Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

คุยเฟื่องเรื่อง 3D Printer สำหรับงานพลาสติกกับ Benjamin Tan แห่ง Ultimaker

ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์วัตถุ 3 มิติ หรือเรียกกันอย่างจริงจังว่า Additive Manufacturing (การผลิตโดยการเติมเนื้อวัสดุ) นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สามารถใช้ได้กับกิจการหลากหลายตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงการศึกษาหรือการใช้งานในบ้าน ด้วยช่วงราคาที่กว้างตั้งแต่หลักพันกลาง ๆ ไปจนถึงหลักแสนหลักล้าน ใช้ได้ทั้งงานวัสดุพลาสติกไปจนถึงโลหะ ซึ่งวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ Benjamin Tan รองประธานฝ่ายขายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Ultimaker ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติชื่อดังที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

คุณ Benjamin Tan ได้ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า Ultimaker นั้นให้ความสำคัญกับ FFF (Fused Filament Fabrication) หรือถ้าเอาให้ง่ายเข้าว่าก็ คือ การผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ความร้อนที่หัวฉีดละลายหรือวัสดุจำพวกพลาสติกนั่นเอง โดยผู้ผลิตและผู้พัฒนาจำนวนมากมีการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติในงานของตัวเอง อาทิ ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำอย่าง BMW หรือแม้แต่ IKEA เองก็ตาม ซึ่งคุณ Benjamin Tan กล่าวถึงจุดเด่นของ Ultimaker ว่า

“สิ่งที่ทำให้ Ultimaker นั้นแตกต่างจากแบรนด์อื่น คือ เครื่องพิมพ์ของเรามีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ และมีระบบที่เสถียร”

อะไรที่ถือเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติกลุ่มพลาสติกในตอนนี้?

ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับเทคโนโยีการพิมพ์ 3 มิติมากมาย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับกลุ่ม FFF คือ การพัฒนาและเติบโตขึ้นของวัตถุดิบสำหรับการผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณสมบัติหลากหลายมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนอาจมีพลาสติกสำหรับการขึ้นรูป 3 มิติเพียง 20 – 30 ชนิด แต่ด้วยความร่วมมือกับผู้ผลิตวัตถุดิบทำให้มีพลาสติกมากถึง 70,000 รูปแบบ ทำให้มีตัวเลือกที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

คุณอาจเคยได้ยินเรื่องที่น่าประทับใจเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติโลหะซึ่งโอเคล่ะ มันไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ มันมีมาสักพักแล้วแต่ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่หรือปัญหาจากการผลิตจากแม่พิพ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงทำให้เครื่องพิมพ์แบบโลหะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

แต่ถ้าเรามานั่งดูกันจริง ๆ ในข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ออกมาแล้วจะพบว่าในโลกของการพิมพ์ 3 มิตินั้นกว่า 70% ของการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติในยุคปัจจุบันยังคงเป็นวัตถุดิบกลุ่ม FFF ในขณะที่การใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติวัสดุโลหะอยู่ที่เพียง 5% ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังมีขนาดเล็กอยู่แต่มันจะโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจใช้เวลา 5 – 10 ปีเนื่องจากผู้คนยังคงสงสัยในความสมบูรณ์ของชิ้นงานที่ผลิต ไม่ว่าจะความแข็งแรง อายุการใช้งาน หรือคุณสมบัติต่าง ๆ  ซึ่งคุณ Benjamin Tan คิดว่า Bio Printing มีแนวโน้มความนิยมดีกว่าอยู่นิดหน่อยนะ เพราะ Bio Printing เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับมนุษยชาติในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอวัยวะเทียมต่าง ๆ ที่สามารถใช่งานได้จริงเป็นต้น

เป็นไปได้ไหมถ้าอยากผลิตชิ้นงาน 3 มิติแบบ Mass Production?

เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นมีข้อจำกัดอยู่ในระดับหนึ่งสำหรับการทำงาน เช่น วัตถุดิบหรือสภาพแวดล้อม วัตถุดิบต่างชนิดกันย่อมมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันด้วย เช่น จุดหลอมเหลว น้ำหนัก หรือความสามารถในการต้านทานอื่น ๆ เอาแค่จุดหลอมเหลวที่ต่างกันระหว่าง PLA และคาร์บอนไฟเบอร์ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแผนการผลิตได้แล้ว หากต้องการใช้ในการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ที่มีการออกแบบเดียวกันแต่เปลี่ยนวัสดุแนะนำให้ใช้การฉีดขึ้นรูปผ่านแม่พิมพ์ทั่วไปจะดีกว่า แต่ถ้าหากเป็นการผลิตที่สามารถปรับแต่งได้มาก (Mass Customizatoin) ที่ผลิตในจำนวนน้อยแต่มีการปรับแต่งหรือมีรายละเอียดจำนวนมาก เช่น กรอบมือถือที่แต่ละยี่ห้อมีรูปทรงต่างกัน หรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่ขาดตลาดไปแล้วคุณสามารถเลือกที่จะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการผลิตขึ้นมาทดแทนหรือต้องติดต่อไปยังบริษัทแม่ที่ต่างประเทศซึ่งอาจจะยกเลิกการผลิตไปแล้วก็ได้ จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นอยู่ในตลาด Niche ที่การใช้งานและความต้องการแตกต่างหลากหลายกันออกไป ถ้าว่ากันง่าย ๆ คือ ไม่เหมาะกับการผลิตจำนวนมากเชิงอุตสาหกรรมแต่เหมาะกับการผลิตชิ้นส่วนที่มีรายละเอียดสูงมากในปริมาณระดับหนึ่งเท่านั้น

3d robot from ultimaker

ทิศทางของการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติในปัจจุบัน

การเติบโตของเครื่องพิมพ์ 3 มิติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีการเติบโตที่น่าตื่นตาตื่นใจ เอาแค่เฉพาะของ Ultimaker จะพบว่ามีการเติบโตสูงถึง 30% ต่อปีในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เข้าถึงในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นการศึกษา อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยานในจีนและอินโดนีเซีย ออสเตรเลียก็มีการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติจำนวนมากเช่นกัน อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ขาดไม่ได้ คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ FFF เพราะสามารถใช้ในบ้านได้ มีราคาที่ถูกมากซึ่งมาพร้อมกับข้อจำกัดบางอย่าง แต่ถ้าอยากใช้ในงานอุตสาหกรรมก็ยังมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติคุณภาพสูงให้เลือกใช้ได้จำนวนมากอีกด้วย

ก้าวต่อไปของเครื่องพิมพ์ 3 มิติจะเป็นอย่างไร

ขั้นตอนต่อไปของเทคโนโลยีสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับตลาดผู้บริโภคคงแตกต่างจากเครื่องพิมพ์ 2 มิติหรือเครื่องพิมพ์กระดาษที่มีใช้กันทุกบ้านได้ แต่สำหรับกิจการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในด้านการผลิตชิ้นส่วนต้นแบบจะมีการเพิ่มจำนวนสำหรับโรงงานอย่างทั่วถึง ยกตัวอย่างผู้ผลิต EV มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติประจำสถานีหรือโรงงานทุกที่ ในขณะที่หากพูดถึงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอาจจะพบว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติหนึ่งเครื่องอาจต้องใช้ทั้งแผนกหรือทั้งองค์กรก็เป็นได้ ดังนั้นเทรนด์การใช้งานจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นตัวดึงดูดให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต

แล้วคุณ Benjamin Tan สนใจอะไรสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติเอง

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ตอนนี้ คือ วัสดุ Polymer-Metal ที่มันน่าสนใจเพราะแนวคิดที่มีต่อการเติบโตของวัสดุเป็นพื้นฐาน ทำให้อยากรู้ว่าวัตถุดิบว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถ้าใช้เครื่องที่เสถียรมีคุณภาพจะทำงานได้อย่างดี ถ้าใช้เครื่องที่ไม่ได้คุณภาพคุณอาจจะตื่นตอนเช้ามาแล้วชิ้นส่วนเสียหรือชิ้นงานผิดพลาด

ในส่วนของเทรนด์ที่น่าสนใจสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติในตอนนี้ ต้องบอกเลยว่าการใช้งานสำหรับผู้ทุพพลภาพในการเพื่อผลิตอวัยวะเทียมสำหรับภายนอกเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก นอกจากสามารถสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้นได้แล้วยังสามารถส่งเสริมความภูมิใจผ่านการออกแบบของอวัยวะเทียมได้อีกด้วย เช่น การออกแบบแขนและมือจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นฮีโร่อย่างไอรอนแมนเป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับโอกาสในการพูดคุยและนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ บริษัท เซปทิลเลียน จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ 3 มิติของ Ultimaker อย่างเป็นทางการครับ

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924