Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

งานวิจัยดีเด่น จากหิ้ง… สู่ห้าง

สกว. จับมือ สกอ. จัดงาน ‘นักวิจัยรุ่นใหม่… พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว.’ ครั้งที่ 17 มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 10 นักวิจัยจาก 7 สถาบัน ที่มีผลงานวิจัยดีเยี่ยม ทั้งคุณภาพของงานวิจัย ตลอดจนผลกระทบต่อแวดวงวิชาการ เศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่น่าจับตามองที่อาจจะเข้ามาเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ได้แก่

การออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมด้วยวิธีเมต้าฮิวริสติกส์ ผลงานการวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ บุรีรัตน์ วุฒิเมธีวิจัย สกว. สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytic Research Excellence Awards โดยนักวิจัยได้พัฒนาองค์ความรู้และกระบวนการออกแบบโครงถักที่สามารถออกแบบทั้งสามขั้นตอน ทั้งโครงร่าง รูปทรงและขนาดได้พร้อมกันในครั้งเดียวด้วยวิธีเมต้าฮิวริสติกส์ ซึ่งได้ต่อยอดนำไปใช้ออกแบบระบบทางวิศวกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น การออกแบบกระบวนการขึ้นรูปโลหะ การออกแบบโครงข่ายท่อประปา การสังเคราะห์กลไก และการออกแบบอากาศยานไร้คนขับ

เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิดตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด ผลงานของ ผศ.ดร. มนตรี สว่างพฤกษ์ เมธีวิจัย สกว. สังกัดสำนักวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับรางวัล 2017 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award สาขา Physical Sciences ผลงานวิจัยนี้สามารถใช้งานได้จริงกับหลอดแอลอีดีและมอเตอร์พัดลมขนาดเล็ก และในอนาคตจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป รวมถึงโอกาสของการประยุกต์ใช้งานตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวดในรถโดยสารสาธารณะ หรือยานยนต์ไฟฟ้า

นาโนก๊าซเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อม ผลงานของ ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข นักวิจัย สกว. จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัล 2018TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awardสาขา Physical Sciences นักวิจัยได้พัฒนาออกมาในรูปแบบของนาฬิกาเตือนภัยก๊าซพิษ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีจอเปล่งแสง รวมกับวัสดุโพลิเมอร์นำไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองต่อก๊าซได้ดี นำมาทำเป็นอุปกรณ์ก๊าซเซนเซอร์ โดยหากมีก๊าซพิษอันตรายหรือกลิ่นที่ต้องการตรวจจับมาเกาะยังอุปกรณ์ นาฬิกาจะส่งเสียงเตือน และจะหยุดส่งเสียงแจ้งเตือนเมื่อความเข้มข้นของก๊าซลดลง

การจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ผลงานของ ผศ.ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ นักวิจัย สกว. จากคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Award สาขา Humanities & Social Science นักวิจัยได้เสนอวิธีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม โดยพบว่ามีความเป็นไปได้ในการจ้างงานพนักงานหลังวัยเกษียณในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีรูปแบบที่ต่างไปจากการจ้างวัยแรงงานอยู่บ้าง เช่น ต้องกำหนดลักษณะงานและประเภทงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การกำหนดระยะเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น รวมถึงการทำสัญญาการจ้างงานระยะสั้นๆ เป็นต้น แต่การจ้างงานผู้สูงอายุจะช่วยให้สถานประกอบการมีการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จจากพลังของผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม สกว. และ สกอ. ได้สนับสนุนรางวัลร่วมกับสำนักพิมพ์ Elsevier และบริษัท Clarivate Analytics นี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานของนวัตกรรมในอนาคต รวมถึงการสร้างการยอมรับต่อผลงานวิจัยของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อตอบสนองนโยบายยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัย และการสร้างฐานความรู้เพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924