Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

ชีวมวลไทย ใช้เหลือค่อยส่งออก

คงไม่ค่อยมีใครอยากจะเขียนถึงเรื่องของชีวมวลไทย (BIOMASS) เนื่องจากเป็นเรื่องปราบเซียน ตั้งแต่ปริมาณที่แท้จริง พื้นที่ปลูกการนำเข้าและส่งออก ผู้ที่ได้รับประโยชน์ ผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง ล้วนยังสีเทาๆ ไม่มีใครกล้าฟันธง รู้เพียงว่าพลังงานจากชีวมวลนั้นยิ่งใหญ่ในประเทศไทย

ชีวมวลไทยใช้เหลือ ค่อยส่งออก

แต่… พลังงานชีวมวลก็มีความไม่ลงตัวในตัวเอง ท่านลองตอบคำถามที่ว่า ทำไมประเทศในเมืองหนาวที่ปลูกพืชได้เพียงปีละ 120 วัน กลับมีผลิตภัณฑ์ไม้ส่งออกมาขายแบบเทน้ำ เทท่า ส่วนประเทศไทยซึ่งปลูกพืชได้ปีละ 365 วัน หลายๆ ประเทศต้องมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของไทย ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่ส่งเสริมชีวมวลเท่าที่ควรเป็น ทั้งๆ ที่ชีวมวลไทยมีความพร้อมที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังพระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 เรื่องปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น

ในความเป็นจริงแล้วก็มีหน่วยงานรัฐหลายๆ องค์กรที่มีภารกิจโดยตรงด้านนี้ ได้มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนชีวมวล เช่น กรมส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยได้ทุ่มงบประมาณกว่า 8 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนหัวเผา Boiler ให้สามารถใช้กับ Biomass Pellets/Wood Pellets ซึ่งเป็นวิธีการส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่มีค่าความร้อนสูงและความชื้นต่ำ ขนส่งสะดวกและลดมลพิษในอากาศ มีโรงงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม 15 โรงงานทั่วประเทศ ดังนี้ 1. บริษัท เชียงแสงเท็กซ์ไทล์ อินดัสตรีส์ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร 2. บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) จังหวัดปทุมธานี 3. บริษัท ยูนิลิเวอร์ ไทย โฮลดิ้ง จำกัด

พลังงานชีวมิวล

จังหวัดฉะเชิงเทรา 4. บริษัท เจ.เค. ชนาธาร จำกัด จังหวัดพะเยา 5. บริษัท เอพีเอ็ม อะโกร จำกัด จังหวัดราชบุรี 6. บริษัท เอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด จังหวัดราชบุรี 7. บริษัท ยูเนี่ยนเบ็ลท์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร 8. บริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จังหวัดชลบุรี 9. บริษัท เอราวัณบรรจุภัณฑ์ จำกัด จังหวัดลำพูน 10. ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงปลาบ่นสยาม จังหวัดชุมพร 11. บริษัท เอพีเอ็ม อะโกร จำกัด (โรงงาน2) จังหวัดราชบุรี 12. ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิรุณธร จังหวัดนครสวรรค์ 13. บริษัท โรงงานส่งเสริมไทยอุตสาหกรรม จังหวัด สมุทรปราการ 14. บริษัท ถาวรวัฒน์การฟอก จำกัด จังหวัดนครปฐม และ 15. ห้างหุ้นส่วนจำกัดอาหารเซี่ยงเฮง จังหวัดนครปฐม

Wood Pellets ในประเทศไทยยังจัดอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงด้านราคาและตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดต่างประเทศมีโอกาสถูกกีดกันอย่างมาก ดังนั้น ภาคเอกชนจึงควรรวมตัวกันสร้างมาตรฐานตั้งแต่การปลูกจนถึงการผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีการส่งออก Wood Pellets ไปยังประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นกว่าปีละ 100,000 ตัน ในระดับราคาที่แตกต่างกัน ด้านการผลิตประเทศไทยมีเครื่องจักรหลากหลายไม่ว่าจะนำเข้าแบบถูกๆ จนถึงระดับคุณภาพดีๆ จากภาคพื้นยุโรป นอกจากนี้ ยังมีการผลิตในประเทศที่ใช้ได้ผลดี และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่จุดวิกฤตของ Wood Pellets อาจจะไม่ใช่ราคาขายแต่เป็นเรื่องของต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟฟ้าที่ใช้ผลิตต่อตัน อาจเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของอุตสาหกรรมนี้เลยก็ว่าได้ เราได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลต้นทุนการผลิต Wood Pellets จากอาจารย์วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนี้

Wood Chip หรือที่เราเรียกกันว่า ไม้สับ ประเทศไทยเรามีทั้งนำเข้าและส่งออก เป็นการยากยิ่งในการประเมินว่า ประเทศไทยมีชีวมวลที่นำมาใช้ผลิต Wood Chip ปริมาณมากน้อยเท่าใด เนื่องจากมีตัวแปรผันแปรมีมากมาย แม้แต่ปริมาณการตัดโค่นยางพาราเพื่อปลูกทดแทนตามนโยบายรัฐยังไม่แน่นอน จึงขอแนะนำให้ไปดาวน์โหลดข้อมูลวิจัยหลายๆ สำนักใน www.thairenewableenergy.com อาทิ ‘การใช้ประโยชน์ไม้โตเร็วเพื่อเป็นพลังงานทดแทนฯ’ โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ และ ‘การพัฒนาไม้โตเร็ว สกุล Acacia สำหรับผลิตไฟฟ้า’ เป็นต้น ขอรับรองความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนั้น ท่านยังสามารถเลือกอ่านข้อมูลที่หายากๆ ด้านพลังงานทดแทนได้อีกด้วยในเว็บไซต์นี้

เมื่อพูดถึงชีวมวล มักจะมีคำถามจากผู้รักษ์ป่าไม้ เป็นห่วงว่าไม้จะหมดป่า กรมป่าไม้จะกลายเป็น ‘กรมป่าม้วย’ ท่านที่เป็นห่วงก็ลองอ่านความคิดเห็นของท่านรองอธิบดีกรมป่าไม้ดูจะได้เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว การส่งเสริมชีวมวลอันเป็นไม้เศรษฐกิจก็เป็น KPI หลักของกรมป่าไม้เช่นกัน ส่วนป่าอนุรักษ์กว่า 25% ของประเทศนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ท่านกอดไว้แน่นไม่มีใครไปตัดได้ง่ายๆ จึงไม่ต้องกังวลหากจะส่งเสริมชีวมวล

จงคล้าย วรพงศธร

คุณจงคล้าย วรพงศธร
รองอธิบดีกรมป่าไม้

กรมป่าไม้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 121 ปรับสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะงานด้านการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้พัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสวนป่าออนไลน์เพื่อความสะดวกสบายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานเพื่อยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แก่ผู้ทำสวนป่า ทั้งไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พะยูง ฯลฯ เมื่อปลูกแล้ว ก็สามารถตัดขายได้โดยผ่านกระบวนการขึ้นทะเบียนสวนป่ากับกรมป่าไม้

ตามแผนปฏิบัติการปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ พ.ศ. 2560-2579 (แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) มุ่งไปที่เป้าหมายการเพิ่มที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 25 ซึ่งในปัจจุบันนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลพื้นที่ในส่วนนี้อยู่

สำหรับการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ มีพื้นที่จากการส่งเสริมภาคเอกชนปลูกป่าจากที่ผ่านมารวมกับพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งทางกรมป่าไม้รับผิดชอบอยู่รวมประมาณ 22.1 ล้านไร่ หากรวมกับพื้นที่ป่าเศรษฐกิจขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) อีก 1.1 ล้านไร่ ก็จะมีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจจำนวน 23.2 ล้านไร่ ซึ่งยังขาดพื้นที่อีก 25.8 ล้านไร่ จึงจะได้ตั้งเป้าหมายพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 (จำนวน 49 ล้านไร่) ทั้งนี้ ในปัจจุบันทางกรมป่าไม้ยังคงต้องดำเนินการส่งเสริมและพัฒนางานปลูกป่าเศรษฐกิจอยู่อีกมาก ซึ่งต้องฝากความหวังไว้ที่ภาคเอกชนและต้องขอบคุณทาง “คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ที่ได้ให้ความสำคัญในด้านการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ “กรมป่าไม้” มาพร้อมกับพันธกิจที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน ตั้งแต่การสร้างอาชีพใหม่ขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ อาชีพ “ปลูกไม้เศรษฐกิจ” ทั้งไม้รอบตัดฟันยาว ไม้โตเร็ว ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ กรมป่าไม้จะสนับสนุนสวนป่าเอกชนในรูปแบบวนเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจ สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้จากป่าปลูก สำหรับพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมกำลังจะสนับสนุนให้ปลุกไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับพืชเกษตรในรูปแบบวนเกษตรเช่นกัน โดยไม้เศรษฐกิจโตเร็วจะได้ป้อนให้กับโรงงานชีวมวลในพื้นที่ ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจไว้ก่อนส่งเสริมให้ราษฎรปลูก ทั้งนี้ ราษฎรจะมีรายได้จากพืชเกษตรก่อนการตัดฟันไม้เศรษฐกิจโตเร็วในช่วง 3-5 ปี จึงมั่นใจได้ว่านโยบายของกรมป่าไม้ยุคไทยแลนด์ 4.0 ชีวมวลไทยจะไม่ขาดแคลน ภาคเอกชนจะสามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

เยาวธีร อัชวังกูล

ดร.เยาวธีร อัชวังกูล (วิศวกรเครื่องกล)
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานชีวมวลที่จะส่งผลประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อผู้ประกอบกิจการในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง ดังนั้นจึงได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pellets) สำหรับผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการส่งเสริมการใช้ชีวมวลผลิตพลังงานความร้อน 22 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภายในปีพ.ศ. 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2015

วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ

ผศ. วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ
ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาในอุตสาหกรรม Wood Pellets
กรรมการบริหาร บริษัท เพาเวอร์ เพลเลท จำกัด, บริษัท เค ดับเบิล ยู เอ็ม เซอร์วิส จำกัด , บริษัท โก กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด , บริษัท ไบโอ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เพลเลท (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ยูโร เพลเลท จำกัด , บริษัท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เมเนจเมนท์ จำกัด

อุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2554 และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2556-2557 จากความต้องการ Wood Pellets อย่างมากของประเทศเกาหลีใต้ จนทำให้เกิดโรงงานผลิตเพิ่มขึ้นถึง 140-160 แห่ง หลังจากวิกฤตราคาน้ำมันลดต่ำลง ทำให้เกิดการชะลอการใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลให้หลายโรงงานปิดกิจการ เหลือโรงงานที่ผลิตจริงไม่เกิน 30 แห่ง และจากวิกฤตราคาจากประเทศเกาหลีใต้ จึงทำให้เกิดการพัฒนาการใช้งาน Wood Pellets ภายในประเทศมีมากขึ้น จนในปัจจุบันมีความต้องการการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในส่วนของภาครัฐบาลเองก็มีนโยบายและมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ Wood Pellets ภายในประเทศมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนจากหม้อไอน้ำที่ใช้หัวพ่นไฟน้ำมันเตามาเป็นหัวพ่นไฟ Pellets Burner โดยกระทรวงพลังงานจะมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 30% หรือโครงการทดสอบการใช้งาน Wood Pellets ร่วมในโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในอำเภอแม่เมาะ

สำหรับในปัจจุบันธุรกิจ Wood Pellets ได้กลับมาคึกคักอีกครั้งจากตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นตลาดแบบ Long-Term คือต้องการทำสัญญาระยะยาว 10-15 ปี จากโรงงานที่มีมาตรฐาน และมีความยั่งยืนด้านวัตถุดิบจากป่าปลูก (FSC-FM)  โดยปริมาณการใช้งานของตลาดญี่ปุ่นจะเริ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 เนื่องจาก โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างเริ่มทยอยเดินเครื่อง ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโรงงานเดิม และนักลงทุนใหม่ที่ต้องการเข้ามาในธุรกิจนี้ แต่คงต้องเป็นการทำโรงงานแบบมีมาตรฐาน และมีการบริหารวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ถึงจะสามารถอยู่รอดในธุรกิจนี้ได้

คุณณัชชรีย์ ธนสินพรพิศาล
กรรมการผู้จัดการ บจก.เวสเทิร์นพาร์ทอินเตอร์แมค,
หจก.ชนินทร์วิศวกรรมจักรกล1998 และ หจก.เนเจอร์พาวเวอร์ไบโอแมส

สถานการณ์ชีวมวลในประเทศไทยปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนตลาดปีกไม้ยางพารา ไม้เบญจพรรณ ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจที่อยู่ในความต้องการของตลาดปรับราคาสูงขึ้น และอีกประการหนึ่งที่ทำให้ราคาสูง ก็คืออำนาจซื้อของบริษัทยักษ์ใหญ่ จึงทำให้โรงงาน รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก ๆ บางแห่งขาดแคลนเชื้อเพลิง ปัจจุบันชีวมวลมีการขนส่งกันสุดเหนือ สุดใต้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด

บริษัท เวสเทิร์นพาร์ทอินเตอร์แมค จำกัด ได้ก่อตั้งเมื่อ 3 ก.ย. 2534 เริ่มจากโรงกลึง รับซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ สู่ธุรกิจผลิตเครื่องสับไม้ชีวมวลทั้งระบบส่งขายทั่วประเทศ รวมทั้งอาเซียน นอกจากนี้ ยังจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอีกด้วย ท้ายนี้ขอเสนอต่อภาครัฐให้มีการดูแลราคาที่ปรับตัวสูง และให้ความรู้ชุมชนด้านการปลูกไม้โตเร็ว ปลูกไม้เศรษฐกิจ ให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้พร้อมแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งให้ความสะดวกในการขออนุญาตตัดขาย ประเทศไทยจะได้มีชีวมวลเพียงพอ และเป็นการช่วยรัฐปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย

ในฐานะผู้ผลิตเครื่องสับไม้ ขอเป็นเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่ช่วยผลักดันและรอดูความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชีวมวลไทยต่อไป

ชีวมวลไทย เศษไม้ใบหญ้าบนผืนแผ่นดินไทย เคยช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในอดีตจวบจนปัจจุบัน กลไกรัฐปรับเปลี่ยนสู่เชิงพาณิชย์ จากการแบ่งปันสู่การแข่งขันเต็มรูปแบบ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก คำว่าชุมชนจึงกลายเป็นวลีข้ออ้างเพื่อของบประมาณจากรัฐ หากมีการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาครัฐหรือกรมป่าไม้ พันธมิตรใหม่โรงไฟฟ้าชีวมวล จะหาวิธีอนุเคราะห์ชุมชนให้มีส่วนได้ (Stakeholder) แทนการมีส่วนร่วมมานานแสนนาน

EXECUTIVE SUMMARY

Department of Alternative Energy Development and Efficiency (DEDE) injected over 8 million baht budget to replace new boilers so the factories could be compatible with Biomass Pellets/Wood Pellets. This method was aimed to promote the use of biomass fuel that offers high thermal value and low humidity value. It is also convenient to transport as well as reduces air pollution. In the oversea markets, Thai Biomass pellets have to come across various international regulations and pricing. Therefore, private sectors should get together to set the standard starting from cultivation to production. Thailand potential export market is Taiwan, South Korea, and Japan for over 100,000 tons per year with variation in prices. In addition to the production, Thailand has a diversity of import machineries from cheap to high quality ones including local manufactured machineries that offer good performance, and widely used nowadays. The point of Wood Pallets may not be its selling price, but it is all about the production cost particularly electricity charge per one ton of production, which may definitely be the indicator to survive in this industry.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924