การบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้แนวทางปฏิบัติเพื่อกำหนด พัฒนา และปรับปรุงให้สัมฤทธิ์ผล มาตรฐาน ISO เป็นที่รู้จักในแวดวงอุตสาหกรรมในการใช้เพื่อส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ เกิดระบบแบบแผนในงานและบุคลากรในองค์กร ลดความผิดพลาดในการทำงาน ส่งผลให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริษัท หรือองค์กรใดได้รับ ISO ก็หมายความว่า สินค้าหรือบริการขององค์กรนั้น เข้าขั้นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ระบบมาตรฐาน ISO ประเภทต่างๆ ได้รับการปรับปรุงมาตรฐานใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มาตราฐาน ISO จำนวน 2 ระบบ ที่ได้รับการพัฒนาใหม่ ได้แก่ มาตรฐาน ISO 14004:2016 ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม และ ISO 9001:2015 มาตรฐานการบริหารจัดการ โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้
มาตรฐาน ISO 14004:2016
มาตรฐาน ISO 14004:2016 คือ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางทั่วไปสำหรับการนำไปใช้ (Environmental Management Systems – General Guidelines on Implementation) มาตรฐานนี้จะช่วยให้องค์กรมีแนวทางสนับสนุนในการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปใช้ โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมการใช้งานของมาตรฐาน ISO 14001 ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งให้คำอธิบายเพิ่มเติมในแนวคิดและข้อกำหนดของมาตรฐานนั่นเอง และองค์กรสามารถนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการร่วมกับกระบวนการธุรกิจหลักขององค์กรได้
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในการจัดการในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย แต่อาจนำไปจัดทำร่วมกับมาตรฐานระบบการจัดการชีวอนามัยและความปลอดภัยได้
ทั้งนี้ มาตรฐาน ISO 14004 ฉบับใหม่ทำให้องค์กรมีแนวทางดำเนินการต่อไปในรายละเอียดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานฉบับใหม่ ISO 14001:2015 การเปลี่ยนแปลงบางประการรวมถึงการเน้นไปที่การปกป้องสิ่งแวดล้อม สมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม มุมมองด้านวงจรชีวิต การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์และความเป็นผู้นำ
มาตรฐาน ISO 9001:2015
ISO 9000 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบบริหารคุณภาพ จัดทำขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization) การปรับปรุง ISO 9001:2015 ครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการบริหารจัดการครั้งใหญ่ และมีความท้าทายเป็นอย่างมากขององค์กรที่จะนำไปใช้ โดยมุ่งเน้นให้ทุกองค์กรนำองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยมีแนวคิดพื้นฐาน คือ
เจตจำนงขององค์กร (The Concept of Organization Purpose) ที่ต้องการทำให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยการดำเนินงานที่ต้องพิจารณาถึงสภาวะแวดล้อมภายนอก และต้องมีการวัดผลการดำเนินงานที่นอกเหนือจากด้านการเงิน (Financial Performance) ด้วยมุมมอง 3 ด้าน (Triple Bottom Lines) คือ ด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance) ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecological Performance) ด้านสังคม (Social Performance) นอกจากนี้ องค์กรยังต้องมีการสื่อสารผ่านวิสัยทัศน์ พันธกิจกลยุทธ์ นโยบาย และวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุง เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้
สภาวะแวดล้อมภายนอก (The Concept of External Environment) ข้อจำกัดในการดำเนินงานซึ่งทำให้องค์กรต้องปรับตัวตาม (Adapt) หรือต้องค้นหาแนวทางที่จะดำเนินการ (Shape) ให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมภายนอกเหล่านั้น เพื่อบรรลุผลตามความตั้งใจขององค์กร และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (The Concept of Interested Parties) ซึ่งมีผลต่อการดำเนินงานขององค์กรทั้งระดับองค์กรและระดับบุคคล โดยหมายรวมถึงลูกค้า ผู้ลงทุน พนักงาน ผู้ส่งมอบ และสังคม ซึ่งองค์กรจะต้องเข้าใจความต้องการและความคาดหวัง (Need and Expectation) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร เพื่อนำมาใช้กำหนดแนวทางดำเนินการตอบสนองความต้องการและความคาดหวังดังกล่าว ตลอดจนสามารถทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความผูกพัน (Engagement) ต่อองค์กร
EXECUTIVE SUMMARY
ISO standard is famous in manufacturing circle also encouraging the international standardization. The company or any organization that ISO approved, indicate qualified product or service that available for international use. The ISO standard has 2 latest system, ISO 14004:2016 environmental management system that designed to improve ISO 14001 standard and ISO 9001:2015 quality management system as renovation of old management system.