Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ม.กรุงเทพธนบุรี ทุ่ม111ลบ.ติดโซล่าเซลล์

ม.กรุงเทพธนบุรี จัดงบ 111 ล้านบาท ติดตั้งโซล่าเซลล์ 3 เม็กกะวัตต์ ตอกย้ำ ผู้นำด้านการประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน ผลิตพลังงานสะอาดมาใช้ในมหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวภายหลัง ลงนามในสัญญาการจัดการพลังงาน ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ กับบริษัท เอเซียนโซลาร์ จำกัด ว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และผลิตบัณฑิตออกไปสู่สังคม เพื่อเป็นบุคคลากรของประเทศที่มีคุณภาพและมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในการสร้างสรรค์สังคม มหาวิทยาลัยจึงเน้นเรื่องการปลูกฝังค่านิยมการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลกแก่นักศึกษาและบัณฑิต ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นปัญหาระดับโลก และเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหา

ดังนั้นทางคณะผู้บริหาร จึงมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ลดจำนวนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น มุ่งเน้นที่จะผลิตพลังงานสะอาดเพื่อใช้เองภายในมหาวิทยาลัยฯ จึงได้ร่วมกับบริษัท เอเซียนโซลาร์ จำกัด ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาของอาคารภายในมหาวิทยาลัยฯ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 เม็กกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุน 111 ล้านบาท นอกจากมหาวิทยาลัยสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแล้ว ที่สำคัญยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย โดยเลือกใช้เทคโนโลยีของประเทศเยอรมนีทั้งหมด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด

ผศ.ดร.บังอร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ เป็นรายแรกของประเทศที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ และยังเป็นผู้บุกเบิกด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำพามหาวิทยาลัยฯ ไปอีกมิติหนึ่ง พร้อมกันนี้จะเปิดให้มีศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและบุคคลภายนอกที่สนใจเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ด้านนายประมวล บุตรดา ผู้บริหารบริษัท เอเซียนโซลาร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ยินดีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีให้ความไว้วางใจเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา(Solar Rooftop) สำหรับการติดตั้งแผง Solar Rooftop ขนาด 3 เม็กกะวัตต์ หรือ 8,956 แผงนั้น จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 4 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของมหาวิทยาลัยฯ เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ แสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าทั้งในแง่ของการประหยัดค่าไฟฟ้า และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924