Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ถึงเวลาใช้ระบบอัตโนมัติกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในตลาดชิ้นส่วนทดแทน

SMART MACHINERY X THAI AUTOPARTS MANUFACTURER

เมื่อการแข่งขันในโลกของอุตสาหกรรมการผลิตเข้าสู่ยุค 4.0 และภาครัฐบาลตอบสนองด้วยนโยบาย Thailand 4.0 การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจำเป็นต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตหรือกระแส EV ที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว Modern Manufacturing ชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับศักยภาพและเทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าสนใจผ่านข้อมูลจาก TAIWAN SMART MACHINERY FORUM

ถึงเวลาใช้ระบบอัตโนมัติกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในตลาดชิ้นส่วนทดแทน

การเสวนาและแบ่งปันความรู้ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก TAITRA โดยมีคุณพิชัย รวมธารทองนายกสมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย คุณเสกสันต์ ปัญญางาม ผู้จัดการฝ่ายขาย Femco ประเทศไทย Mr. Ming Ye The, Product Manager of FCD Group และ Mr. CC Cheng, Senior Director of New Kinpo Group เป็นตัวแทนผู้ประกอบการไทยและผู้ผลิตเครื่องจักรไต้หวันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเครื่องจักรอัตโนมัติ

ความท้าทายในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เคยมีแรงงานเป็นฟันเฟืองสำคัญได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัย 4 ประการ ได้แก่

  1. การขาดแคลนองค์ความรู้และแรงงานที่มีทักษะความสามารถ
  2. อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  3. ต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบที่สูง
  4. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเช่นกัน การแก้ปัญหาในระยะยาวสำหรับเรื่องจำนวนแรงงานและทักษะแรงงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงปัญหาความยั่งยืนในด้านพลังงานและกระบวนการผลิตที่ทรัพยากรกลับลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบอัตโนมัติกลายเป็นทางเลือกที่มีความคุ้มค่าทั้งในด้านคุณภาพชิ้นงาน ปริมาณการผลิต การบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งานอีกด้วย

การกำหนดบทบาทการผลิตของโรงงานที่ชัดเจนสามารถคัดกรองรูปแบบการลงทุนและการปรับใช้ระบบอัตโนมัติในโรงงานได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าหากเป็นผู้รับผลิต OEM มาตรฐานต่าง ๆ จะถูกกำหนดไว้แล้ว การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงมีตัวเลือกในการลงุทนที่จำกัด ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วน After Market กลุ่มชิ้นส่วนทดแทนจะต้องพิจารณาถึงคุุณภาพการผลิต และความคุ้มค่าในการลงทุนเครื่องจักรซึ่งมีตัวเลือกมากมายขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการผลิต แต่ต้องอย่าลืมเรื่องคุณภาพของชิ้นส่วนและราคาที่ต้องสามารถต่อสู้กับ OEM ได้ในฐานะ “ชิ้นส่วนทดแทน” ที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภค

ชิ้นส่วนทดแทนไทยในตลาด After Market

ประเทศไทยได้รับการยอมรับสำหรับคุณภาพสินค้าและกรรมวิธีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากหลากหลายประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยุโรป เอเชีย ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตได้ทั้งชิ้นส่วน OEM และชิ้นส่วนทดแทน แน่นอนว่าชิ้นส่วน OEM นั้นจะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานของแบรนด์เจ้าของอย่างแน่นอน แล้วชิ้นส่วนทดแทนล่ะ?

ชิ้นส่วนทดแทนหรือที่เรียกกันจนติดปากว่าอะไหล่เทียมหรืออะไหล่เทียบนั้นได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายด้วยราคาส่วนใหญ่ที่ถูกกว่าชิ้นส่วน OEM ทั้งยังมีตัวเลือกอีกมากมายไม่ว่าจะใช้สำหรับทดแทนหรือเพื่อการอัพเกรดสมรรถนะเดิม โดยที่ชิ้นส่วนทดแทนเองก็ต้องมีมาตรฐานที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า OEM เช่นกัน

จุดเด่นของชิ้นส่วนทดแทน คือ ราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ เช่น ราคาชิ้นส่วนอาจถูกกว่าชิ้นส่วน OEM ครึ่งนึงหรือ 1/3 ในขณะที่ OEM มีอายุการใช้งาน 3 ปี แต่ชิ้นส่วนทดแทนอาจใช้ได้ 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่ง แต่ไม่ใช่ใช้งานไปไม่กี่วันแล้วก็ชำรุดต้องเปลี่ยนอีก ดังนั้นการผลิตชิ้นส่วนทดแทนนั้นไม่ได้หมายความว่ามาตรฐานจะยิ่งหย่อนไปกว่า OEM มากนัก การเลือกใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีการผลิตจำเป็นจะต้องรักษาไว้ซึ่งคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้เช่นกัน

ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดชิ้นส่วนทดแทนในประเทศไทยและต่างประเทศนั้นไม่ได้มีเฉพาะชิ้นส่วนจากผู้ผลิตชาวไทย แต่มีชิ้นส่วนจากประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงชิ้นส่วนมือสองสภาพดีที่นำเข้าเป็นทางเลือกการใช้งาน ทำให้คู่แข่งทางธุรกิจมีหลากหลาย การเลือกใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับงานจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยุคใหม่

ระบบอัตโนมัติช่วยอะไรอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์?

ระบบอัตโนมัตินั้นจะเปลี่ยนรูปแบบวิธีการผลิตจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทั้งเวลา ทุนทรัพย์ เพิ่มศักยภาพการผลิตได้กว่า 50% รวมถึงควบคุมคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิด Zero Waste หรือการผลิตที่ไร้ของเสียได้ โดยการทำงานทุกขั้นตอนจะมีการบันทึกข้อมูลและรายงานผลอย่างชัดเจนแบบ Real-Time ทำให้สามารถวิเคราะห์และแก้ไขสายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมการผลิตล้อรถยนต์ด้วยระบบอัตโนมัติจาก FEMCO ที่มใช้เทคโนโลยี Automatic Virtual Metrology หรือ AVM ทำการตรวจสอบการสั่นสะเทือนและค่ากระแส (Current) ที่ไหลผ่านล้อในระหว่างการผลิตเพื่อตรวจสอบคุณภาพไปพร้อมกับการผลิต ลดความสูญเสียของการผลิตที่ปรกติต้องรอชิ้นงานเสร็จจึงทำการตรวจสอบ แต่สามารถปรับเปลี่ยนและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เปลี่ยนการทำงานจากแบบ Latency & Sampling Inspection ซึ่งใช้เวลาและการสุ่มตัวอย่างตรวจเป็นการทำงานแบบ Real-Time & Full Inspection ที่สามารถตรวจสอบการทำงานได้ครบถ้วนตลอดเวลา

สำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ระบบอัตโนมัติสามารถควบคุมการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการใช้ความร้อนที่สามารถละลายวัตถุดิบได้ดีจะสามารถสร้างชิ้นส่วนที่มีคุณภาพได้เช่นกัน ซึ่งการใช้ความร้อนสูงจะสร้างค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก ระบบอัตโนมัติสามารถควบคุมและกำหนดการใช้พลังงานในระดับที่เหมาะสมเกิดความคุ้มค่าในการใช้พลังงาน

ในส่วนของการบริหารจัดการโรงงาน ระบบอัตโนมัติและระบบเครือข่ายที่ดีทำให้สามารถดูแลและเข้าถึงข้อมูลการผลิตจากภายนอกโรงงาน รวมถึงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการโรงงานที่ตั้งอยู๋ในพื้นที่หลากหลายด้วยผู้จัดการโรงงานเพียงคนเดียวเป็นต้น

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต?

การใช้งานระบบอัตโนมัติสามารถปรับใช้ได้กับทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการบริหารจัดการคลังสินค้า รวมถึงการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างในการปรับปรุงและพัฒนาได้เป็นอย่างดี โดยผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงจากระบบอัตโนมัติสามารถแบ่งได้เป็น 4 หัวข้อหลัก ดังนี้

  1. Process Optimization
    กระบวนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การทำงานทุกขั้นตอนจะถูกรายงานผลเพื่อนำไปสู่การผลิตแบบไร้ความสูญเสีย (Zero Waste) ด้วยความละเอียดและความรัดกุมของระบบอัตโนมัติ ทรัพยากรทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกขั้นตอน
  2. Smart Production
    การผลิตด้วยระบบอัตโนมัตินำไปสู่สายการผลิตอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการลดภาระการทำงานที่ไม่จำเป็นสำหรับแรงงาน เช่น การทำงานซ้ำ ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ การทำงานที่มีความเสี่ยง หรือการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพิ่ม Productivity ด้วยการวางแผนการทำงาน การซ่อมบำรุง และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานในการตัดสินใจ
  3. Process Stability
    การใช้ระบบอัตโนมัติทำให้กระบวนการผลิตมีความเสถียร สามารถคาดการณ์การทำงานต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะการซ่อมบำรุง การจัดการวัตถุดิบ การบริหารสินค้าคงคลัง รวมถึงรายงานสถานะการทำงานและสถานภาพเครื่องจักรแบบ Real-Time ทำให้สามารถวางแผนรองรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที สร้างความต่อเนื่องและความแน่นอนในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างความมั่นจในการนัดส่งสินค้าให้กับคู่ค้าได้อีกด้วย
  4. Smart Service
    อีกหนึ่งจุดเด่นในการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะ คือ ความสามารถในการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง การติดตามเก็บข้อมูลผู้ใช้ ผู้บริโภคในส่วนของผู้ผลิต ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรสามารถเรียกดูข้อมูลและดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้นผ่านระบบเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วลดระยะเวลา Downtime และการสูญเสียลงได้ชัดเจน สำหรับในส่วนของผู้บริโภคนั้นสามารถตรวจสอบข้อมูลที่มา การผลิต และคุณภาพของวัตถุดิบ ก่อให้เกิด 2 Ways Communication ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคขึ้น

แน่นอนว่าการใช้งานระบบการผลิตอัตโนมัติในตลาดชิ้นส่วนทดแทนสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันที่วัดผลได้อย่างชัดเจนเช่นกัน เพราะการบริหารจัดการและการทำงานที่มีประสิทธิภาพไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะชิ้นส่วน OEM เท่านั้น แต่การผลิตชิ้นส่วนทดแทนต้องการกระบวนการทำงานในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่าง คือ วัสดุ และคุณภาพของเครื่องจักร ที่ใช้ในการผลิต

ไต้หวัน เครื่องจักรอัตโนมัติทางเลือกคุ้มราคา

เมื่อนึกถึงเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติหลายคนอาจนึกถึง เยอรมนี สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องจักรคุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเวลานาน การใช้งานเครื่องจักรและระบบจากประเทศเหล่านี้มีราคาต้นทุนที่สูง เหมาะสมกับการผลิตชิ้นส่วน OEM ที่มีการระบุสเป็คการผลิตและคุณภาพที่ชัดเจน

แต่สำหรับชิ้นส่วนทดแทน “ราคา” กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยตรง หากลงทุนกับเครื่องจักรจากเยอรมนีหรือญี่ปุ่นอาจไม่คุ้มค่าสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนทดแทน หนึ่งในประเทศที่น่าจับตาสำหรับเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติที่มีการส่งออกเครื่องจักรให้กับประเทศไทยจำนวนมาก คือ ไต้หวัน ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศผู้ผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ในขณะที่ราคายังคงเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน โดยประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องฉีดพลาสติกจากไต้หวันมากเป็นลำดับที่ 3 ในปัจจุบันมีโรงงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้เครื่องจักรจากไต้หวันในสายการผลิต

คุณภาพชิ้นส่วนที่ผลิตจากไต้หวันเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวไทยมาเป็นเวลานาน ชิ้นทดแทนจากไต้หวันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนรถยุโรปรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นไฟท้าย ไฟหน้า ยางกันสั่นต่าง ๆ รวมถึงล้อแม็กลายหายากจำนวนมากที่คนขายต่างพร้อมใจกันชูจุดขาย “งานไต้หวันครับพี่” ด้วยราคาที่เข้าถึงได้และคุณภาพที่สามารถใช้งานได้เช่นกัน

การเลือกใช้เครื่องจักรจากไต้หวันกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทดแทนที่น่าสนใจ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า คุณภาพที่ไม่น้อยไปกว่าผู้ผลิตจากประเทศชั้นนำอื่น ๆ รวมถึงการยอมรับจากฐานผู้บริโภคเดิมทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างชัดเจน สามารถใช้งานได้กับทุกส่วนของกระบวนการอุตสาหกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในปัจจุบันด้วยการควบคุมต้นทุน ลดความสูญเสีย และควบคุมคุณภาพการผลิตได้อย่างครบวงจร ซึ่งตลาดชิ้นส่วน After Market ของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลสามารถปรับใช้เพิ่มเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและระดับสากลได้อย่างยั่งยืน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924