Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2050 จับสัญญาณเตือนอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย

ในยุคที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว จากบทบาทของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งทำให้โลกธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่มีการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดน ยิ่งตอกย้ำถึงอนาคตการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของโลก ความเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งผลเชื่อมโยงจากประเทศสู่ประเทศหากยังสามารถส่งผลเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคสู่ภูมิภาคของโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2050 จึงเป็นที่จับตามองอย่างมาก ทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่มีผลเชื่อมโยงกันหากจะมากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง

มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2050 จับสัญญาณเตือนอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย

ชี้ไทยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อม

ล่าสุด PricewaterhouseCoopers (PWC) ได้รายงานผลการศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2050 ซึ่งพบว่าขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกจะย้ายจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมาสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (E7) ได้แก่ จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยสนับสนุนภายในของแต่ละประเทศเป็นแรงผลักดัน โดยเฉพาะจีนและอินเดียจะมีประชากรที่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการอุปโภคบริโภคเชิงคุณภาพของชนชั้นกลาง โดยโครงสร้างเศรษฐกิจจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคการบริโภคและบริการมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศผู้นำในปัจจุบัน โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) จากอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งทำให้ต่างต้องประสบปัญหาการขาดแคลน แรงงาน ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลงตามไปด้วย

จากความสำคัญดังกล่าว ประเทศไทยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ และปฏิรูปปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพด้วยการเพิ่มการลงทุน ทั้งด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

กลุ่มประเทศ E7 จะเข้าแทนที่ G7

ปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 33 ปีข้างหน้า คาดว่า ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเคลื่อนย้ายจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Advanced Economies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบยุโรปมาสู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Countries) จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก จากความต้องการด้านสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

จากรายงานของ PWC พบว่า กลุ่มประเทศ E7 ซึ่งประกอบด้วยประเทศจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจมีสัดส่วนเพิ่มสูงถึงร้อยละ 50 ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ กลุ่มประเทศ G7 (Group of Seven) ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร และแคนาดา เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี ทำให้มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ E7 จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนกลุ่ม G7 ที่ประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ การค้าจะลดลง การลงทุนจึงเคลื่อนย้ายจากกลุ่ม G7 มาสู่กลุ่มประเทศ E7 จากรายงานของ PWC คาดว่า ในปี 2050 เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่จานวน 6 ประเทศ จะขยายตัวขึ้นติดอันดับ 10 อันดับแรกของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากจำนวนประชากร ในวัยแรงงานจำนวนมากและปัจจัยสนับสนุนภายในของแต่ละประเทศเป็นหลัก

Emerging markets will dominate the world’s top 10 economies in 2050 (DGP at PPPs)

ปัจจัยหนุน กลุ่มประเทศ E7 ติดอันดับ 10 ประเทศ ปี 2050

เหตุผลและปัจจัยต่างๆ ของแต่ละประเทศที่จะสนับสนุนให้กลุ่มประเทศดังต่อไปนี้ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกได้ในปี 2050

  1. อินเดีย มี GDP at PPP เพิ่มเป็น 5 เท่าในปี 2050 โดยมีโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนกำลังการซื้อของชนชั้นกลางจำนวนมากกว่าหลายร้อยล้านคน ส่งผลให้ตลาดภายในประเทศเติบโตมากขึ้น มีระบบทางการศึกษาและมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษที่ดี ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ไม่สูงมาก จึงยังเป็นแหล่งบริการจัดจ้างคนภายนอก (Outsourcing) ให้กับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงเป็นผู้ส่งออกหลักของสินค้าประเภทซอฟต์แวร์ไอทีอีกด้วย
  2. อินโดนีเซีย แหล่งทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากไม้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีป่าไม้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน มีจำนวนผู้บริโภคเป็นมุสลิมมากที่สุดในโลก และมีระบบธนาคารที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
  3. บราซิล ปัจจุบันเป็นแกนนำทางด้านเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาใต้ โดยมี GDP สูงที่สุดในทวีป มีแหล่งของพลังงานและแรงงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ส่งออกหลักด้านวัตถุดิบเพื่อการผลิต ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียมเป็นสำคัญ รวมทั้งยังเป็นแหล่งสินค้าการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งกาแฟ ข้าวโพด และถั่วเหลืองเป็นหลัก
  4. รัสเซีย มีปัจจัยด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีแหล่งถ่านหินจัดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก มีก๊าซธรรมชาติอยู่ประมาณร้อยละ 35 และน้ำมันสำรองประมาณร้อยละ 20 ของโลก
  5. เม็กซิโก มีความโดดเด่นในด้านของทำเลที่ตั้งโดยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้ผลิตในเม็กซิโกสามารถส่งสินค้าไปยังอเมริกาเหนือได้อย่างไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา และยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ของประเทศ ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือเทศ น้ำตาลอ้อย ถั่ว อโวคาโด เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกและสุกรเป็นสำคัญ

จับตา… จีนมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ปี 2050

ในปี 2050 ประเทศจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 โดยมีสัดส่วนเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 20 เมื่อวัดจาก GDP at PPP โลก ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 12 และร้อยละ 9 ตามลำดับ

ปี 2016 ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยย้อนหลังร้อยละ 7.3 อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน จีนอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของโลก แต่เศรษฐกิจของจีนยังคงสามารถขยายตัวได้เป็นอันดับต้นๆ และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากจีนมีกำลังซื้อภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบในประเภทสินค้า Commodity จากประเทศต่างๆ จำนวนมาก จึงทำให้จีนกลายเป็นจักรกลของการเติบโตของเอเชีย จนได้รับขนานนามว่า ‘Engine of growth of Asia’ แทนประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ จีนยังเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตและการอุปโภคบริโภคที่สำคัญของโลก และเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีสินค้าอุปโภคและบริโภคราคาถูกส่งออกทั่วโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อของโลกอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย

ปัจจัยสำคัญหลักภายในของประเทศจีนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2050

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนยังมีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงระหว่างเขตเศรษฐกิจตะวันออก และตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งปัญหาทางด้านหนี้สินทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนที่มีจำนวนสูง โดย ณ สิ้นปี 2016 คิดเป็นร้อยละ 256 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากประวัติศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตของประเทศที่พัฒนาแล้วในฝั่งตะวันตก ล้วนต้องผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น

ปี 2050 โลกจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกปี 2050 ปัจจัยที่ PWC นำมาประเมินผลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2050 ประกอบด้วยข้อมูลของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ IMF ปี 2016 โครงสร้างประชากร การศึกษา การลงทุน และเทคโนโลยี โดยนำมาประมาณการตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parities : PPP) โดยใช้ราคาสินค้าและบริการ ในสหรัฐอเมริกาเป็นฐานในการคำนวณและแสดงผลในสกุลเงินดอลลาร์เพื่อเทียบมาตรฐาน GDP ให้เป็นแบบเดียวกันทั่วโลกจาก 32 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 85 ของ GDP โลก

ผลการศึกษาพบว่า ประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะเดียวกันคุณภาพของระบบการศึกษาก็เป็นปัจจัยที่จะสะท้อนระดับผลิตภาพ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะส่งผลต่อทิศทางการค้าการลงทุนโลก โดยจะมีการลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับสูงทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่า ขณะเดียวกันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่ๆ

ส่วนแบ่งของ GDP at PPP โลกในปี 2016 – 2050

จีนและอินเดียจะกลายเป็นมหาอำนาจ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่แทนที่สหรัฐอเมริกา

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2050 พบว่า ประเทศจีนและอินเดียจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่แทนที่สหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มประเทศ G7 ที่เป็นประเทศผู้นำที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในปี 2016 เมื่อเทียบกับปี 2050 พบว่า มีอันดับที่ลดลงเป็นผลเนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป มีแรงงานวัยทำงานที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจชะลอลง ขณะที่ประเทศในกลุ่ม E7 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดียมี GDP at PPP ขยายตัวเพิ่มขึ้นจำนวน 3 เท่าและ 5 เท่า ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับการเติบโตของ GDP at PPP ในปี 2050 พบว่า ประเทศไทยจะตกไปอยู่ในอันดับที่ 25 จากอันดับที่ 20 ในปี 2016 ขณะที่กลุ่มประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศไทย สอดคล้องกับรายงานของ World Bank ระบุว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้อยลง เช่น โครงสร้างการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพของตลาดแรงงานและระบบราชการถดถอย ขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมใหม่ๆ มานาน และผลของการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจกระจุกตัว ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยเพิ่มมากขึ้น และเกิดปัญหาทางสังคมการเมืองตามมา

อาจกล่าวได้ว่า การติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการวางแผนกำหนดทิศทาง มาตรการเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสำหรับประเทศไทยสัญญาณเตือนจากการคาดการณ์ดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐคงต้องเร่งวางแผนเพื่อรับมือโครงสร้างประชากรที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยอาจมีมาตรการสนับสนุนให้ภาคการผลิตนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อทดแทนแรงงานที่จะลดลงในอนาคตและเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีศักยภาพในอนาคตข้างหน้านั่นเอง

EXECUTIVE SUMMARY

PricewaterhouseCoopers (PWC) has been reported the study of global economics trend 2050 that the influential country in economic system are shifting from developed countries to emerging market. From the internal factors within each country particularly China and India, the economic sector is driven into consumer and service part more and more while the leading countries are transforming to aging society completely which caused short of labor, also lower demand of goods and service.

Thus, the sign that warned Thailand and other emerging market are the preparation for aging society and reforming of infrastructure factors to be more efficiency through education, infrastructure, technology investment and inequality problem solving which are the essential factors to create sustainable economics growth.


Source:

https://goo.gl/1sXYVp

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924