Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

พ.ร.บ.วัตถุอันตรายใหม่ บังคับใช้ ต.ค.นี้

กรมโรงงาน เผย กฎหมายวัตถุอันตรายใหม่ มีผลบังคับตุลาคมนี้ สามารถสั่งการให้ผู้ประกอบการ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนำวัตถุอันตรายออกนอกประเทศได้ทันที


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 62 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 27 ต.ค. 62 เป็นต้นไป นับเป็นข่าวดีต่อประชาชน ชุมชน ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก เนื่องจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่จะช่วยขับเคลื่อนกลไกการควบคุมวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมและการเพิ่มมาตรการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงควบคุมการนำผ่านวัตถุอันตรายไม่ให้ถูกปล่อยทิ้งจนเกิดอันตรายในประเทศ

ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรมกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ โดยในปี 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายประมาณ 2,000 ฉบับ ออกใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ประมาณ 5,500 ฉบับ ออกใบรับแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ประมาณ 1,000 ฉบับ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใดเป็นผู้ผลิตวัตถุอันตรายซึ่งเคยได้รับยกเว้นการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ จะไม่ได้รับการยกเว้น จึงขอให้ตรวจสอบและปฏิบัติตามกฎหมายวัตถุอันตรายด้วย

“ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการผลิต ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้มีการขยายตัวตาม ดังนั้นการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องใช้สารเคมีเป็นองค์ประกอบจึงทำให้แนวโน้มการนำเข้าสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าสารเคมีเหล่านี้จะมีประโยชน์แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมั่นใจว่า พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฉบับใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายของหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี” นายทองชัย กล่าว

สำหรับรายละเอียดการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ที่สำคัญคือมีการแยกนิยามเรื่องการนำผ่านออกจากการนำเข้า ทำให้สามารถออกกฎเกณฑ์และวิธีการควบคุมที่เหมาะสมกับลักษณะของการประกอบการดังกล่าวได้ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้นำวัตถุอันตรายไปทิ้งโดยไม่สามารถระบุตัวผู้ครอบครองวัตถุอันตรายดังกล่าวได้

ทั้งนี้จากข้อมูลการนำเข้าวัตถุอันตรายที่ผ่านมา พบว่าส่วนหนึ่งมีความต้องการที่จะนำวัตถุอันตรายเข้ามาใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งภาคเอกชนต้องการที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์วิจัยในระดับภูมิภาค ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้มีการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายในบางส่วนได้หากจะนำวัตถุอันตรายมาใช้ประโยชน์ในกรณีที่กล่าวมา

นอกจากนี้ยังผ่อนผันสำหรับวัตถุอันตรายที่มีความจำเป็นต้อง re-import หรือ re-export โดยหน่วยงานจะต้องวางกรอบกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ โดยจะพิจารณาความจำเป็นในการยกเว้นหรือการผ่อนผันให้ต่อไป ขณะเดียวกันยังได้ให้อำนาจหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ในการสั่งให้ผู้นำเข้า หรือผู้นำผ่าน ส่งวัตถุอันตรายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร่งด่วนได้ หากการเก็บรักษาไว้อาจมีอันตรายและไม่สมควรมีการทำลายหรือจัดการในประเทศ

“ส่วนกรณีที่วัตถุอันตรายซึ่งได้มีการทำประกันไว้ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น เพื่อจะชดเชยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย และหน่วยงานผู้เข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย หรือขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด จากนั้นจึงให้ผู้รับประกันภัยไปไล่เบี้ยเอากับบุคคลซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อไป” นายทองชัย กล่าว

สำหรับการโฆษณาวัตถุอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือใช้ในการเกษตร หน่วยงานที่กำกับดูแลจะออกหลักเกณฑ์และแนวทางในการโฆษณาที่ชัดเจน และหากผู้ประกอบการมี ข้อสงสัยว่าการโฆษณาของตนถูกต้องหรือไม่ ก็สามารถสอบถามหารือกับหน่วยงานก่อนจะโฆษณาได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการโฆษณาวัตถุอันตรายมากยิ่งขึ้น

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924