Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

บี.กริม จับมือ นิคมอุตฯเอเชีย พัฒนาระบบ “สมาร์ทกริด”

บี.กริม เพาเวอร์ ลงนาม MOU นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ร่วมศึกษาแนวทางพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน พร้อมลุยพัฒนาระบบ “สมาร์ทกริด” ในนิคมอุตสาหกรรม

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด  (มหาชน) หรือ BGRIM ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับนายชาลี โสภณพนิช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด (นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย) เพื่อร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Smart Grid) ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม 

หนึ่งในปัจจัยการผลิตให้ได้คุณภาพ สามารถเริ่มได้ที่ “มอเตอร์” | Orientalmotor [Super Source]

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์  เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของการทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นด้วยก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนอื่น ๆ ตลอดจนการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการเป็นผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งให้บริการพลังงานที่มีคุณภาพและเสถียรภาพผ่านการซื้อขายในระบบ energy trading โดยขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรง ไม่ผ่านระบบของการไฟฟ้า ซึ่งอาศัยโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่พัฒนาโดย บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ได้นำร่องทดสอบระบบ trading ระหว่างอาคารต่างๆ ในเครือ บี.กริม และในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว  

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ และ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ในครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่ต้องการมุ่งขยายธุรกิจระบบการส่งและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทมีการสร้างและควบคุมระบบการส่งและระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 9 แห่งทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ สู่การเป็น Smart City ในอนาคต

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) เป็นนิคมร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตั้งอยู่บริเวณ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ โลจิสติคส์ อาหาร เวชภัณฑ์ อีคอมเมิร์ซ และดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ที่สามารถเดินทางเข้าสู่เขตธุรกิจของกรุงเทพฯ (40 กม.) และศูนย์กลางการขนส่งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (20 กม.) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักของประเทศไทย สถานีแยกและบรรจุสินค้ากล่องลาดกระบัง (20 กม.) ท่าเรือคลองเตย (54 กม.) และท่าเรือแหลมฉบัง (85 กม.) ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 

การเดินทางสู่นิคมสามารถทำได้โดยใช้สองเส้นทางหลัก คือ ถนนบางนา-ตราด ผ่านถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี และ มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี ผ่านถนนหลวงเพ่ง ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเส้นทางหลักจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องด้วยมีการขยายถนนเส้นดังกล่าวเป็น 4 ช่องและ 6 ช่องจราจร ปัจจุบัน ในนิคมมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็นจีเค เซรามิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท สายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด

ก่อนหน้านี้ บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการศึกษานำร่องพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี กับสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกำลังผลิตไฟฟ้าหลายรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งโซลาร์ลอยน้ำ โซลาร์รูฟท็อป ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) รวมถึง การอัพเกรดสายส่ง และระบบต่างๆ ให้ทันสมัย เป็นระบบอัจฉริยะเพื่อรองรับต่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยี 5G โดยโครงการนำร่องจะทยอยดำเนินการเป็นระยะๆ

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 50 โครงการ และตั้งเป้ากำลังการผลิตเติบโตจาก 3,058 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 เป็นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 7,200 เมกะวัตต์ในปี 2568 และมุ่งสู่ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยมีเป้าหมายรายได้ต่อปีกว่า 100,000 ล้านบาท

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924