Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

สอท.เผย ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังกังวลต้นทุนพลังงาน หวั่นกระทบภาคการผลิต-ขนส่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.5 ในเดือนสิงหาคม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการยกเว้นต้นทุนประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามค่าดัชนีฯยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี 

สุดล้ำ!!! ระบบจัดเก็บสินค้าอัจฉริยะ ไม่คุ้มตรงไหน ให้เอาปากกามาวง | StoreMaster

ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงทำให้ภาครัฐยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และยุติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ(ศบค.)ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคในประเทศมีทิศทางดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นรวมถึงมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 มาตรการดูแลราคาพลังงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ขณะที่ภาคการผลิต มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกลฯ วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อคมนาคมและขนส่งสินค้า ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ยุโรป ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อที่มีผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ขณะที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero Covid อย่างต่อเนื่องทำให้ปัญหา Supply Shortage ยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,274 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนกันยายน 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 77.4 สถานการณ์การเมือง ร้อยละ 45.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.8 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 60.3 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 42.5 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 35.8 และสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 34.2 ตามลำดับ 

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งอาจกระทบการส่งออก และเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.มาตรการบรรเทาผลกระทบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ อาทิ การดูแลราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบ

2.มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อาทิ  โครงการพักชำระหนี้กับสถาบันทางการเงินต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม 3. ดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก

4.ออกมาตรการรณรงค์ประหยัดการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม 5.เร่งยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Competitiveness) เช่น การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) การปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตของราชการ การนำระบบ Digital มาใช้ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924