พพ.ปลื้มผลสำเร็จ หนุนผู้ประกอบการสมาร์ทฟาร์มปศุสัตว์ 19 รายทั่วประเทศ ร่วมอนุรักษ์พลังงาน ลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยี อุปกรณ์และการใช้ IoT ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้เกษตรกรรวม 35 ล้านบาท
นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย ว่า พพ.ได้จัดสัมมนาและแถลงผลการดำเนินงานของ “โครงการสาธิตการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคเกษตรกรรม” ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์ไปสู่ สมาร์ทฟาร์ม ปรับกระบวนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการใช้พลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม โดยได้คัดเลือกฟาร์มปศุสัตว์ 19 รายเข้าร่วมโครงการเพื่อรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในการดำเนินงาน ส่งผลให้สามารถประหยัดพลังงานรวมทั้งโครงการ 747 ตันน้ำมันดิบ (toe) คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ทั้งสิ้นจำนวน 35 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.8 ล้านบาทต่อแห่ง
“โครงการสาธิตฯเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคเกษตรกรรม” ในครั้งนี้ พพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปส่งเสริมความรู้ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน ให้ฟาร์มปศุสัตว์ในด้านต่าง ๆ ทั้งการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ร่วมกับการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานผ่านการสนับสนุนเงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯ โดยได้มีการคัดเลือกฟาร์มปศุสัตว์จากที่ยื่นสมัครทั้งสิ้น 72 รายและคัดที่ผ่านเกณฑ์เหลือ 19 ราย แบ่งออกเป็น ฟาร์มสุกร จำนวน 10 ราย ฟาร์มไก่ จำนวน 4 ราย และ ฟาร์มโค จำนวน 5 ราย
ทั้งนี้ภายหลังจากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จพบว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์ ลดการใช้พลังงานได้ถึง 10-50% เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานเดิม ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถึง 10-30 % ของต้นทุนค่าใช้จ่ายเดิม ลดการใช้แรงงานคนในการจัดการข้อมูล เพิ่มความสะดวกสบายในการทำงาน ผ่านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการให้มีระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์มีโอกาสในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว โดยคาดว่าจะใช้ระยะคืนทุนเฉลี่ยเพียง 2-5 ปี เท่านั้น
สำหรับแผนงานในปี 2562 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะเปิดรับสมัครฟาร์มรุ่นที่ 2 อีกไม่น้อยกว่า 30 ฟาร์ม เพื่อสร้างฟาร์มต้นแบบเพิ่มเติม และจะขยายผลไปสู่ประเภทฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย จึงอยากให้ท่านที่สนใจ ได้ติดตามการรับสมัครรอบใหม่ในระยะเวลาอันใกล้นี้