Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

ยกระดับแรงงานด้วยเทคโนโลยี

แม้ความสามารถในการทำงานของมนุษย์อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ข้อจำกัดทางกายภาพ ความอ่อนเพลีย สมองเหนื่อยล้า หรือสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นข้อจำกัดพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ มาแต่ไหนแต่ไร แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ก็ได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีมาโดยตลอด เช่น รอก/เครน เครื่องพิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ รถยนต์ โทรศัพท์ ไปจนถึงเครื่องจักร ซึ่งวันนี้คงไม่มีใครจะกังวลว่าเครื่องตอกเสาเข็มจะทำให้คนงานก่อสร้างตกงาน ตรงกันข้าม เครื่องจักรก่อสร้างกลับทำให้อาชีพดังกล่าวเป็นที่ต้องการมากขึ้นเนื่องจากธุรกิจก่อสร้างได้รับการพัฒนา (ยกเว้นถ้าคุณยึดติดว่า ฉันจะเป็นคนงานก่อสร้างที่ทำหน้าที่ตอกเสาเข็มเท่านั้น!) ดังนั้น สุดท้ายแล้วไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น ทางรอดของมนุษย์หรือแรงงาน คือ ความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างพื้นที่ในยุคแห่งเทคโนโลยี และสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เลิกกังวล และทำความเข้าใจข้อดี-ข้อจำกัดของเทคโนโลยีเสียก่อน

นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาดีหรือมาร้าย

แรกเริ่มเดิมทีเทคโนโลยีต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำงานและจัดการกับอันตรายที่เกิดขึ้น เช่น การยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป การทำงานในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมี หรือการทำงานในพื้นที่เสี่ยง การทำงานดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ลดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นต่อแรงงาน เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติจึงไม่ใช่ศัตรูของแรงงานและไม่ได้หมายถึงการแทนที่แรงงานเสมอไป เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเองก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดเบื้อง เช่น

ข้อดี

  1. ลดระยะเวลาการผลิต
  2. เพิ่มความแม่นยำในการทำงาน
  3. ลดความผิดพลาดจากความบกพร่องของมนุษย์
  4. สามารถทำงานซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง
  5. ลดการบาดเจ็บในการปฏิบัติงาน
  6. ตอบสนองต่อการผลิตสินค้าจำนวนมาก
  7. สามารถวางแผนและจัดการสายการผลิตได้ครบถ้วน

ข้อจำกัด

  1. เงินลงทุนสูง
  2. ต้องการพนักงานที่มีทักษะ
  3. โอกาสเกิดมลพิษสูงกว่า
  4. ขาดความหลากหลายหรือความยืดหยุ่นในขั้นตอนการผลิต
  5. เพิ่มต้นทุนด้านการบำรุงรักษา

จากข้อจำกัดดังกล่าว เราจะเห็นได้ถึงข้อได้เปรียบของแรงงานมนุษย์ คือ ความสามารถในการปรับตัว การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ รวมถึงความสามารถในการต่อยอดพลิกแพลงกระบวนการทำงาน ดังนั้น หากสามารถผสานรวมการทำงานอันทรงพลังของเทคโนโลยีเข้ากับความรู้ความสามารถของแรงงานจะสามารถทำให้เกิดการทำงานอันยั่งยืน รวมถึงสร้างพื้นที่ของแรงงานในยุคใหม่ได้อย่างปลอดภัย

เมื่อโลกเปลี่ยนแรงงานต้องปรับ

การทำความเข้าใจทักษะของแรงงานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลือกอาชีพและเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่ พนักงานควรสำรวจระดับความเสี่ยงของตัวเอง โดยเบื้องต้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับดังนี้

  1. แรงงานทักษะน้อย แรงงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือขั้นตอนที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร การทำงานที่มีกิจกรรมซ้ำ ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการมาถึงของระบบอัตโนมัติสูง
  2. แรงงานทักษะปานกลาง สามารถทำการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนระดับปานกลางได้ เช่น เคมีภัณฑ์ ประกอบยานยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ หรืออุตสาหกรรมด้านพลังงาน แรงงานในกลุ่มนี้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีรวมถึงทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการสังเกตุการณ์และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้บ้าง
  3. แรงงานทักษะสูง สามารถทำการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง เช่น อากาศยาน อาวุธ อุปกรณ์ระบบสื่อสารหรือนำร่อง สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ รวมถึง การผลิตสินค้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง แรงงงานในกลุ่มนี้มีทั้งทักษะในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีทัศนคติในการคิดปรับเปลี่ยน แก้ไขปัญหา และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

จากการวิจัยของนักวิจัย สกว. พบว่าภาพรวม 73% ของแรงงานในไทยเป็นแรงงานทักษะน้อย ซึ่งงานนั้น ๆ มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติได้ ในขณะที่ตลาดอุตสาหกรรมทั่วโลกเน้นการใช้งานระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีขั้นสูงในสายการผลิต อาทิ เครื่องพิมพ์ 3 มิติหรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพิ่มคุณภาพสินค้าและลดระยะเวลาการผลิต หากประเทศไทยไม่ปรับตัวก็จะขาดความสามารถในการแข่งขัน แรงงานก็อาจตกงานอยู่ดีหรือ ดังนั้น ทางออกที่เหมาะสมจึงไม่ใช่ ‘การต่อต้าน’ ระบบอัตโนมัติแต่เป็นทัศนคติในการการพัฒนายกระดับและแสวงหาตำแหน่งงานใหม่เพื่อสร้างความยั่งยืน หากไม่ปรับตัวในวันนี้อาจไม่มีวันข้างหน้า อย่างน้อยที่สุดต้องรู้จักและใช้งานเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับแรงงานยุคปัจจุบันให้เป็น

“The price of doing the same old thing is far higher than the price of change” Bill Clinton

“ราคาค่างวดสำหรับการทำอะไรเดิม ๆ นั้นสูงกว่าราคาของการเปลี่ยนแปลง” Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

เทคโนโลยีสนับสนุนแรงงานยุคใหม่

การเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายดายแตกต่างจากสมัยก่อน ระบบอินเตอร์เนทและสมาร์ทโฟนสามารถเปิดโอกาส สำหรับแรงงานได้อีกมาก เช่น หลักสูตรการเรียนฟรีจาก Coursera.org หรือแอปพลิเคชันบรรจุข้อมูลสำหรับวิศวกรต่าง ๆ ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากค่าไฟกับค่าบริการไวไฟ

หากไม่นับเทคโนโลยี ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แรงงานมนุษย์ยังคงเป็นศูนย์กลางของการทำงานเพราะความสามารถในการตัดสินใจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดย MM Thailand ได้เลือกตัวอย่างเทคโนโลยีที่ต้องการทักษะของแรงงานที่ไม่สูงมากนักและไม่เข้ามาแทนที่แรงงาน ซึ่งแรงงานที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะมีโอกาสยกระดับหน้าที่งานและรายได้

  1. Exoskeleton

ความต้องการทักษะแรงงาน: ต่ำ

Exoskeleton ความหมายตรงตัว คือ ระบบโครงกระดูกภายนอก เทคโนโลยีนี้ คือ การสวมใส่ชุดที่ใช้เพิ่มความสามารถของผู้ใช้งาน ซึ่งการออกแบบและลักษณะจะแตกต่างกันไปตามผู้ผลิต การใช้งาน Exoskeleton สามารถทำให้ผู้ใช้ยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเองได้ ลดอาการบาดเจ็บหรือเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการทำงาน เหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องใช้พละกำลังยกของที่มีความหลากหลาย จนระบบอัตโนมัติไม่ยืดหยุ่นพอ เช่น การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ดังคลิปด้านบน และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายไม่ว่าทางการแพทย์หรือทางทหารเช่นคลิปด้านล่างเป็นต้น

  1. Augmented Reality/Virtual Reality

ความต้องการทักษะแรงงาน: ต่ำ

เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานผ่านการจำลองโลกเสมือนให้กับผู้ใช้งาน โดยสามารถเป็นทั้งการนำเสนอคู่มือคำแนะนำระหว่างการทำงาน หรือทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาการซ่อมเครื่องจักร ทั้งยังสามารถใช้ในการฝึกทักษะแรงงานได้อีกด้วยเช่นกัน

  1. Health/Tracking Technology

ความต้องการทักษะแรงงาน: ต่ำ

เทคโนโลยีสวมใส่ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาดปัจจุบันด้วยราคาที่ไม่สูงมากนัก เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนธรรมดา ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยในการตรวจสอบสภาวะร่างกายของแรงงานเพื่อเฝ้าระวังอาการผิดปรกติได้ เช่น การเต้นของหัวใจ หรือใช้ในการติดตามบุคคลที่ทำงานในพื้นที่อันตรายเพื่อเฝ้าระวังหากเกิดเหตุอันตรายขึ้น หรือสำรวจการเดินในคลังสินค้าเพื่อหาแนวทางการจัดพื้นที่คลังสินค้าให้สะดวกยิ่งขึ้น

  1. COBOT

ความต้องการทักษะแรงงาน: สูง

COBOT หรือ Collaborative Robot คือ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่ต้องมีรั้วกั้นเพื่อความปลอดภัย มาพร้อมกับระบบนิรภัยและเซนเซอร์ตรวจจับที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมทำงาน การทำงานร่วมกับ COBOT หรือตั้งค่าทั่วไปนั้นไม่ใช่เรื่องยากหากจะเรียนรู้ และการดูแลรักษา COBOT ก็เป็นทักษะที่ช่วยยกระดับแรงงานได้ แต่การเขียนโปรแกรมหรือตั้งค่าการใช้งานตามโปรแกรมสำเร็จรูปยังต้องการทักษะความเข้าใจที่ค่อนข้างสูง

  1. Industrial Internet of Things

ความต้องการทักษะแรงงาน: ปานกลาง

Industrial Internet of Things (IIoT) เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่าย Internet เพื่อการรายงานการทำงานรวมถึงการควบคุมจากนอกสถานที่แบบ Real Time ซึ่งการใช้เพียงติดตามข้อมูลและรายงานผลอาจใช้ระดับทักษะปานกลางเพื่อดำเนินการ ในขณะที่การแก้ไขปรับปรุงนั้นต้องการระดับทักษะที่สูงและมีความเข้าใจต่อระบบพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ของมนุษยชาติล้วนเกิดขึ้นเพราะความขาดแคลนและปัญหาที่พบ เมื่อใดที่เทคโนโลยีนั้น ๆ กลายเป็นตัวแปรในผลักดันอุตสาหกรรม เมื่อนั้นแรงงานก็กลับมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเช่นกัน แรงงานในยุคปัจจุบันยังมีโอกาสในการก้าวหน้าโดยอาศัยทักษะในการควบคุมเทคโนโลยี ซึ่งการปรับตัวและการเรียนรู้ถือเป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่แม้แต่ Machine Learning หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังไม่อาจทำได้ทั้งหมด

หากจะอยู่รอด ต้องเริ่มเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพพื้นฐานตั้งแต่วันนี้ วันที่ทั้งแรงงานและเทคโนโลยีต่างมีข้อจำกัดแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ‘ปัญหาด้านแรงงาน’ จะหมดลงหากเพียงแรงงานรู้จักปรับตัว


อ้างอิง:

  • https://www.mckinsey.com/business-functions/operations/our-insights/human-plus-machine-a-new-era-of-automation-in-manufacturing
  • https://www.fastcompany.com/40462489/robots-automation-labor-look-at-history-industrial-revolution-moshe-vardi
  • https://www.isranews.org/thaireform-other-news/54159-ooo.html
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924