเทคนิคมากกว่าเดิมจากอดีตที่เคยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความสูญเสีย และเพิ่มผลิตภาพ เปลี่ยนมาเป็นการแข่งขันกันด้วยความสามารถในการบูรณาการ นำองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้แล้วทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ขณะที่อุตสาหกรรมบริการมีบทบาทสำคัญที่จะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดให้ได้ เพราะจะเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มจากการหาห่วงโซ่คุณค่า และเพื่อความอยู่รอดจึงจำเป็นต้องหาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองที่จะสามารถสร้างคุณค่าให้เกิดในระบบ

“นอกจากความอยู่รอดแล้วหากเราจะพุ่งเป้าเป็นฮับด้านยานยนต์นั้น อย่างน้อยต้องสามารถสร้างธุรกิจที่โดนใจลูกค้าว่าไม่เคยมีบริการแบบนี้ หากจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเด็นสำคัญคือ EV ของเรามีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง เพราะการเป็นฮับ EV ในภูมิภาคนี้ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ตั้งเป้าเป็นฮับ EV อินโดนีเซีย หรือแม้แต่มาเลเซียเองก็ตั้งเป้าเหมือนกัน ดังนั้นหากเราทำเหมือนประเทศเหล่านี้เราจะมีโอกาสชนะได้อย่างไร

รัฐบาลต้องช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดเป็นผู้นำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ต้องสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการแล้วให้ผู้ประกอบการเข้ามาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ต้องเข้าใจว่าการขนส่งยุคใหม่เป็นตัวหลักที่ต้องใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยไม่ใช่เพียงแค่มุ่งพัฒนาให้มีรถและมีที่ชาร์จ แต่ต้องสามารถนำมาบูรณาการและนำมาต่อยอดใช้งานได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจจะอยู่ได้ไม่นาน แม้หน่วยงานนำรถมาใช้งานได้ แต่จะไม่ยั่งยืนเพราะประชาชนไม่ได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย ถ้าเราไม่มีทิศทางที่ชัดเจนมัวแต่รักพี่เสียดายน้อง สุดท้ายก็จะอยู่ติดเป็นเดตล็อก เกิดภาวะปิดตายจะเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้”

รถยนต์ไฟฟ้า

การเป็นฮับ EV เป็นโอกาสหรือวิกฤต

การเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้า ดร.ไตรทิพย์ ได้แสดงทัศนะว่ายานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ เพราะมีมานานแล้ว แต่ด้วยช่วงเวลาหนึ่งที่มีเครื่องยนต์สันดาปกำลังมาแรง ยานยนต์ไฟฟ้าจึงถูกกลบไป ทุกวันนี้แบตเตอรี่ลิเธียมมีราคาถูกลงจึงทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้น ต้นทุนถูกลง ชิ้นส่วนน้อยลงและที่สำคัญไทยเป็นผู้นำเรื่องของรถกระบะ ดังนั้น จึงมีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้นำของ EV ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นแน่นอนแต่ต้องไม่ปล่อยไปตามตลาดโลกแล้วปล่อยให้เกิดขึ้นเอง ต้องตั้งเป้าขยายผลสู่ภาคการผลิต แต่การจะเป็นฮับได้นั้นต้องพึ่งพาองค์ความรู้ เดินหน้าด้วยนวัตกรรม ไม่เลียนแบบต่างชาติ

“เรามีตัวเลือกการส่งเสริมที่เห็นอยู่ คือ การพึ่งพาด้วยการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด อันที่สองคือ ร่วมทุนกับการลงทุนกับต่างชาติ ตรงนี้จะเกิดการจ้างงานแต่ไทยก็ยังไม่ได้อะไร หากเราร่วมทุนหรือสามารถพัฒนาความรู้ได้เองตรงนี้ เราจะมีความรู้พัฒนาอุตสาหกรรมเราเองได้ จะทำให้ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนาการขนส่งยุคใหม่ก็ถือเป็นโอกาสที่จะพลิกจากการพึ่งพาต่างประเทศมาเป็นการพึ่งพาตนเอง ระยะแรกอาจจะนำเข้า ต่อมาต้องหาทางเป็น OEM ด้วยนวัตกรรมของไทย และที่สำคัญจะต้องมีแผนพัฒนาเชิงรุกดูตลาด เปิดช่องทางเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่ม Connectivity อีกทั้ง เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะพัฒนาการขนส่งยุคใหม่ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ ต้องกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้และประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ทั้งนี้ ถ้ายานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น คนไทยต้องได้ประโยชน์ไม่ใช่ต้องพึ่งพาต่างชาติตลอด ส่วนเรื่องของการเป็นฮับ หากเรายังไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เราก็ไม่มีทางเป็นฮับอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้”

ดึงศักยภาพนักวิจัย สร้างความได้เปรียบให้อุตสาหกรรม

ดร.ไตรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไทยต้องมีการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะไทยมีนักวิจัยเก่งๆ มากฝีมือ เพียงแต่ยังไม่ได้ดึงศักยภาพของนักวิจัยเหล่านั้น ออกมาอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งการจะพัฒนาอุตสาหกรรมได้ จะต้องพัฒนาด้วยองค์ความรู้ พึ่งพาการวิจัยและพัฒนา และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมไทย เพื่อนำออกสู่ตลาดแล้วให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งาน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมไทย โดยเสนอต่อรัฐบาล 2 ส่วน คือ ผู้ประกอบการ และการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำออกสู่ตลาดแล้วให้ผู้ประกอบการนำไปใช้งาน ตัวที่จะมาเสริมคือหน่วยงานที่บริหารโปรแกรมเพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายกับหน่วยงานให้เชื่อมโยงกัน แล้วมีแหล่งให้ทุนงบประมาณ มีกรรมการพิจารณาว่าแผนงานสามารถทำได้จริงๆ อีกทั้ง ประเทศไทยมีนักวิจัยเก่งๆ และมีทรัพยากรอยู่จำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องนำทรัพยากรเหล่านั้นมาสร้างมูลค่าให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากรและพื้นที่แต่ไม่ได้นำมาใช้สร้างมูลค่า มัวแต่เลียนแบบต่างชาติด้วยการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ประเทศที่มีตัวเลขด้านการพัฒนาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คือ สหรัฐอเมริกา และจีน ทั้งนี้ เพราะประเทศเหล่านี้มีลิเธียมไอออนเป็นทรัพยากร ขณะที่ประเทศไทยมีอะลูมิเนียมเป็นทรัพยากร แต่ก็มีเงื่อนไขว่าเมื่อหาทรัพยากรในประเทศได้แล้วจะต้องมีการสร้างข้อได้เปรียบต่างๆ ดูอุปสงค์ อุปทาน มีการบริหารโปรแกรมที่ดี และสร้างองค์ความรู้เพื่อเข้ามาช่วยซัพพอร์ต”

มองอนาคตจากการมองปัจจุบัน

คุณสมเดช แสงสุรศักดิ์ ห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานและทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง อันดับแรก มาตรการ กฎระเบียบต่างๆ มาตรฐานต่างๆ อย่างไรก็ตาม การจะใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคตต้องมองการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน เพราะการเปลี่ยนไปใช้ EV ไม่เหมือนกับการเปลี่ยนไปใช้ NGV หรือ E85 ขณะนั้นมีการเตรียมปั๊ม เตรียมท่อลำเอียง รถยนต์ต้องเตรียมมาซัพพอร์ต ดังนั้น การจะหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต้องเตรียมความพร้อม ปรับตัว และคำนึงถึงองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ทั้งกระบวนการะผลิต รวมไปถึงการกำจัดซากที่ดีและมีความปลอดภัยด้วย

“โรงงานผลิตรถยนต์อาจจะเป็นโรงงานเดิมก็ได้ แต่ที่ผลิต คือ ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คนที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องปรับตัว คนที่จะใช้รถไฟฟ้าต้องชาร์จกับที่บ้าน ต้องติดตั้งตู้ชาร์จกับที่บ้าน กลางคืนชาร์จที่บ้าน กลางวันชาร์จที่ทำงาน หรือ กลางคืนชาร์จที่บ้านแล้วกลางวันขายไฟคืน เพราะฉะนั้นที่บ้านและที่ทำงานต้องมีตู้ชาร์จ อีกทั้ง รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีระบบการสื่อสารเข้ามาสามารถเช็กได้ว่ามีสถานีชาร์จที่ไหนได้ นี่คือสิ่งที่ต้องปรับตัว เมื่อช่างกลกับช่างไฟฟ้าทำงานร่วมกันต้องมีคนและมีเครื่องมือเพิ่ม รวมถึงมีวิธีการกำจัดซากที่ดี เพราะทั่วโลกมีประเด็นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์”

ยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ คุณสมเดช ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกมีความตื่นตัวเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม หลายประเทศเริ่มมีการบังคับใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาขึ้น เพื่อช่วยลดมลภาวะให้กับโลก ดังนั้น ยานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นพลังงานสะอาดทั้งระบบ ต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องมลภาวะให้ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ผลิตรถยนต์ การใช้งาน การนำมาใช้ใหม่กำจัดซากต้องครบวงจรจึงจะเกิด EV ขึ้นได้

“หลายประเทศที่ทำต้องดูมาตรการเรื่องการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น จีน บางเมืองในประเทศจีนมีการบังคับใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพราะมีมลพิษมาก ยุโรปมีปัญหาเรื่องมลภาวะเครื่องยนต์เบนซินกับดีเซลไม่สามารถทำตามปริมาณที่มีการกำหนดไว้ได้ ปล่อยมลภาวะมากเกินไป รถที่จะขายได้ในอนาคตของประเทศเหล่านั้น อย่างน้อยต้องเป็นไฮบริดหรือปลั๊กอินไฮบริด พลังงานสะอาดหรือสิ่งแวดล้อมต้องเป็นทั้งระบบ ไฟฟ้าใช้พลังงานสะอาดหรือไม่มันถึงจะเกิดได้ด้วย พลังงานทดแทนพลังงานหมุนเวียน EV ถ้าไม่เข้ามา EV จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะยาว รถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องมลภาวะให้ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ผลิตรถยนต์ การใช้งาน การนำมาใช้ใหม่กำจัดซากต้องครบวงจร

อีกทั้ง เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเดินทางจะเปลี่ยนไป เพราะผู้สูงอายุมีมากขึ้น รถเล็กเฉพาะบุคคลหรือรถที่นั่งคนเดียว ระบบอัตโนมัติกับ AI เข้ามาแทนที่ ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ รถขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับการเดินทางของแต่ละคน และมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ”

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปสู่นวัตกรรมใหม่ นั่นคือ เทคโนโลยีความทันสมัย ใช้ได้สะดวกและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วิกฤตเรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อม หากไม่ปรับหรือเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดก็จะทำให้โลกร้อนขึ้น แต่การที่ประเทศไทยจะหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อม ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คำนึงถึงพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ท้ายที่สุดแล้ว ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด เรื่องนี้คงต้องจับตามองกันต่อไป

EXECUTIVE SUMMARY

Currently, energy and environment crisis has raised more concerns to the countries across the globe. European countries now have begun to replace the use of fossil with clean energy. This has derived the major transition toward the use of Electric Vehicles (EV), which is becoming the propulsive force for Thai government to practically promote and initiate EV industry in Thailand. Therefore, in order to make adaptation to survive in this trend, Thai entrepreneurs must have more techniques than usual; from prior most entrepreneurs used to reduce the cost, enhance efficiency, minimize the loss, and increase productivity, but now they need to compete one to another to integrate and use body of knowledge to generate value added, while service industry shall play the major role to launch products to the market because this industry will become value added creator from value chain seeking, and in order to survive, it is necessary to seek for its own proficiency to create value in the system.

However, if Thailand is aiming to become the EV hub, the country needs to find the advantage points, and count on its own body of knowledge, research and development works, and propel this industry with innovation rather than imitating other foreign countries because now Indonesia or Malaysia is aiming to emerge itself as the EV hub of this region as well.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924