Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

แนวทางการนำเสนอเว็บไซต์บริษัทบนสมาร์ทโฟน

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีเว็บไซต์มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่เคยเป็นเพียงพื้นที่สำหรับนำเสนอข้อมูลด้านการประชาสัมพันธ์ที่มีการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมน้อยมากก็กลับกลายมาเป็นเว็บไซต์ที่มีความเป็น Dynamic มากยิ่งขึ้น โดยสามารถตอบโต้กับผู้ชมราวกับว่าเป็นโปรแกรมที่ติดตั้งในเครื่องพีซีเลยทีเดียว

ไม่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ได้นำเทคโนโลยีเว็บไซต์มาใช้ในการดำเนินธุรกิจของตน ธุรกิจอื่นๆ ก็ได้พัฒนาเว็บไซต์ของตนไปไกลมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ธุรกิจร้านค้าซื้อขายออนไลน์ ธุรกิจด้านการเกษตร รวมไปถึงธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เนืองๆ ดังจะเห็นได้จากสภาวะการเปลี่ยนถ่ายที่ทำให้หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายๆ เล่มทยอยปิดตัวไปอย่างน่าใจหาย แม้บางแห่งจะกลับกลายมาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์แต่ก็ยังคงต้องเหนื่อยหนักกันต่อเพราะจะต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มีอยู่มากมายให้ได้

อุปกรณ์สื่อสารพกพาทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตได้เข้ามาตอกย้ำความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน อุปกรณ์สื่อสารนี้ได้กลายเป็นของใช้สามัญประจำตัวของหลายๆ คน สมาร์ทโฟนไม่ได้มีหน้าที่หลักเพื่อไว้สำหรับโทรติดต่อพูดคุยแต่เพียงอย่างเดียว แต่กลับมีไว้เพื่อเข้าอินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เล่นเกมออนไลน์ ใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ รวมไปถึงการเข้าเว็บไซต์ผ่านแอปพลิเคชันเว็บเบราว์เซอร์เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอีกด้วย

เมื่อกล่าวถึงการเข้าชมเว็บไซต์ผ่านแอปพลิเคชันเว็บเบราว์เซอร์บนโทรศัพท์มือถือ หลายคนจะทราบดีว่าค่อนข้างมีความยากลำบากอยู่พอสมควรเนื่องจากสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มีหน้าจอที่ไม่ใหญ่นัก หากเว็บไซต์ใดไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับกับหน้าจอก็จะทำให้ตัวหนังสือเล็กตามไปด้วย ที่แย่กว่านั้นก็คือบางครั้งเนื้อหาในเว็บไซต์หายไปหรือรูปแบบการแสดงผลของหน้าตาของเว็บไซต์มีความผิดเพี้ยนจนไม่สามารถที่จะเข้าไปรับชมหรือทำธุรกรรมใดๆ ได้ อันที่จริงได้มีความพยายามในเรื่องของการสร้างมาตรฐานการออกแบบเว็บไซต์ให้สนับสนุนการใช้งานบนสมาร์ทโฟนมานานแล้วแต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ในลักษณะ Responsive เพื่อรองรับขนาดหน้าจอหลายๆ ขนาดได้โดยอัตโนมัติตามที่ได้เคยนำเสนอในบทความไปแล้วก่อนหน้านี้ และการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Applications) เพื่อดึงข้อมูลจากเว็บไซต์มาแสดงในหน้าจอมือถือ แต่ที่สุดแล้วการออกแบบการนำเสนอเว็บไซต์บนสมาร์ทโฟนด้วย Responsive และการสร้างโมบายแอปพลิเคชันก็ยังมีจุดที่เป็นข้อจำกัดอยู่พอสมควร

การออกแบบเว็บไซต์แบบ Responsive นั้น แม้จะสามารถรองรับการเปิดเว็บไซต์ได้กับทุกขนาดหน้าจอบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแต่ก็ยังต้องใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งทำให้ดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้ (User friendly) เท่าใดนัก ไม่เพียงเท่านั้น หน้าจอยังถูกแอดเดรสบาร์ (Address bar) ใช้พื้นที่ไปส่วนหนึ่งอีกด้วย อีกประการหนึ่งก็คือหากเจ้าของเว็บไซต์มีระบบการแจ้งเตือน (Notifications) ไปยังผู้รับชมเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้เข้าเว็บกลับมาใช้งานเว็บอีกครั้ง (Engagements) ก็อาจจะต้องพัฒนาคุณสมบัติในส่วนนี้เพิ่มเติมเองภายหลัง เป็นต้น

ในส่วนของโมบายแอปพลิเคชันนั้นแม้จะดูสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งาน แต่กับฝั่งผู้พัฒนากลับค่อนข้างมีความยากลำบากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการออกแบบให้รองรับกับขนาดหน้าจอของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่แตกต่างกัน ซึ่งความยุ่งยากนี้มักจะเกิดจากอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เสียส่วนใหญ่และก็เป็นกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนกลุ่มใหญ่ที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันมีความยุ่งยาก ผลลัพธ์จึงไปตกแก่ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของกิจการโดยปริยาย เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างที่สูงขึ้นตามคุณสมบัติของแอปพลิเคชัน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่จะต้อง Maintenance ในช่วงที่แอปพลิเคชันเปิดให้บริการอีกด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ จากรายงานของ comScore ได้กล่าวถึงสถิติการใช้โมบายแอปพลิเคชันว่ามีผู้ใช้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าเว็บโซต์โดยตรง โดยผู้ใช้โมบายแอปพลิเคชันมีจำนวนเฉลี่ยเพียง 25 แอปพลิเคชันต่อเดือน ในขณะที่มีผู้เข้าใช้เว็บไซต์มากกว่า 100 เว็บไซต์ต่อเดือนเลยทีเดียว ที่น่าประหลาดใจก็คือจากรายงานกลับพบว่าค่าเฉลี่ยต่อเดือนของผู้ใช้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจาก App Store และ PlayStore มาติดตั้งน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบจะเป็น 0 แล้วGoogle มองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้พัฒนามาตรฐานการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า Progressive Web App (PWA) ขึ้น

โดยพัฒนาความสามารถในการเปิดเว็บไซต์ให้เร็วขึ้น ผู้ใช้เปิดใช้งานได้ง่ายขึ้น จนเรียกได้ว่าเทียบเท่ากับโมบายแอปพลิเคชันเลยทีเดียว แน่นอนว่าต่อจากนี้เป็นต้นไป ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือมีแผนที่จะปรับปรุงเว็บไซต์ของตนเองก็สามารถที่จะร้องขอให้โปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนาดำเนินการตามมาตรฐาน Progressive Web App ได้เลย ซึ่งนอกจากจะได้เว็บไซต์ที่เปิดในเครื่องพีซีแล้วยังได้เว็บไซต์มาตรฐานสูงที่ใช้งานได้ดีบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอีกด้วย

Progressive Web App มีคุณบัติเด่นอะไรบ้าง

มาตรฐาน Progressive Web App นั้นมีคุณสมบัติเด่นสำหรับผู้ใช้งานเว็บไซต์บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตดังนี้

  1. ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจาก App Store และ PlayStore มาติดตั้ง เพราะเว็บไซต์ที่ต้องการใช้จะทำงานผ่านกลไกของเว็บเบราว์เซอร์
  2. แม้จะปิดอินเทอร์เน็ตหรือเชื่อมต่อไม่ได้ ก็ยังคงเปิดเข้าใช้งานเว็บไซต์นั้นๆ ได้เป็นปกติ
  3. ความเร็วในการใช้งานเว็บไซต์ผ่านมาตรฐาน Progressive Web App นั้นมีความเร็วสูง
  4. ด้วยคุณสมบัติ Responsive ที่มีมากับมาตฐาน Progressive Web App จะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าเว็บไซต์ใดใดบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตขนาดหน้าจอเล็กหรือใหญ่เท่าใดก็ได้
  5. หน้าตาเว็บไซต์ดูเหมือนโมบายแอปพลิเคชันทั่วไปมาก สามารถเรียกใช้งานในลักษณะของไอคอนได้เลยไม่ต้องพิมพ์ URL
  6. ด้วยคุณสมบัติของเว็บไซต์ทำให้ข้อมูลอัปเดตอยู่ตลอดเวลา
  7. มีระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ (Notifications) ทำให้ผู้ใช้มีความสัมพันธ์เนียวแน่นกับเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น
  8. รองรับมาตรฐานความปลอดภัยด้วยโปรโตคอล https สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้เว็บไซต์มากยิ่งขึ้น

โดยรวมแล้วมาตรฐาน Progressive Web App นั้นมีความสามารถใกล้เคียงกับโมบายแอปพลิเคชันมาก เพียงออกแบบเว็บไซต์ครั้งเดียวก็จะได้เว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้โดยไม่ต้องจ้างโปรแกรมเมอร์มาพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันเพิ่มเติม ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีที่ต้องจ่ายให้กับ App Store และ PlayStore อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นนี้มาตรฐาน Progressive Web App จะยังคงใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพกับผู้ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแอนดรอยด์ แต่กับแพลตฟอร์มของระบบปฏิบัติ iOS นั้นจะยังต้องปรับแต่งเพิ่มเติมอยู่บ้าง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เชื่อแน่ว่าทั้ง Android และ iOS จะสามารถนำมาตรฐานนี้มาใช้งานได้สมบรูณ์อย่างแน่นอน


เรื่องโดย นเรศ เดชผล

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924