ดีพร้อม กางแผนปั้น เอสเอ็มอีพันธุ์แกร่ง รับเทรนด์อุตฯ Next Normal ผนึก “ชไนเดอร์ อีเล็คทริค” เพิ่มศักยภาพภาคการผลิต ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติและดิจิทัลไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในระยะเวลา 10 ปี
นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านความมั่นคงระหว่างประเทศจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุคนี้จึงจำเป็นต้องเติมเต็มศักยภาพให้กับองค์กร ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความเป็นปกติแห่งอนาคต หรือ Next Normal เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ยากต่อการคาดเดาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ให้มีศักยภาพความพร้อมในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลง การส่งเสริมทักษะการบริหารการเงินและการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคการผลิต
มีอะไรใน Food Tech Expo 2022, E-san edition
ดีพร้อม จึงได้เร่งเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนผู้ประกอบการในการยกระดับการผลิตจากการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานประกอบการ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ร่วมกับ บริษัท ชไนเดอร์ อิเลคทริค ประเทศไทย จำกัด (Schneider Electric) ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัลเฉพาะทางของบริษัทที่มีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นจากการสร้างการรับรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการ ผ่านการจัดกิจกรรมสัมมนามุมมองการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและดิจิทัลสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ Now Normal to Next Normal ที่จะช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต มูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ และยกระดับผลิตภาพของสถานประกอบการ โดยในระยะนำร่องมีผู้ประกอบการฯ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน กว่า 100 คน
นายเจตนิพิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อม และ Schneider Electric วางแผนต่อยอดการรับรู้เทคโนโลยีไปสู่การปรับใช้จริง ผ่านการคัดเลือกผู้ประกอบการฯจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมพัฒนาสถานประกอบการ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและดิจิทัลเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อพัฒนานำร่องเป็นโมเดลต้นแบบธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวจริงจังมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและดิจิทัลในภาคการผลิตของผู้ประกอบการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2570 และเพิ่มจำนวนขึ้นสู่ร้อยละ 80 ในปี พ.ศ. 2575