Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

เปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ช่วย SME สู้วิกฤติโควิด-19

สสว. ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง สภาพัฒน์ฯ และภาคีเครือขายภาครัฐและภาคเอกชน หวังช่วย SME สู้วิกฤติโควิด-19 รุกตลาดใหญ่ “จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท เตรียมเดินหน้าทั้งมาตรการกำหนดโค้วตาซื้อสินค้า/บริการ และการให้แต้มต่อ SME เพื่อเพิ่มศักภาพการแข่งขัน พร้อมเปิดช่องทางเข้าถึงผู้ประกอบการและสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการขึ้นทะเบียน SME และจัดทำแคตตาล็อกสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด

 นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในนามคณะทำงานสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบูรณาการความร่วมมือหาแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้สามารถพลิกฟื้นกิจการภายหลังวิกฤติโควิด-19 ด้วยการมุ่งสร้างโอกาสในตลาดที่สำคัญ คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

“การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการ SME เห็นได้จากข้อมูลในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่า ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมา SME ยังเข้าถึงได้น้อย ซึ่งจากจำนวน SME ที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีกว่า 7 แสนราย มีผู้ที่สามารถเข้าสู่ระบบจัดซื้อฯ โดยร่วมยื่นข้อเสนอโครงการได้เพียง 61,956 ราย หรือเพียงร้อยละ 8.84 อุปสรรคสำคัญมาจาก SME ขาดความรู้ ความเข้าใจในการเข้าถึงระบบฯ รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการจัดจ้างของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่สูง ขณะที่ความน่าเชื่อถือในการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างและภายในระยะเวลาที่กำหนดมีต่ำกว่ารายใหญ่”

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริม SME ให้เข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมากรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างนำเสนอ 2 มาตรการ ได้แก่ การกำหนดสัดส่วนงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างจาก SME คิดเป็นร้อยละ 30 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดแต้มต่อด้านราคา เพื่อให้ SME ที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดร้อยละ 10 สามารถเป็นผู้ชนะการแข่งขันได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้เตรียมนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ขณะที่การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ คณะทำงานฯ ทั้งผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการส่งเสริม SME ให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ควรมีการดำเนินการ ประกอบด้วย

1.การขึ้นทะเบียน SME ภายใต้มาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนด ซึ่งนอกจากจะเป็นการยืนยันตัวตนของ SME แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบข้อมูลผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น

2.จัดทำบัญชีรายการสินค้าและบริการ (Product List/ SME Catalog) โดยรวบรวมรายการสินค้า SME ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สามารถเลือกซื้อหรือใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าได้ โดยสินค้านำร่องที่จะอยู่ในบัญชี SME Catalog ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) อุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน 2) เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก 3) ของขวัญ/ของชำร่วย 4) อาหารและเครื่องดื่ม 5) จ้างทำของ/จ้างเหมาบริการ และ 6) โรงแรม/ที่พัก/สถานที่จัดประชุม-อบรม-สัมมนาขนาดเล็ก

นอกจากนี้คณะทำงานยังมีการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมอื่นๆ เช่น กำหนดงานที่มีมูลค่าไม่เกิน 2-5 ล้านบาท ต้องจ้าง SME โดยเฉพาะ ต้องเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ฯลฯ และพิจารณาให้ความช่วยเหลือ SME ไม่ว่าจะเป็นให้คำปรึกษาแนะนำการเขียนข้อเสนอโครงการ การจัดเตรียมเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจของ SME ในเรื่องดังกล่าวให้กับส่วนราชการซึ่งเป็นผู้กำหนดขอบเขตการจ้างงานได้รับรู้ เพื่อผลต่อการพัฒนาปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานให้เอื้อต่อ SME มากขึ้น

ในส่วนของ สสว. ได้เตรียมนำเสนอแนวทางการส่งเสริม SME ให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่ 1) กำหนดโควต้าการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะ SME ในท้องถิ่นและกลุ่ม Micro 2) การให้แต้มต่อด้านราคา 3) กำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม 4) กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง และ 5) กำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า

“สิ่งที่ สสว. จะนำเสนอดังกล่าว ส่วนใหญ่สอดคล้องกับแนวทางของคณะทำงานฯ นอกจากนี้ หากกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานทั้งหมดให้มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ SME เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 130,000 ล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง SME รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ เห็นควรกำหนดเพดานวงเงินไม่เกิน 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงของ WTO

นอกจากนี้ ในด้านการกำหนดโจทย์ล่วงหน้า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา สสว. ได้นำสมาคมการรับช่วงผลิตไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้า และอุตสาหกรรม S-Curve เข้าพบ

พลอากาศเอกศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานให้กับเครื่องบินของกองทัพ ที่มีกองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ และ สสว. เป็นผู้ถือหุ้น เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการที่ SMEs ไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลก จะเข้าเป็นผู้จัดหาสินค้า บริการ และร่วมผลิตชิ้นส่วนให้กับการซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศ และอุตสาหกรรมการบิน โดยทางบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด แจ้งว่าเป็นนโยบายของผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ ที่ต้องการจะเชื่อมโยงให้เกิดการกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้าเพื่อช่วยให้ SMEs ไทยสามารถผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด โดยบริษัทฯ จะช่วย SMEs ไทย ตั้งแต่การเตรียมตัวให้ได้การรับรองมาตรฐาน และในขั้นต่อไป สสว. จะร่วมกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ในการจัดทำ Roadmap ความร่วมมือด้านโจทย์การผลิตสำหรับ SMEs ไทยเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานต่อไป”

อย่างไรก็ดี แนวทางการส่งเสริม SME ในเรื่องต่างๆ ดังกล่าว จะมีการขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจหลัก ทั้งกรมบัญชีกลาง สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในต่อไป

สำหรับคณะทำงานสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สสว.  กรมบัญชีกลาง สภาพัฒน์ฯ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตรสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสภาเกษตรกรแห่งชาติ

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924