Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กรมโรงงานฯ เผยตัวเลข 25 ปีข้างหน้า ไทยจะมีซากโซลาร์เซลล์กว่าแสนตัน

หากประเมินจากปริมาณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คาดว่าประเทศไทยในอีก 25 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณซากโซลาร์เซลล์รวมกว่า 5 แสนตัน

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มากถึง 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 2,651 เมกะวัตต์ ขณะที่ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยนั้นมากถึง 50,000 เมกะวัตต์

กรมโรงงานฯ เผยตัวเลข 25 ปีข้างหน้า ไทยจะมีซากโซลาร์เซลล์กว่าแสนตัน

ปริมาณความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน จุดประกายให้การพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทยดูมีอนาคตที่สดใส ทว่าในอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นปลายทางของการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ กลับกำลังเผชิญปัญหาการจัดการซากโซลาร์เซลล์ และหลายๆ ฝ่ายกำลังวิตกกังวลไปถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

คาด 25 ปีข้างหน้าประเทศไทยมีซากโซลาร์เซลล์กว่า 5 แสนตัน

ตัวเลขที่น่าสนใจจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งระบุว่า แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี ภายหลังสิ้นอายุการใช้งาน หรือหมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้าแล้ว จะเกิดเป็นซากของเสียขึ้น ซึ่งหากประเมินจากปริมาณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คาดว่าประเทศไทยในอีก 25 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณซากโซลาร์เซลล์รวมกว่า 5 แสนตัน

กรมโรงงานฯ จัดทำแผนแม่บทรับมือซากแผงโซลาร์เซลล์ เตรียมจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล

ปริมาณการใช้งานที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบติดตั้งบนพื้นดินที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์ม’ หรือการติดตั้งบนหลังคาอาคาร ที่เรียกว่า ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ได้ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการจัดการซากโซลาร์เซลล์ โดยมีแนวทางที่มุ่งผลักดันการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาร์เซลล์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า ทั้งยังได้วางแนวทางการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจร

คุณมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อเตรียมรับมือกับซากแผงโซลาร์เซลล์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเพื่อเข้าระบบการจัดการอย่างถูกต้อง โดยเน้นการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ให้มีการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจร รวมถึงเป้าหมายในเรื่องการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์อย่างครบวงจรด้วย

นอกจากนี้ ในแผนแม่บทดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้มีการเสนอให้เอกชนตั้งโรงงานต้นแบบการรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรวบรวม คัดแยกและนำของเสียกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ สร้างปริมาณขยะ 100 ตัน

ทั้งนี้ ขยะจากแผงโซลาเซลล์สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระหว่างการติดตั้ง ที่อาจเกิดความเสียหายเนื่องจากกระทำโดยผู้ที่ไม่ชำนาญการ หรือระหว่างการใช้งานทั้งจากเหตุไม่คาดคิดและการดูแลรักษา สุดท้าย คือ แผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องความสมบูรณ์ของแต่ละชิ้นส่วน ทั้งนี้ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแบบง่ายๆ ราคาไม่สูงมากนัก

หากวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยปริมาณซากขยะที่จะเกิดขึ้นจากโซลาร์เซลล์ประเภทต่างๆ พบว่า ในการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ด้วยเซลล์ชนิดซิลิคอนผลึกจะสร้างปริมาณขยะประมาณ 100 ตัน ขณะที่เซลล์ชนิดฟิล์มบาง จะสร้างปริมาณขยะตั้งแต่ 185 ไปจนถึง 285 ตัน ขึ้นกับประเภทของวัสดุ

เตรียมนำร่อง จับมือโรงงาน จัดการแผงโซลาร์เซลล์อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ปัญหาโซลาร์เซลล์ที่เกิดขึ้น ก็คล้ายกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อม หากกำจัด โดยการเผาก็สูญเสียทั้งพลังงานและงบประมาณ ทั้งยังสร้างสารคาร์บอนไดออกไซด์และไดออกซิน หรือหากจะนำไปฝังกลบก็จะเกิดการแพร่กระจายของโลหะหนัก ทั้งตะกั่วและแคดเมียมตามดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ จนอาจเกิดวิกฤตต่อแหล่งอาหารและน้ำในอนาคตได้ ซึ่งที่ผ่านมาจุดอ่อนของประเทศไทย คือ ยังไม่มีหน่วยงานหลักที่จะรับผิดชอบจัดการซากโซลาร์เซลล์อย่างครบวงจร ไม่มีฐานข้อมูลที่ง่ายต่อการติดตามและบริหารจัดการของเสีย และไม่มีเทคโนโลยีรีไซเคิลที่พัฒนาขึ้นในประเทศ

อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้กรมโรงงานฯ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง โรงงานที่มีความพร้อมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโรงงานนำร่องในการจัดการแผงโซลาร์เซลล์อย่างเป็นระบบ

เปิดกรณีศึกษาจากเยอรมนี กับหลักการผู้ก่อขยะเป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ ประเทศเยอรมนีที่ดำเนินการจัดการปัญหาซากโซลาร์เซลล์ด้วยหลักการจัดการที่ให้ผู้ก่อขยะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายต้องมีหน้าที่เรียกคืนและรวบรวมนำเอาอุปกรณ์เหล่านี้กลับมาดำเนินการแยกชิ้นส่วน รีไซเคิล หรือส่งต่อไปยังแห่งอื่นๆ จึงส่งผลให้ภาคเอกชนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงมีการรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรอิสระเพื่อบริหารจัดการ โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้มีการรวมไปในราคาของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้น จึงเท่ากับว่าผู้บริโภคจึงมีส่วนในการรับผิดชอบเช่นกัน

EXECUTIVE SUMMARY

Department of Industrial Works expects that Thailand in the next 25 years from now shall accumulate solar cell remains over 500,000 tons. Therefore, the model scheme has been made in order to completely manipulate solar cell remains as well as set the goal to totally recycle those solar cells. In addition, Department of Industrial Works may propose to private sector to establish the model factory for solar cell recycling in order to enhance competency for collecting, sorting out, and reusing all wastes with efficiency, and causing no environmental impact.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924