Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

จะไป Thailand 4.0 ได้ ต้องเตรียมคน

เราคนไทยหลายๆ คนดูการพัฒนาประเทศแล้วเป็นปลื้ม แต่ก็อดหงุดหงิดไม่ได้ว่าทำไมเราต้องซื้อเขาอยู่ร่ำไป ว่ากันแรงๆ ก็คือ ‘ซื้อตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ’ เราไม่มีศักยภาพเลยหรือ? หรือว่าคนจัดซื้อได้ค่าคอมมิชชั่น? ไม่ต้องโทษกัน สังคมเราอยู่ระหว่างการปฏิรูป เราต้องการความปรองดอง มาช่วยกันมองดีกว่าว่าจะวางรากฐานสังคมอย่างไรให้เราสามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พัฒนาแต่วัตถุไม่พัฒนาคนเราก็เสียโอกาสการเรียนรู้แล้วตกเป็นทาสการซื้อเขาตลอดไป พัฒนาแต่คนไม่พัฒนาวัตถุสังคมเกิดปัญหาสมองไหลหรือรู้มาก ร้อนวิชา สังคมวุ่นวายสำหรับผู้ที่คิดจะครอบงำโดยไร้เหตุผล แต่สมองไหลไปก็อาจไหลกลับได้ หากไม่แช่แข็งการพัฒนาวัตถุให้นานเกินรอจนสมองดีๆ ไปก่อตั้งครอบครัวใหม่ในถิ่นอื่นเสียก่อน ดังนั้น การพัฒนาคนจึงสำคัญ สำหรับการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน พัฒนาคนมีหลายทางแต่ผู้เขียนขอนำเสนอรูปแบบการพัฒนาอาชีวะของเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศผู้จุดประกายการพัฒนา Industry 4.0 ขึ้นมา ทำให้รัฐบาลเรากระตุ้นความคิดเป็น Thailand 4.0 อยู่ในขณะนี้ อ่านแล้วต้องคิดจะยึดติดกับของเดิมไม่ได้ถ้าจะพัฒนา

ใบประกาศนียบัตร (Lehrbrief) ในสมัยก่อน
รูปที่ 1 ใบประกาศนียบัตร (Lehrbrief) ในสมัยก่อน

พัฒนาการอาชีวะเยอรมัน

อนาคตที่มั่นคงของลูกหลานเป็นสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครองทุกคนอยากเห็น อยากให้เขามีฝีมือติดตัว เป็นคนดี มีความสามารถหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ในภายภาคหน้า

ประวัติอาชีวะเยอรมัน

คนเยอรมันสมัยก่อนก็ไม่ต่างจากคนยุโรปทั่วไปที่ หากเป็นไปได้แล้วเขาจะส่งเสริมลูกหลานให้ฝึกฝีมือ อาทิ งานเย็บปักถักทอผ้า ทำครัว ทำขนมปัง ทำสวน ทำนา หาปลา ทำป่าไม้ เป็นช่างทำรองเท้า ช่างตีเหล็ก ฯลฯ โดยในยุคกลาง (Mittelalter) จนถึงยุคเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม เด็กๆ จะถูกส่งไปฝากตัวเป็น Lehrling เพื่อเรียนรู้งานและช่วยงานอยู่ในครอบครัวของผู้ชำนาญการ (Meister) เป็นเสมือนคนหนึ่งในครอบครัว โดยมีระยะทดลองงานประมาณ 2-3 สัปดาห์เสียก่อน เพื่อดูความถนัด จากนั้นผู้เรียนจะต้องจ่ายค่าเรียนและค่าเลี้ยงดูรายปีประมาณ 20-50 Gulden ขณะเดียวกันMeister ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดแก่เด็ก ให้การอบรมสั่งสอนดุจลูกหลานของตน (Recht Zur Vaterlichen Zucht) ซึ่งเยอรมันมีกฎหมาย (Zuechtigungsrecht) ให้สิทธิ Meister ควบคุม Lehrling มาจนต้นศตวรรษที่ 20 ระยะเวลาในการฝึกขึ้นอยู่กับอาชีพ 3-5 ปี และอาจนานกว่านั้นหากไม่มีเงินจ่ายค่าเลี้ยงดู ความสำเร็จในการเรียนรู้ของ Lehrling คือ การได้ส่งงานฝีมือที่เรียกกันว่า ‘Gesellenstueck’ ให้แก่กลุ่มองค์กรช่างฝีมือนั้นๆ ที่รวมตัวกันเป็น Zunft โดยมีกรรมการบริหาร (Zunftrat) เป็นผู้พิจารณา

การจับกลุ่มเป็น Zunft สมัยก่อนไม่ใช่ของง่าย เพราะมักจะถูกมองเป็นกลุ่มการเมืองต่อต้านผู้ครอบครองไป ดังนั้น Zunft ที่เกิดขึ้นจึงเป็น Zunft ทางการ ซึ่งในสมัยโรมันเรียกกันว่า Collegium ที่ผู้ครอบครองใช้เป็นเครื่องมือเรียกเก็บภาษีจากสมาชิกของกลุ่มมาบริหารจัดการ Zunft ที่เก่าแก่ที่สุดของเยอรมันตามหลักฐานที่ค้นพบเป็นหลักฐานจากปี ค.ศ. 1106 คือ Zunft อาชีพประมง (Fischer) ของเมือง Worm

Zunft ส่วนใหญ่ในเยอรมันยุคแรกๆ อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจ อาทิ เจ้าเมือง อำมาตย์ วัดและผู้นำศาสนา การก่อตั้ง Zunft ในบางแห่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิรูป บาง Zunft มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของสมาชิกในกลุ่มวิชาชีพมาก Meister ที่บริหาร Zunft จะคอยควบคุมดูแลการดำเนินการทางวิชาชีพ คุณภาพผลงานไปจนถึงการใช้ชีวิตของสมาชิกยามฉุกเฉินเกิดมีสมาชิกในกลุ่มเสียชีวิตก็จะทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณนำการสวดไปด้วย ถือเป็นจิตวิทยาในการคุมอำนาจในยุคนั้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1550 จักรพรรดิ Karl ที่ 5 ให้กำจัดอิทธิพลของ Zunft ออกไป แต่จากนั้นไม่นานโครงสร้างอำนาจเก่าก็หวนกลับคืนมาอีกและคงอยู่จนสิ้นยุคของการที่เยอรมันเป็นอาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์แห่งโรมัน

ในช่วงปลายยุคกลาง บรรดา Lehrling ที่จบการฝึกและกลายเป็น Geselle แล้วได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคม (‘Gesellenvereinigungen’) ขึ้นในต่ละ Zunft เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของ Meister ในสาขาอาชีพของตน

จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19 เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาด ผลิตให้มากขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการประดิษฐ์ด้วยมือ ประกอบกับอิสรภาพทางความคิดของคนในสังคมที่มากขึ้น หลากหลายขึ้น ผู้คนไม่ยึดติดกับค่านิยมเก่าๆ ทำให้อิทธิพลของ Zunft ในยุโรปเสื่อมลง การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษซึ่งเริ่มก่อนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปต้องปรับตัวต่างกันไป สำหรับเยอรมันซึ่งสมัยนั้นแคว้นปรัสเซียมีอำนาจ ได้ผูกอิสรภาพการประกอบการไว้ในกฎหมายด้วยการออกกฎหมายปกป้องและอนุรักษ์ช่างฝีมือ (Handwerkerschutzgesetz) ขึ้นในปี ค.ศ. 1897 โดยให้จัดตั้งองค์กรเป็นสมาพันธ์ช่างฝีมือ (Handwerkerskammern) ขึ้น ทำหน้าที่ส่งไม้ผลัดทางอาชีพ ควบคุม ดูแลการศึกษาของ Lehrling ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมันก็ปรับตัวในการเตรียมบุคลากรของตนเอง โดยอิงรูปแบบการฝึก Lehrling ให้ตรงกับความต้องการของตนและคงไว้เช่นนี้ตลอดมา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลเยอรมันตะวันตกเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอีกครั้งควบคู่ไปกับการอาชีวศึกษาตามระเบียบการของสมาพันธ์ช่างฝีมือ (Handwerksordnung = HwO) ในปี ค.ศ. 1953 และปรับเป็นกฎหมายการศึกษาอาชีวะ (Berufsbildungsgestz = BBiG) ในปี ค.ศ. 1969

อาชีวะเยอรมันถูกปรับให้เป็นเอกภาพทั้งประเทศ โดยให้เรียนทฤษฎีในสถานศึกษาของรัฐควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติการในสถานประกอบการของเอกชน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘Duale Ausbildungssysteme’ หรือในภาษาไทย คือ ‘การศึกษาแบบทวิภาคี’ และในสังคมเยอรมันได้มีการเปลี่ยนคำว่า Lehrling เป็น Auszubilder สำหรับผู้เรียนอาชีวะ เพื่อให้ดูมีศักดิ์ศรีขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ทั่วไปก็ยังคงเข้าใจกันและยังใช้คำเดิมอยู่บ้างทั้งในออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์

อาชีวศึกษาเยอรมันปัจจุบัน

ประมาณ 60% ของนักเรียนเยอรมันที่ผ่านการเรียนระดับ Lower Secondary Education (Level 2 ของ ISCED) หรือในภาษาเยอรมัน คือ ระดับ Sekundarbereich I ซึ่งใช้เวลาเรียน 10 ปี (ชั้น 10) อันเป็นการสิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับขั้นแรก (บางรัฐบังคับ 9 ปี) แล้ว มักจะตัดสินใจเข้าเรียนต่ออาชีวศึกษา ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเยอรมันมีการวางระบบรองรับการเรียนการฝึกที่ดี เขาให้ความสำคัญกับการดำรงชีพอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคตของประชาชนไว้กับการวางรากฐานทางการศึกษาอาชีวะ

ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันให้การรับรองและจัดระบบการเรียนการสอนอาชีวะไว้ประมาณ 350 อาชีพ ทุกๆ ระยะจะมีการปรับเพิ่ม/ลดสาขาตามความเหมาะสมต่อยุคสมัย นักเรียนส่วนใหญ่จะสมัครเข้าเรียนอาชีวะในระบบ Dual โดยมีกฎหมาย ‘Berufsbildungsgesetz’ เป็นตัวควบคุมสิทธิและหน้าที่ทั้งของผู้เรียนและสถานประกอบการเอาไว้

นอกจากการเรียนอาชีวะในระบบ Dual แล้ว ในเยอรมัน ยังมีโรงเรียนอาชีวะแบบเรียนทฤษฎีและฝึกงานในที่เดียวกัน ซึ่งเรียกว่า ‘Berufsfachschule’ อีกกว่าสองพันแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสาขาอาชีพทางด้านรัฐกิจ เช่น การบริการสังคม การดูแลผู้ป่วย คนชราและเด็กเล็ก แต่ก็มีบางสาขาทางด้านเทคโนโลยี เช่น ผู้ช่วยเทคนิคการแพทย์ ผู้ช่วยเทคโนโลยีสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งผู้เรียนและสถานประกอบการในระบบการศึกษาอาชีวะแบบ Dual ของเยอรมันเมื่อเข้าสู่ระบบจะอยู่ใน 2 สถานะ คือ ผู้เรียนจะอยู่ในสถานะของนักเรียนและผู้ร่วมงานของสถานประกอบการ ในขณะที่สถานประกอบการก็จะอยู่ในสถานะผู้ให้การฝึกสอนและนายจ้าง ผู้เรียนจะต้องทำสัญญารับการฝึก (Ausbildungsvertrag) กับสถานประกอบการ โดยเข้าฝึกอาชีพภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญของสถานประกอบการตามสาขาอาชีพของผู้เรียนและไปเรียนทฤษฎีพื้นฐานในโรงเรียนอาชีวะสัปดาห์ละประมาณ 1-2 วัน สมาพันธ์ (Kammer) ของกลุ่มอาชีพจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลงาน/ผลการสอบเพื่อจบการศึกษา

ปัจจุบันมีการจัดกลุ่มสมาพันธ์วิชาชีพ หลากหลาย อาทิ

  • กลุ่มอุตสาหกรรมและการค้า (Industrie und Handel = IH)
  • กลุ่มงานฝีมือ (Handwerk = Hw)
  • กลุ่มงานเกษตร (Landwirtschaft = Lw)
  • กลุ่มงานรัฐกิจ (Oeffenlicher Dienst = ÖD)
  • กลุ่มอาชีพอิสระ (Freie Berufe = FB)
  • กลุ่มงานบ้าน (Hauswirtschaft = Hausw)
  • กลุ่มเรือเดินสมุทร (Seeschifffahrt = See)
ผังการจัดการศึกษาของเยอรมันในปัจจุบัน
รูปที่ 2 ผังการจัดการศึกษาของเยอรมันในปัจจุบัน

BVJ = Berufsvorbereitungsjahr = โรงเรียนเตรียมอาชีวะ
BGJ = Berufsgrundbildungsjahr = โรงเรียนพื้นฐานอาชีวะ
FOS = Fachoberschule = เตรียมอุดมศึกษาด้านอาชีวะ

กลุ่มสมาพันธ์เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา ระเบียบการสอบ จัดเนื้อหาและกระบวนการจัดการสอบเป็นเอกภาพทั้งประเทศ

เรียนได้เงินเดือน

เมื่อเข้าเรียนอาชีวะเยอรมัน นอกจากนักเรียนจะกลับเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับต่อ (Berufsschulpflicht) แล้วจะได้ค่าตอบแทน (Ausbildungsverguetung) ด้วย

ค่าตอบแทนที่นักเรียนอาชีวะได้รับระหว่างการศึกษามีความสำคัญกับหลายๆ คนที่ต้องการความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง และช่วยผ่อนปรนภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองไปบ้างจำนวนหนึ่ง ค่าตอบแทนที่นักเรียนอาชีวะจะได้รับมากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับชั้นปีการศึกษา สาขาอาชีพ และท้องถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการที่นักเรียนเข้าฝึก ซึ่งทางสหภาพแรงงานทำข้อตกลงกับฝ่ายผู้ว่าจ้างเอาไว้ โดยเฉลี่ยรายได้จะอยู่ประมาณ 1/3 ของอัตราค่าจ้างอาชีพนั้นๆ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเข้าทำงานจริง

ข้อได้เปรียบของระบบ Dual อีกประการหนึ่งสำหรับผู้เรียน คือ เขาได้ก้าวเข้าสู่การฝึกเรียนรู้จักรับผิดชอบในตลาดแรงงานจริง ซึ่งข้อมูลต่างๆ นั้นจะหาไม่ได้จากสถานศึกษาทั่วไป และเขาได้เริ่มนับอายุงานในระบบสวัสดิการเลยคล้ายๆ กับการเข้าเรียนโรงเรียนทหารของไทย ซึ่งส่งผลต่อบำนาญในช่วงชราภาพที่ปกติแล้วเยอรมันจะไม่จ่ายเป็นเงินบำเหน็จให้เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระสังคมตามมาหากใช้บำเหน็จหมดก่อนเสียชีวิต

ตัวอย่างค่าตอบแทนนักเรียนอาชีวะบางสาขาในปี ค.ศ. 2014 (โดยเฉลี่ยเป็นยูโรต่อเดือน จากปี 1 ถึงปีที่ 4 ของการฝึก)

พื้นฐานการเรียนดีมีข้อได้เปรียบ

โดยหลักการแล้วการเข้าเรียนอาชีวะในระบบ Dual ของเยอรมันไม่ได้กำหนดการศึกษาขั้นต่ำเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติจริงของโลกแรงงานนั้นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ที่ดีกว่าย่อมจะได้เปรียบในการเลือกสาขาวิชาในสถานประกอบการที่ตนเองต้องการเข้าฝึก รูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงผังการจัดระบบการศึกษาของเยอรมัน ซึ่งเริ่มคัดแยกเด็กตามศักยภาพ ความสามารถ/วุฒิภาวะตั้งแต่จบชั้นปีที่ 4 แต่การคัดแยกเด็กมิได้เป็นการปิดกั้นหรือตัดสิทธิในการไขว่คว้าหาความรู้ มันเป็นเพียงการจัดระบบเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ไต่ขึ้นไปยังเป้าหมายของการพัฒนาสังคมโดยรวมได้ในทางเดินที่เขาถนัดทุกสายการเรียนสามารถเรียนต่อถึงขั้นสูงสุดได้เช่นเดียวกัน หากมีศักยภาพเพียงพอ แต่อาจใช้เวลาที่นานกว่า เพราะไม่ได้ไต่ขึ้นไปในทางตรง

การศึกษา ระบบอาชีวะศึกษา ของประเทศเยอรมันหลักเกณฑ์การรับสมัครขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ

ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของสถานที่ฝึก เป็นเจ้าของเครื่องมือและเครื่องจักร จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทราบความต้องการจำนวนคนในสาขาต่างๆ ของตน ขณะเดียวกันก็จะมีหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครตามกฎเกณฑ์ของตนเอง บริษัทใหญ่ๆ มักจะทำการทดสอบผู้สมัครก่อนตัดสินใจรับ ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กมักจะพิจารณาจากบุคลิกภาพของผู้สมัคร แต่โดยรวมอาจกล่าวได้ว่า พื้นความรู้ดี คะแนนการเรียนดีจะได้เปรียบคนอื่น

กว่า 50% ของจำนวนนักเรียนอาชีวะสายธุรการธนาคารการประกัน การให้คำแนะนำด้านภาษีอากร และสายเทคโนโลยีบางสาขา อาทิ ด้าน IT มีพื้นความรู้ระดับมัธยมปลายและเตรียมวิศวฯ มาก่อน หลายคนเรียนมัธยมปลายสายตรงและเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วล้มเหลว ต้องกลับมาเริ่มเรียนอาชีวะ เพื่อให้ได้มีอาชีพติดตัวในการดำรงชีพอยู่ในสังคม โดยไม่กลายเป็นคนงานไร้ฝีมือไป ตารางที่ 1 เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบระยะเวลาการเรียนและรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนของนักเรียนอาชีวะเยอรมันในระบบ Dual บางสาขาในซีกตะวันตกและตะวันออกของประเทศเยอรมัน

มีอะไรในสัญญา?

เมื่อสถานประกอบการตกลงรับนักเรียนอาชีวะเข้าฝึกงานทั้งสองฝ่ายจะต้องทำสัญญาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีต่อกัน ดังนี้

ระยะเวลาทำงาน

สัญญาจะระบุวันเวลาที่ต้องเข้าทำงานของนักเรียนอาชีวะ โดยคำนึงถึงกฎหมายการใช้แรงงานเด็ก (Jungendarbeitsschutzgesetz) กรณีที่นักเรียนยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า18 ปี) ให้ทำงานได้ไม่เกิน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยในวันเสาร์อนุญาตให้เฉพาะบางสาขาอาชีพ ห้ามไม่ให้ใช้งานเยาวชนเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี ห้ามใช้งานก่อน 6.00 น. หรือหลัง 20.00 น. ส่วนเยาวชนที่อายุเกิน 16 ปี ห้ามใช้งานเกิน 23.00 น. (กรณีเข้างานตามกะ)

ระยะเวลาทดลองงาน

ทั้งคู่สัญญาสามารถยกเลิกสัญญาที่มีต่อกันได้ในช่วงทดลองงาน ซึ่งอาจอยู่ระหว่าง 2-4 เดือน ช่วงเวลาทดลองงาน
มีขึ้นเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทดสอบความเหมาะสมซึ่งกันและกัน

ค่าตอบแทน

นักเรียนอาชีวะจะได้ค่าตอบแทนในการทำงานเป็นรายเดือนและได้เพิ่มขึ้นตามชั้นปี ซึ่งอาจระบุวันจ่ายเป็นปลายเดือนหรือกลางเดือนได้

หน้าที่ของผู้ประกอบการและนักเรียนอาชีวะ

ผู้ประกอบการให้สัญญาการฝึกนักเรียนอาชีวะที่รับเข้ามาให้ได้ความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพตรงต่อสาขาอาชีพของผู้เรียน ซึ่งจะมีรายละเอียดลึกลงไปถึงกระบวนการ โดยให้โอกาสผู้เรียนได้หาความชำนาญในวิชาชีพของตน มีวัสดุอุปกรณ์ อาทิ ชุดปฏิบัติการ/ชุดป้องกันให้ตามระเบียบกำหนด

ผู้ประกอบการสัญญาให้นักเรียนอาชีวะได้เข้าเรียนทฤษฎีในโรงเรียนอาชีวะ พร้อมทั้งให้อิสระในการไปสอบได้ เมื่อจบ การฝึกแล้วผู้ประกอบการให้สัญญาที่จะออกใบประกาศพร้อมรายละเอียดการฝึกให้

นักเรียนอาชีวะให้สัญญาจะปฏิบัติงานในวิชาชีพอย่างสุจริต ด้วยความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด เต็มความสามารถและจะเข้าเรียนภาคทฤษฎีพร้อมทั้งเข้าสอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษา หากเกิดการเจ็บป่วยต้องรีบแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบโดยด่วน

สถานที่ปฏิบัติงาน

ในสัญญาอาจระบุสถานที่ฝึกปฏิบัติงานประจำ กรณีที่เป็นงานซึ่งมีการย้ายสถานที่ฝึกในบริษัทเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องระบุสถานที่ฝึกให้ชัดเจน

การพักผ่อน

ในสัญญาจะระบุระยะเวลาการพักผ่อนประจำปีของนักเรียนอาชีวะ โดยขึ้นอยู่กับอายุผู้เรียน กรณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานเด็ก ส่วนเยาวชนอายุเกิน 18 ปี ให้เป็นไปตามกฎหมายการลาพักผ่อนของคนทำงานทั่วไป โดยปกติจะจัดให้ตรงกับการปิดภาคการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนพลาดโอกาสการเรียนการสอน

หลักสูตร

ประเทศเยอรมันประกอบขึ้นด้วย 16 รัฐ โดยแต่ละรัฐมีคณะรัฐมนตรีย่อยของตนเองและมีเอกสิทธิ์ทางภาษา ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา (Kulturhoheit) ของตนเองเช่นกัน การจะทำให้อาชีวะศึกษาของทั้งประเทศเป็นเอกภาพได้ จำต้องมีการประชุมปรึกษาหารือ ทำข้อตกลงแล้วออกระเบียบปฏิบัติให้ทุกฝ่ายเดินไปในทางเดียวกันได้ ในเรื่องของหลักสูตรอาชีวะทั้ง 350 สาขาอาชีพก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการศึกษาของแต่ละรัฐที่จะจัดประชุมร่วม KMK (Kultusministerkonferenz) แล้วสรุปร่างกรอบหลักสูตร (Rahmenlehrplan) ทุกสาขาอาชีพออกมา นอกจากกรอบหลักสูตรแล้ว การศึกษาอาชีวะเยอรมันยังอยู่ภายใต้กรอบการฝึก (Ausbildungsrahmenplan) ตามกฎหมายการศึกษาอาชีวะ BBiG (Berufsbildungsgesetz) ซึ่งกำหนดเป็นแนวทางกว้างๆ ไว้ให้การฝึกปฏิบัติสอดคล้องตามเป้าหมายการเตรียมบุคลากรในแต่ละอาชีพด้วย

หลักสูตรอาชีวะเยอรมันแต่ละสาขาอาชีพใช้ระยะเวลาเรียนไม่เท่ากัน บางอาชีพใช้เวลาเรียนสองปีจบ และบางอาชีพต้องเรียนถึงสามปีครึ่ง โดยทุกสาขาอาชีพมีเวลาเรียนภาคทฤษฎีแต่ละสัปดาห์ประมาณ 8-12 ชั่วโมง หรือ 1-2 วัน ซึ่งทางโรงเรียนอาชีวะจะแบ่งทฤษฎีออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ส่วนแรกเป็นวิชาทั่วไป อาทิ ภาษา สังคม กีฬาและบางแห่งมีหน้าที่ศีลธรรมด้วย ใช้เวลาเรียน 1/3 ของเวลาเรียนภาคทฤษฎีทั้งหมด
  • ส่วนที่สองอีก 2/3 ส่วนเป็นทฤษฎีที่จำเป็นเฉพาะสาขาอาชีพสอดคล้องกับการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ

การจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีอาจตกลงกันจัดสอนเป็นคาบหลายสัปดาห์ติดต่อกันแทนการเรียนสัปดาห์ละ 2 วันได้ และสถานประกอบการบางแห่งมีการสอนทฤษฎีเสริมให้อีกต่างหากได้เช่นกัน

การสอบ

ในการเรียนการสอนตามปกติผู้สอนจะจัดให้มีการประเมินผลจากการสอบหรือทดสอบอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญสำหรับอาชีวศึกษาในเยอรมัน คือ ระเบียบปฏิบัติอาชีวศึกษา (Ausbildungsordnung) แนะนำให้มีการจัดสอบ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกช่วงประมาณกลางหลักสูตรการศึกษาซึ่งเรียกกันว่า ‘Zwischenpruefung’ และครั้งที่สองเพื่อจบการศึกษาเรียกกันว่า ‘Abschlusspruefung และ/หรือ Gestreckte Abschlusspruefung’ โดยสมาพันธ์วิชาชีพ อาทิ Handwerkerskammern และ Industrie-und Handels Kammern จะเป็นผู้ดำเนินการและคณะกรรมการสอบแต่ละอาชีพของสมาพันธ์จะเป็นผู้รับรองผลการสอบ โดยจะเป็นการสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

การสมัครสอบเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งสถานประกอบการหรือนักเรียนจะเป็นผู้ยื่นก็ได้ โดยอย่างน้อยจะต้องมีเอกสารประกอบ ดังนี้

  • สำเนาสัญญาการเป็นนักเรียนอาชีวะของสถานประกอบการนั้นๆ
  • สำเนาใบรับรอง/ประกาศนียบัตรล่าสุดจากโรงเรียนอาชีวะ ใบรับรองการฝึกวิชาชีพ และ/หรือสมุดบันทึกการฝึกปฏิบัติการ
  • ใบรับรองการเข้าอบรมตามมาตรการต่างๆ ทั้งผ่านและไม่ผ่านสถานประกอบการ สถานประกอบการมีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมของนักเรียนอาชีวะในสังกัดของตนให้ได้เข้าสู่การสอบ

การฝึกงาน ระบบอาชีวะศึกษา ประเทศเยอรมัน

สอบได้

หากการสอบผ่านไปด้วยดี ข้อสัญญาที่ทำต่อกันเป็นอันสิ้นสุด คู่สัญญาเป็นอิสระต่อกัน ผู้เรียนมีสิทธิไปเริ่มงานใหม่กับบริษัทใดก็ได้ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องรับไว้ทำงานหรือหากจะรับไว้ทำงานต่อก็ทำสัญญาตามกฎหมายแรงงานกันใหม่

สอบตก

หากนักเรียนสอบไม่ผ่าน ข้อตกลงตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน แต่นักเรียนมีสิทธิ์ที่จะขอต่อสัญญาฝ่ายเดียวได้จนถึงกำหนดการสอบครั้งใหม่แต่ต้องไม่นานกว่า 1 ปี และหากสอบแก้ตัวครั้งแรกตกอีก กฎหมายระบุให้ฝึกต่อได้จนถึงการสอบแก้ตัวครั้งที่สองแต่ต้องไม่เกิน 1 ปี จากการสอบตกครั้งแรก

หลายประเทศมีการนำเอาอาชีวศึกษาเยอรมันระบบ Dual ไปใช้ ซึ่งต้องลงรายละเอียดมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกมากพอสมควร หลายประเทศประสบความสำเร็จและบางประเทศทำไม่ได้เพราะความไม่พร้อม ในความเห็นของผู้เขียนซึ่งจบจากโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น รุ่นที่ 2 มาก่อนเดินทางไปฝึกร่วมกับ Lehrling เยอรมัน และเรียนปรับพื้นเตรียมวิศวฯ ก่อนต่อวิศวฯ ทำงานเป็นวิศวกรในเยอรมันก่อนเข้าเรียนต่อ Technical University of Berlin และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนืออีก 22 ปี ก่อนจะอำลาชีวิตราชการได้ผ่านและเห็นอาชีวะมาพอสมควร จึงขอเสนอแนะว่า ถ้าไทยจะไป 4.0 โดยไม่เป็นเพียงผู้ซื้อมาใช้อย่างเดียว รัฐควรวางมาตรการเอื้อให้มีการเรียนการสอนอาชีวะอย่างมืออาชีพเอาไว้ จะใช้ระบบ Dual ของเยอรมันทั้งหมดทุกแห่งอาจไม่พร้อม ควรวางมาตรการให้เริ่มได้ในจุดที่พร้อมก่อน ส่วนที่ไม่พร้อมควรหันไปใช้แบบ Berufsfachschule แทน ซึ่งรัฐจะต้องใช้งบประมาณมาก เพื่อให้นักเรียนอาชีวะได้ฝึกงานจริงขึ้นมา แต่ก็อาจหาทางลดต้นทุนการผลิตบุคลากรได้ เช่น ในสายเครื่องกล ส่วนกลางอาจออกแบบมาตรฐานชิ้นส่วนเครื่องจักรกลพื้นฐานให้นักเรียนได้ฝึกผลิต ให้อาจารย์สอนตามขั้นตอนและตรวจควบคุมคุณภาพแล้วแยกเกรด ส่งแผนกช่างประกอบ เพื่อฝึกประกอบเป็นเครื่องจักรกลพื้นฐานส่งแผนกการค้า เพื่อจัดจำหน่ายแล้วนำรายได้กลับมาเป็นงบประมาณหมุนเวียนใช้ฝึกต่อ อย่ามองการค้าตรงนี้ว่าต้องมีกำไรเสมอไป มันเป็นการช่วยลดรายจ่ายในการฝึกเยาวชน ‘ขาดทุนคือกำไร’ กำไรที่แท้จริง คือ อยู่ที่การได้ฝึกเยาวชนให้ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ… สวัสดี

EXECUTIVE SUMMARY

Human resources development is an essential issue in order to create sustainable social. To develop human resources, there are many methods to choose with clearly example, for example, vocational development as German which inspired the idea of Industry 4.0 and caused Thai government to established Thailand 4.0.

Many countries has been brought ‘dual’ vocational education system as Germany to use. In order to adapt this idea, the in-depth detail of related law are needed. Many countries succeed while some countries failed because of unprepared. If Thailand want to move forward to 4.0 with not only technology buyer status, I recommended that the government should prepare the measure to educate the vocational student as professional first. The dual system like Germany may not suite with every vocational school, it should be prepared to the school that readied first. For the school that isn’t ready, use the Berufsfochschule method instead. The government must put more budget in order to provide more opportunities for vocational student’s training, for example, machinery sector, the central knowledge department should provide the standard design for basic machinery for the student to practice and learn. The instructure must teach as procedure and qualified the outcome, then send the result to assembly sector to practice and assembly the basic machinery, and send to the commercial sector for sell and bring the budget back to circulate the next generation practice cost. Don’t focus on the profit, this activity just reduce the cost for training the student ‘lose the cost for making other profit’. The true profit is the youth’s training as professional. To create quality human resources, the government should focus on the quality of education as the first priority. The problem isn’t only education but also the system that cause the brain drain phenomenon. Thailand 4.0 sustainability should be integrated the education standard improvement, work space environment and a good payment in order to maintain quality human resources to stay within Thailand economics. The vision must be covered in every aspect through the integration method.


Source:

  • Christian Ebner, Alexandra Uhly 27.5.2016:
    “Entstehung und Merkmale des dualen Ausbildungssystems”
  • Norbert Wollschlager, Eric Fries Guggenheim:
    “Zur Geschichte der beryflichen Bildung in Europa”
    Eropaische Zeitschrift Nr.32 Mai-Aug. 2004/4
  • Bundesagentur fur Arbeit:
    “Ausbildung in Deutschland-Geh’ Dein Weg! ” Mai 2013
    BW Bildung und Wissen Verlag und Software GmbH, Nurnberg.
    www.bwverlag.de
  • Prof.Dr.Dieter Euler:
    “Das duale System in Deutschland-Vorbild fur einen Tranfer ins
    Ausland?” Bertelsmann Stiftung.
  • Ausbildung & Beruf, Bundesinstitut f. Berufsbildung: “Rechte u. Pflichten wahrend der
    Berufsausbildung” Bundesministerium f. Bildung u. Forschung 2014
  • www.wikipedia.de:
    “Dual Ausbildung”
    “Ausbidungsordnung”
    “Rahmenlehrplan”
    “Ausbildungsrahmenplan”
    “Gesellenprufung”
    “Zwischenprufung (Berufsausbildung)”
    “Abschlussprufung (Berufsausbildung)”
    “Gestreckte Gesellenprufung”
    “Berufsfachschule (Deutshland)
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924