Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

พร้อมหรือยังสำหรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่บนวงโคจรระดับต่ำ?

ในอนาคตอันใกล้การทำธุรกิจจะไม่ได้จำกัดอยู่บนโลกอีกต่อไป เมื่อ NASA เตรียมลุยเปิดโอกาสธุรกิจเชิงพาณิชย์บนวงโคจรระดับต่ำของโลก ในขณะที่บริษัทเอกชนอย่าง Starlink ที่นำโดย Elon Musk ก็ทดสอบริการอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงจากวงโคจร แล้วผู้ประกอบการจะได้อะไรจากตลาดใหม่ในครั้งนี้?

LEO

ภาพธุรกิจในวงโคจรระดับต่ำสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นอาจไม่สามารถจับต้องได้ชัดเจนนัก นอกเหนือจากธุรกิจการท่องเที่ยวนอกโลกที่พยายามโปรโมทติดต่อกันมาอย่างยาวนาน NASA ยังวางแผนสำหรับธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในวงโคจรระดับต่ำอีกด้วย

เศรษฐกิจในวงโคจรระดับต่ำคืออะไร?

Low-Earth Orbit (LEO) หรือวงโคจรระดับต่ำนั้นเป็นระยะความสูงท่ีวัดจากพื้นโลกขึ้นไป 2,000 กิโลเมตรหรือน้อยกว่า ซึ่งอยู่ในระยะวงโคจรของโลกที่สามารถทำการขนส่ง สื่อสาร สำรวจ และเติมเสบียงได้อย่างสะดวก เป็นพื้นที่เดียวกับสถานีอวกาศนานาชาติทำการอยู่ในปัจจุบันซึ่งแผนต่าง ๆ ในอนาคตจะถูกต่อยอดจากสถานีเหล่านี้

สำหรับเศรษฐกิจในวงโคจรระดับต่ำนั้นจะเป็นทั้งการผลิต การกระจายสินค้า การซื้อขาย ไปจนถึงการบริการ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเศรษฐกิจในอวกาศจะเติบโตขึ้นจากหลากหลายกลุ่มองค์กร เช่น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มวิชาการ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เศรษฐกิจของ LEO เติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างความยั่งยืนให้กับอวกาศในระยะยาว

เศรษฐกิจในวงโคจรระดับต่ำจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจได้อย่างไร?

ในอนาคตนั้นการเติบโตของสถานีอวกาศจะเพียงพอให้เกิดชุมชนแห่งใหม่ขึ้นบนพื้นที่นอกโลก ข้อจำกัดด้านพื้นที่จะค่อย ๆ คลายตัวลงเมื่อพื้นที่ใหม่เกิดขึ้นในอวกาศ ในระยะยาวสิ่งนี้จะนำไปสู่การตั้งพื้นที่อาณานิคมใหม่ให้กับมนุษยชาติ แต่สำหรับในระยะสั้นมันสามารถใช้เป็นพื้นที่ทางการพาณิชย์ต่าง ๆ และใช้งานในด้านการตลาดได้อย่างน่าสนใจ

หนึ่งในตัวอย่างธุรกิจที่ใกล้เกิดขึ้นจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับวงโคจรระดับต่ำ คือ Starlink โครงการอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงในวงโคจรต่ำ เน้นการส่งสัญญาณที่มีคุณภาพไปยังทั่วทุกพื้นที่บนผิวโลก ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคุณภาพและการสื่อสารผ่านดาวเทียม มีจุดเด่นในการใช้งานที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วถึงเกือบทุกพื้นที่บนผิวโลกด้วยการใช้ดาวเทียมจำนวนมากส่งสัญญาณที่ระดับความสูง 550 กิโลเมตร

ในส่วนของภาครัฐนั้นสามารถใช้งานโอกาสนี้ในด้านของความมั่นคง และการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ในประเทศของตัวเอง ไปจนถึงการใช้งานในสภาวะฉุกเฉิน เช่น การกู้ภัยจากภัยธรรมชาติเป็นต้น

สำหรับภาควิชาการหรือการศึกษาสามารถใช้พื้นที่ในอวกาศทำการทดสอบที่ไม่อาจดำเนินการได้บนโลก อาทิ การทดสอบภายในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือวิจัยเชื้อโรคที่อันตรายเป็นต้น

แล้วอุตสาหกรรมการผลิตจะได้อะไรจากความเปลี่ยนแปลงนี้?

เรื่องราวของอวกาศอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งก็ไม่ต่างจากการใช้งานหุ่นยนต์ในอดีตที่อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวไม่ต่างกัน แต่เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึงผู้ที่มองเห็นโอกาสและออกเดินก่อนใครจะเป็นผู้คว้าหลักชัยสำหรับตลาดใหม่เอาไว้ได้ก่อนคู่แข่ง

การวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่บนวงโคจรระดับต่ำตามแนวคิดของ NASA นั้นจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรค์ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อทำให้เกิดขึ้นได้จริง โดยทรัพยากรที่ใช้มีตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในอวกาศ ตลอดไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต ในท้ายที่สุดสิ่งอำนวยความสะดวกและความบันเทิงจะตามติดมาหลังจากโครงสร้างพื้นฐานสำเร็จลุล่วงแล้ว

ความท้าทายของเศรษฐกิจบนวงโคจรต่ำนั้นนอกจากจะเป็นการจัดหาอุปกรณ์เพื่อส่งขึ้นไปแล้ว ยังหมายรวมถึงความท้าทายในการผลิตและสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เศรษฐกิจบนวงโคจรนั้นสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองอีกประการหนึ่ง ผู้ที่หวังจะเปิดตลาดใหม่นี้จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านสภาพแวดล้อมที่จะต้องเจอในอวกาศเพื่อพัฒนาสินค้าด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ สถานะของวัตถุ หรือแปรรูปทรัพยากรบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นต้น

NASA ได้แบ่งแผนการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ระยะสั้น
    • ทำการบูรณาการและปรับปรุงแผนของตัวแทนสำหรับการพัฒนาการพาณิชย์ของ LEO ร่วมกับพันธมิตรนานาชาติ อาทิ
      1. ปรับปรุงและบูรณาการความต้องการใช้สถานีนานาชาติในเชิงพาณิชย์และมาตรการด้านราคา
      2. ท่ีพักส่วนบุคคลสำหรับภารกิจของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ
      3. จัดการคัดเลือกประมูลสำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับการทำให้ LEO เป็นพื้นที่เป้าหมาย
      4. ค้นหาและไขว่คว้าโอกาสในการกระตุ้นความต้องการ
      5. เพิ่มปริมาณความต้องการของกิจกรรมของ NASA ในระยะยาวสำหรับ LEO
  • ระยะกลาง
    • สร้างพันธมิตรกับอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาและสร้างตัวอย่างให้กับการพาณิชย์ของ LEO
    • เข้าสู่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ได้มาซึ่งการบริการที่จำเป็นสำหรับการเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับพาณิชย์มากกว่าการเป็นสถานีอวกาศนานาชาติ
    • ค้นหาและไขว่คว้าโอกาสในการกระตุ้นความต้องการที่ยั่งยืนสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจาก LEO
    • สร้างการเปลี่ยนผ่านจากสินทรัพย์ของสถานีอวกาศนานาชาติในขณะที่ยังคงสร้างความพึงพอใจให้กับพันธมิตรในข้อตกลงระดับนานาชาติ
  • ระยะยาว
    • NASA จะเป็นหนึ่งในลูกค้าของเศรษฐกิจ LEO ที่แข็งแกร่ง
    • เปลี่ยนผ่านสินทรัพย์ของสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออายุขัยของสถานีมาถึง
    • ดำเนินการวิจัยและพัฒนาของ NASA อย่างต่อเนื่องบนจุดหมายปลายทางของพาณิชย์ใน LEO
    • ซื้อขายบริการ National Lab จากผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์

การพัฒนาสถานีอวกาศนานาชาติและระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมของ LEO นั้นยังต้องการทรัพยากรอีกมาก ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นช่องว่างให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะในส่วนของ ภารกิจเติมเสบียง กิจกรรมของนักบินเชิงพาณิชย์ และงานวิจัยและพัฒนาสำหรับ ISS National Lab

แม้ว่าแนวโน้มในการเข้าถึง LEO ภายใต้การกำกับดูแลของ NASA จะดูห่างไกลและอาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยการประกาศความก้าวหน้า นโยบาย และทิศทางที่ชัดเจนผู้ประอกบการที่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกก็สามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน นอกจากนี้นานาประเทศที่มีศักยภาพและให้ความร่วมมือกับสถานีอวกาศนานาชาติย่อมพร้อมประกาศแผนรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจของ LEO ด้วยอย่างแน่นอน ทำให้โอกาสการลงทุนต่าง ๆ เกิดการกระจายตัวไปตามประเทศและนโยบายที่แตกต่างกันภายใต้การแข่งขันมุ่งไปสู่ดวงดาวรูปแบบใหม่นี้

ที่มา:
Nasa.gov

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924