Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ดาว- กสอ. หนุน SMEs สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ปรับธุรกิจด้วย IoT

ดาว ประเทศไทย ร่วมกับ กสอ. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันพลาสติก เปิดตัวโครงการ “ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปี 2562” สนับสนุน SMEs นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในฐานะบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์เปิดเผยว่าโครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืนปี 2562 จะเปิดรับสมัคร SMEs ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วย IoT(Internet of Things) โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและอาหาร ด้วยการนำร่องปรับปรุงกระบวนการผลิตซึ่ง ดาว กสอ. และพันธมิตร จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินและวิเคราะห์เครื่องจักรในโรงงาน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้เครื่องจักรในสายการผลิตรายงานคุณภาพของการทำงานได้อย่างเป็นระบบซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิต ให้คำแนะนำและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพนักงาน เพื่อสร้างและพัฒนาบุคคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานรวมประมาณ 7 เดือน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดทำแนวทางการทำงานและเครื่องมือของแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย

“ดาว ยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามีทั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมจะสนับสนุน ดาวจึงร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ SMEs ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงเครื่องจักร การนำของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน และสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการ Circular Economy” นายฉัตรชัย กล่าว

สำหรับโครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ได้ร่วมกับ กสอ. และพันธมิตรต่าง ๆ ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการ “Big Brothers พี่ช่วยน้อง” ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายสนับสนุน SMEs ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามภายใต้แนวคิดCircular Economy ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจในระดับสากลเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ความยั่งยืนสอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

โดยตลอดการดำเนินงาน 7 ปีที่ผ่านมามีสถานประกอบการ SMEs เข้าร่วมโครงการแล้ว 40 แห่ง ให้การอบรมเพื่อสร้างบุคลากรที่เข้าใจและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการแล้วประมาณ 6,000 คน ส่งผลเชิงบวกให้กับชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมอาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลุกต้นไม้ 150,000 ต้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 144 ล้านบาทต่อปี และช่วยให้ชุมชนโดยรอบมีความเป็นอยู่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่า 922,000 คน

นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน มุ่งเน้นการผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และการผสานเทคโนโลยี System Integration เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายให้ภาคธุรกิจเกิดความตระหนักเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษ และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยแนวคิดนี้จะเน้นให้อุตสาหกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่ง่ายต่อการแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น นอกจากนี้ในด้านกระบวนการผลิต (Production Process) ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้วัตถุดิบในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต เช่น เทคโนโลยี Machine Visualization ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินโครงการ จรวด 3 ขั้น หรือ 3-Stage Rocket Approach ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาให้นำแนวคิดเรื่อง Lean Management for Environment เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินโครงการในระยะที่ 4 นี้ ผมมีความยินดีที่ได้ทราบว่าโครงการมีเป้าหมายในการพัฒนาคู่มืออุตสาหกรรม 4.0 โดยเริ่มนำร่องจากอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร และจะขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ คือการจัดทำแนวทางการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ เรามีความพร้อมที่จะร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันพลาสติก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพให้แก่วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย อันจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นายมนตรี ชำนาญโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบรูณาการร่วมกับการบริหารจัดการแบบลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) เพื่อลดการสูญเปล่าที่เกิดขึ้นจากการกระบวนการผลิตและบริการที่มีความครอบคลุมทั้งการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และความปลอดภัย อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยขับเคลื่อนตามกลไกการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี คือ การเปลี่ยนจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบเดิม (Traditional SMEs) ไปสู่การเป็น Smart Enterprises หรือ Smart SMEs ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้ต่อไป

ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่าสถาบันพลาสติกร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ในปี 2562 ด้วยการนำระบบ IoT (Internet of Things)มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์ sensor โดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อเครื่องจักรระหว่างกันซึ่งจะทำให้สามารถเรียกดูข้อมูลที่ต้องการได้อย่าง Real Time และประมวลผลผ่านระบบ Cloud จะให้ทราบถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตได้ทันที ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกใดก็ได้ คอมพิวเตอร์ notebook tablet หรือ smartphone ที่จะช่วยวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสารสนเทศภายในสถานประกอบการ เป็นแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการพลาสติกให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การช่วยสนับสนุนให้ความรู้และพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ได้ใช้ระบบ IoT(Internet of Things) หรือ ระบบLEAN ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดของเสีย ลดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนงานเป็นอีกเครื่องมือหรือแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จในระบบบริหารจัดการที่ทันสมัย จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการระดับ SME สามารถใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการเพิ่มคุณภาพและจำนวนผลผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ความเข้าใจและการเปลี่ยนรูปแบบกระบวนงานในบางส่วน ผู้ประกอบการอาจจะต้องใช้เวลาและต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924