Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

“ทิม พิธา” ชี้โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรยังเป็นที่ต้องการอีกมาก!

นโยบายการแปรรูผผลิตผลทางการเกษตรในประเทศไทยนั้นมีมาช้านาน แต่ในทางปฏิบัติการกระจายตัวของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรนั้นอาจยังไม่ได้ทั่วถึงและไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริงสักเท่าใด ทำให้สินค้าแปรรูปทางการเกษตรของไทยยังไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยประเด็นดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2562 โดยนาย พิธา ลิ้มเจริญ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่

การอภิปรายครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน รวมถึงชาวประมง โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยประเด็นเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรอยู่ในช่วงนาทีที่ 11 ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าในระยะยาวโดยแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ

การแก้ไขโดยทางวิทยาศาสตร์

ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั้น พิธา ได้เสนอแนวทางการแปรรูปในพื้นที่และการแปรรูปข้ามอุตสาหกรรม

การแปรรูปในพื้นที่ หมายถึงการแปรรูปที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องนำผลผลิตเดินทางข้ามจังหวัดซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น มะม่วงบางคล้าที่สมควรจะต้องมีโรงงานแปรรูปมะม่วงอบแห้งหรือน้ำมะม่วงในพื้นที่

สำหรับการแปรรูปข้ามอุตสาหกรรม พิธาได้ยกตัวอย่างกรณีของการแปรรูปข้าวสารว่า ข้าวหนึ่งเม็ดนั้นสามารถแปรรูปเป็นข่าวสารได้เพียง 40 – 50% ในขณะที่ยังมีแกลบ มีรำข้าว มีจมูกข้าว ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถแปรรูปได้ทั้งหมด เช่น แกลบสามารถนำไปทำ Solar Cell ได้ รำข้าวสามารถสกัดน้ำมันรำข้าวและลึกลงไปกว่านั้นสามารถกลายเป็นยารักษาโรคเบาหวานซึ่งมีมูลค่าสูงได้ ในกรณีของเปลือกทุเรียนยังสามารถนำมาทำน้ำยาบ้วนปากได้เนื่องจากเปลือกทุเรียนมีสาร Polysaccharide ซึ่งในความเป็นยังมีสิ่งเหล่านี้อีกมากในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ของพิธา คือ การทำน้อยได้มาก ปัจจุบันกิจการการเกษตรของไทยแห่แหนกันไปปลูกพืชส่งออกหลักจนสินค้าล้นตลาดและหลายครั้งพบว่าสินค้าเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าผูกขาดที่มีลูกค้าส่งออกไม่กี่ประเทศกลายเป็นการค้าผูกขาดที่ไม่มีทางออกเผื่อเลือก ทำให้เกิดการผลิตสินค้านั้น ๆ จำนวนมากเพื่อตอบสนองตลาดผูกขาดซ้ำยังให้ผลตอบแทนที่มีกำไรน้อยลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนี้เพื่อการดำเนินการในระยะยาวที่ได้ผลยั่งยืน การวิจัยและพัฒนา ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยงบประมาณวิจัยทางการเกษตรมีเพียง 1% เพียงเท่านั้นทำให้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

การแก้ไขโดยใช้ศิลปะวัฒนธรรม

สำหรับวัฒนธรรมและศิลปะ วัฒนธรรมการกินดื่มต่าง ๆ ของไทยนั้นถือว่ามีความโดดเด่นเช่นกัน พิธายกตัวอย่างการซื้อเบียร์ที่ร้านสะดวกซื้อซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรจากจีนหรือออสเตรเลีย การซื้อไวน์เป็นการสนับสนุนผลผลิตจากออสเตรเลียหรือชิลี แม้กระทั่งโซจูนั้นยังเป็นการสนับสนุนผลผลิตจากเกาหลี ขณะเดียวกันพืชผลทางการเกษตรไทย อาทิ ข้าวเหนียว เกสรมะพร้าว มันแกว ข้าวโพด หรือผลไม้ที่แปรรูปเป็น Cyder ได้แต่ไม่สามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ด้วยเหตุผลทางนิติบัญญัติ พรบ.เหล้า พรบ. สุราชุมชนกำหนดให้เครื่องจักรผลิตสูงสุดได้ไม่เกิน 5 แรงม้า ไม่สามารถแต่งกลิ่นได้ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่สัปปะรดนั้นไม่สามารถถูกนำไปแปรรูปเป็นไวน์สัปปะรดได้ ทำให้ข้าวเหนียวนั้นไม่สามารถแปรรูปเป็น Rum หรือสุราอื่น ๆ ต่อได้

“การสนับสนุนให้มีการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรให้เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เท่ากับสนับสนุนให้มีการดื่มแอลกอฮอล์”
พิธา ลิ้มเจริญ

โดยประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับ ‘ประสิทธิภาพ’ มากกว่าการใช้ราคาเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้พิธายังยกตัวอย่างแนวคิดของ Netherland ในการมุ่งหน้าสู่ความเป็นหนึ่งทางการเกษตรด้วยการเพิ่มผลผลิต 2 เท่า ในขณะที่ใช้ทรัพยากรเพียงครึ่งเดียว ซึ่งนี่เป็นแนวคิดเมื่อ 20 ปีที่แล้วแต่วิธีคิด วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้นเป็นแนวคิดที่มีประสิทธิภาพแม้อาจมีบริบทบางประการที่แตกต่างกันออกไป แต่หัวใจในการทำงานยังคงเป็นสิ่งเดียวกัน

โอกาสยังมีอีกมากในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรไทย!

แม้ว่าสิ่งที่พิธากำลังพยายามนำเสนอจะยืนอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร แต่ในภาคของอุตสาหกรรมการผลิตกลายเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดดังกล่าวในระยะยาว โดยแนวคิดหลายประการเป็นแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องและสงผลกระทบต่อกันโดยตรง ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้

  1. โรงงานสำหรับแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ ยังขาดแคลนอยู่อีกมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเกษตรกรแล้วผู้ผลิตในพื้นที่ยังสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีความสดใหม่และมีคุณภาพมากกว่าเดิม
  2. การวิจัยและพัฒนาเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีวัตถุดิบที่ไม่ได้ถูกใช้งานหรือเหลือจากการแปรรูปจำนวนมากที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล ซึ่งปัจจุบันการสนับสนุนจากภาครัฐยังมีไม่มากเพียงพอ รวมถึงยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
  3. การแปรรูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผลผลิตทางการเกษตรไทยจะเป็นประตูบานใหม่ที่สามารถสร้างความแตกต่างและผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันข้อกำหนดทางนิติบัญญัติยังคงเป็นข้อผูกมัดสำคัญ
  4. การทำน้อยแต่ได้มาก ภายใต้แนวคิดของการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพเป็นลำดับแรก สามารถสร้างความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงได้
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924